คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1834/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 3 เมื่อสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีขาดอายุความ อย่างไรก็ตามในมูลหนี้ดังกล่าวลูกหนี้ที่ 3 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ และ ป. เจ้าหนี้อื่นในคดีแพ่งได้นำยึดทรัพย์จำนองดังกล่าวไว้แล้ว ต่อมาเจ้าหนี้ในคดีนี้จึงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ในคดีแพ่งดังกล่าว และศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ในจำนวนเท่ากับสิทธิของเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่มีการบังคับคดีแล้วย่อมได้รับการคุ้มครอง โดยมีสิทธิได้รับชำระหนี้ภายในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ส่วนหากว่าขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดอายุความจึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในส่วนที่ขาดจากการบังคับจำนองอันเป็นหนี้สามัญด้วยแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสามเด็ดขาดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2548
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเจ้าหนี้รายที่ 2 ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งธนบุรี คดีหมายเลขแดงที่ 5843/2541 ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็น คดีหมายเลขแดงที่ 2583/2542 จำนวนเงิน 9,197,333.87 บาท และหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำนวน 5,439,302.52 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 7531 ตำบลคลองควาย อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และที่ดินโฉนดเลขที่ 116936 แขวงบางอ้อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีความเห็นว่า ในมูลหนี้อันดับที่หนึ่ง ลูกหนี้ทั้งสามเป็นหนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ 2583/2542 หนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและยังไม่ขาดอายุความ จึงไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ ส่วนมูลหนี้อันดับที่สอง ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่ 3 เมื่อลูกหนี้ที่ 3 ผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้บอกกล่าวด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์เพื่อให้ลูกหนี้ที่ 3 ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองภายในวันที่ 14 เมษายน 2538 แต่ลูกหนี้ที่ 3 เพิกเฉย เจ้าหนี้จึงต้องใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวภายใน 10 ปี นับจากวันดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 แต่เจ้าหนี้นำมูลหนี้ดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 30 กันยายน 2548 เมื่อพ้นกำหนด 10 ปี หนี้ดังกล่าวจึงขาดอายุความต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 94 (1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ส่วนบุริมสิทธิในทางจำนองเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 116936 แขวงบางอ้อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง นั้น หากเจ้าหนี้ยังคงมีสิทธิจะบังคับเอากับหลักประกันเพียงใดก็ชอบที่จะไปใช้สิทธิของตนในทางแพ่งต่อไป จึงเห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่หนึ่ง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ 2583/2542 ดังนี้ ให้ได้รับชำระหนี้ในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้ขายลดตั๋วเงินกับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเป็นเงิน 7,645,318.10 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 7531 ตำบลคลองควาย อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ก่อนเจ้าหนี้อื่น หากได้เงินไม่พอให้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม และให้ได้รับชำระหนี้ในตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเงิน 1,552,384.74 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130 (7) โดยมีเงื่อนไขว่าหากได้รับชำระหนี้จากนายสมทรง จำเลยร่วมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ 2583/2542 และหรือได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 7531 ตำบลคลองควาย อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนของนายสมทรงแล้วเป็นจำนวนเพียงใดก็ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น ส่วนมูลหนี้อันดับที่สองให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (1) หากเจ้าหนี้มีสิทธิบังคับในทางจำนองเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 116936 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเพียงใด ก็ชอบที่จะไปใช้สิทธิของเจ้าหนี้ในทางแพ่งต่อไป
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่สองตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติในชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ว่า ตามข้อตกลงในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและบันทึกต่อท้ายสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างลูกหนี้ที่ 3 กับเจ้าหนี้ฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2536 มีข้อตกลงกำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นสุดของเดือน หากผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้าเป็นต้นเงิน และหากครบกำหนดอายุสัญญาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2537 ให้ต่ออายุสัญญาต่อไปได้อีกโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ภายหลังครบกำหนดอายุสัญญามีการเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา โดยเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ที่ 3 เบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 จำนวน 156,917 บาท และเจ้าหนี้หักทอนบัญชีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 ปรากฏว่าลูกหนี้ที่ 3 เป็นหนี้จำนวน 1,200,166.74 บาท ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวัน จากนั้นคงมีแต่รายการคำนวณดอกเบี้ยเป็นรายเดือน แสดงให้เห็นเจตนาของเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 3 ว่าไม่ประสงค์จะให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดหักทอนบัญชีกันในวันสิ้นเดือนในแต่ละเดือน สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจึงเลิกกันโดยปริยายเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 และสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เกิดขึ้นนับแต่นั้น เมื่อหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2548 สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในมูลหนี้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวจึงขาดอายุความ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า ในมูลหนี้ดังกล่าวลูกหนี้ที่ 3 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 116936 แขวงบางอ้อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวไว้แก่เจ้าหนี้ และนายปิยศักดิ์ เจ้าหนี้อื่นในคดีแพ่งของศาลแพ่งธนบุรี หมายเลขแดงที่ 233/2537 ได้นำยึดทรัพย์จำนองดังกล่าวไว้แล้วเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2537 ต่อมาเจ้าหนี้ในคดีนี้จึงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ในคดีแพ่งดังกล่าว และศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2539 ตามสำเนาคำสั่งศาล เช่นนี้ สิทธิของเจ้าหนี้ในอันที่จะได้รับชำระหนี้ในจำนวนเท่ากับสิทธิของเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่มีการบังคับคดีแล้วย่อมได้รับการคุ้มครอง โดยเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ภายในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 อันเป็นวันถัดจากวันหักทอนบัญชีจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ส่วนหากว่าขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้พ้นกำหนดอายุความตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ ส่วนที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในส่วนที่ขาดจากการบังคับจำนองเนื่องจากการขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิในคดีแพ่งไว้แล้วนั้น เห็นว่า การที่ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งในคดีแพ่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นก็เป็นผลให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิผู้รับจำนอง และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 3 เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้ย่อมนำมูลหนี้บุริมสิทธิดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้ได้ แต่หาได้เกี่ยวพันกับหนี้ส่วนที่ขาดอันเป็นหนี้สามัญด้วยแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ในมูลหนี้อันดับที่สองทั้งสิ้นมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่สองจากการขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันที่ดินโฉนดเลขที่ 116936 แขวงบางอ้อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ก่อนเจ้าหนี้อื่นภายในวงเงิน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 จนถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2548 (วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) แต่รวมแล้วต้องไม่เกินจำนวน 5,439,302.54 บาท ตามที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้มา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share