คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1831/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเก็บหา นำออกไปและทำด้วยประการใด ๆ อันทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และนำอาวุธปืนเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดตามมาตรา 16 (2) (15) แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และมีบทลงโทษตามมาตรา 24, 26 และ 27 โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) บัญญัติว่า ฟ้องต้องมี “อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด” ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเพียงแต่อ้างบทลงโทษตามมาตรา 24, 25 และ 27 โดยไม่ได้อ้างบทความผิดตามมาตรา 16 มาด้วย กรณีเช่นนี้ไม่ถึงกับเป็นเรื่องเกินคำขอเสียทีเดียวหรือเป็นเรื่องที่มิได้กล่าวในฟ้อง และไม่ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ แต่อย่างใด เมื่อข้อหาความผิดหนึ่งต้องมีบทความผิดกับบทลงโทษประกอบเข้าด้วยกัน โดยอาจจะอยู่ในมาตราเดียวกันหรือแยกกันอยู่คนละมาตราก็ได้ การที่โจทก์เพียงอ้างมาตราในกฎหมายที่เป็นบทความผิดหรือบทลงโทษเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นเรื่องโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานความผิดนั้นสมตามฟ้อง ทั้งบทลงโทษที่บัญญัติไว้ก็เชื่อมโยงไปถึงบทความผิด อันเห็นได้ถึงบทมาตราที่ถูกต้องครบถ้วน และการกระทำตามฟ้องเป็นความผิดตามกฎหมายเช่นใด ก็อยู่ในขั้นตอนปรับบทกฎหมายอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่อยู่ในอำนาจของศาล ดังนั้น ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องนี้ได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคห้า
ความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 นั้น นอกจากโจทก์ไม่ได้อ้างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นมาในคำขอท้ายฟ้องแล้ว กรณีปรากฏอีกด้วยว่ากฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ “เลื่อยโซ่ยนต์” หมายความว่า “(1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งานที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว” อันเป็นการกำหนดไว้เฉพาะการมีเลื่อยโซ่ยนต์ที่มีลักษณะเช่นนี้เท่านั้นที่ต้องมีใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ ถ้าไม่มีใบอนุญาตจึงจะมีความผิดตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมีบทลงโทษตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง แต่ฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏเลยว่าเลื่อยโซ่ยนต์คดีนี้มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดไว้ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับความผิดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และ (6) แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพก็รับฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิพากษายกฟ้องความผิดข้อนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 7, 11, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 8, 9, 14, 15, 31, 35 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 4, 5, 6, 8, 9, 24, 25, 27, 29 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 13, 17, 19 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 371 ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (2) (15), 24, 27 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันมีไม้อันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันรับไว้ด้วยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ปรับ 42,272 บาท ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 500 บาท รวมจำคุก 1 ปี 18 เดือน และปรับ 42,772 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 15 เดือน และปรับ 21,386 บาท ริบของกลาง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จ่ายเงินสินบนร้อยละ 30 ของราคาเลื่อยโซ่ยนต์พร้อมบาร์และโซ่ของกลางและจ่ายเงินรางวัลร้อยละ 25 ของราคาเลื่อยโซ่ยนต์พร้อมบาร์และโซ่ที่ศาลสั่งริบตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7, 8 ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควรหรือโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับความผิดฐานร่วมกันรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยรู้ว่าเป็นของนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่เพียงกระทงเดียว ความผิดฐานร่วมกันมีไม้อันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง จำคุก 1 เดือน 15 วัน เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตแล้ว คงจำคุก 13 เดือน 15 วัน ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ไม่ลงโทษปรับ ยกคำขอให้จ่ายเงินสินบนและเงินรางวัล นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) และจะลงโทษจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเก็บหา นำออกไปและทำด้วยประการใด ๆ อันทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และนำอาวุธปืนเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดตามมาตรา 16 (2) (15) แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และมีบทลงโทษตามมาตรา 24, 26 และ 27 โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) บัญญัติว่า ฟ้องต้องมี “อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด” ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเพียงแต่อ้างบทลงโทษตามมาตรา 24, 25 และ 27 โดยไม่ได้อ้างบทความผิดตามมาตรา 16 มาด้วย กรณีเช่นนี้ไม่ถึงกับเป็นเรื่องเกินคำขอเสียทีเดียวหรือเป็นเรื่องที่มิได้กล่าวในฟ้อง และไม่ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตามฐานความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ แต่อย่างใด เมื่อข้อหาความผิดหนึ่งต้องมีบทความผิดกับบทลงโทษประกอบเข้าด้วยกัน โดยอาจจะอยู่ในมาตราเดียวกันหรือแยกกันอยู่คนละมาตราก็ได้ การที่โจทก์เพียงอ้างมาตราในกฎหมายที่เป็นบทความผิดหรือบทลงโทษเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นเรื่องโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานความผิดนั้นสมตามฟ้อง ทั้งบทลงโทษที่บัญญัติไว้ก็เชื่อมโยงไปถึงบทความผิด อันเห็นได้ถึงบทมาตราที่ถูกต้องครบถ้วน และการกระทำตามฟ้องเป็นความผิดตามกฎหมายเช่นใด ก็อยู่ในขั้นตอนปรับบทกฎหมายอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่อยู่ในอำนาจของศาล ดังนั้น ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ที่บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้” ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 นั้น นอกจากโจทก์ไม่ได้อ้างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นมาในคำขอท้ายฟ้องแล้ว กรณีปรากฏอีกด้วยว่า กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ “เลื่อยโซ่ยนต์” หมายความว่า “(1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งานที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว” อันเป็นการกำหนดไว้เฉพาะการมีเลื่อยโซ่ยนต์ที่มีลักษณะเช่นนี้เท่านั้นที่ต้องมีใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ ถ้าไม่มีใบอนุญาตจึงจะมีความผิดตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมีบทลงโทษตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง แต่ฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏเลยว่าเลื่อยโซ่ยนต์คดีนี้มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดไว้ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับความผิดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) และ (6) แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพก็รับฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิพากษายกฟ้องความผิดข้อนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (2) (15), 24, 27 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย จำคุก 3 เดือน ฐานร่วมกันรับไว้ด้วยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ปรับ 42,276 บาท ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 500 บาท รวมจำคุก 15 เดือน และปรับ 42,772 บาท ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 7 เดือน 15 วัน และปรับ 21,386 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จ่ายเงินสินบนร้อยละ 30 ของราคาเลื่อยโซ่ยนต์พร้อมบาร์และโซ่ของกลาง และจ่ายเงินรางวัลร้อยละ 25 ของราคาเลื่อยโซ่ยนต์พร้อมบาร์และโซ่ที่ศาลสั่งริบ ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7, 8 ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share