แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งศาลจำต้องถือตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้น คือข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดของอาญาที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับผิดในทางแพ่งโดยอาศัยมูลคดีอาญาในเรื่องนั้น ๆ โดยตรง
โจทก์ฟ้องคดีแพ่งก่อนคดีอาญา ตั้งประเด็นว่ามีสัญญาต่างตอบแทนในเรื่องการใช้ถนนร่วมกันระหว่างโจทก์จำเลยแต่จำเลยทำผิดสัญญา และกระทำละเมิด จึงขอให้ปฏิบัติตามสัญญาและใช้ค่าเสียหาย ทั้งยื่นคำร้องขอให้กำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษาชั้นไต่สวนคำร้อง เมื่อจำเลยเบิกความว่าไม่มีข้อตกลงในการใช้ถนนร่วมกัน โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาว่าเบิกความเท็จในเรื่องนี้ แม้ข้อนำสืบในคดีแพ่งและคดีอาญา จะเป็นเรื่องเดียวกันว่ามีข้อตกลงกันอย่างไรจริงหรือไม่ก็ตาม ก็เห็นได้ว่ารูปคดีเช่นนี้หาใช่เป็นเรื่องคดีแพ่งที่ฟ้องโดยอาศัยมูลคดีอาญาโดยตรงไม่ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโฉนดเลขที่ 2558 ตำบลห้วยขวาง อำเภอพญาไทจังหวัดพระนคร เป็นที่ดินแปลงเดียวกับของจำเลยทั้งสองและของนายแสวงมงคลเกษม ต่อมาได้แยกที่ดินแปลงนี้ออกเป็นส่วน ๆ เป็นของจำเลยทั้งสองและของนายแสวงคนละหนึ่งส่วน ส่วนที่เหลือโฉนดเดิมเป็นของภริยาโจทก์โดยเป็นสินสมรส โจทก์มีสิทธิจัดการบำรุงรักษา เพื่อประโยชน์ของที่ดินแปลงนี้ ที่ดินทั้งสี่แปลงตั้งอยู่เรียงกันตามลำดับ ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะสายห้วยขวาง โจทก์จำเลยทั้งสองและนายแสวงได้ขอซื้อที่ดินและสิทธิในที่ดินที่ติดถนนสาธารณะของบุคคลภายนอกหลายคน เพื่อร่วมกันทำถนนบนที่เหล่านั้นและของโจทก์กับของจำเลยแล้วใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยมีข้อตกลงว่า เฉพาะถนนที่ผ่านที่ดินของบุคคลภายนอกนี้จะช่วยกันออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ส่วนถนนที่ผ่านที่ดินของโจทก์และจำเลยก็ให้บุคคลนั้นเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและเพื่อเป็นการตอบแทนซึ่งกันและกัน ทุกคนมีสิทธิที่จะผ่านถนนสายนี้ได้ เพื่อให้ที่ดินของแต่ละแปลงของโจทก์และของจำเลยมีค่าและหรือเป็นประโยชน์ในการที่จะจำหน่าย และหรือทำการก่อสร้างหารายได้ของแต่ละบุคคล โจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสองและ นายแสวงก่อสร้างถนนขึ้นตามข้อตกลงตั้งแต่ พ.ศ. 2506และได้ใช้ประโยชน์ถนนสายนี้ตลอดมา ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2512จำเลยทั้งสองโดยจงใจได้ร่วมกันสั่งให้คนของจำเลยก่อสร้างเสากั้นรถขึ้นในถนนตรงบริเวณส่วนของจำเลยทั้งสอง และได้สร้างขึ้นเป็นระยะ ๆ ถึง 3ระยะโดยเสากั้นรถนี้ผ่านได้เฉพาะรถเก๋งหรือรถที่เล็กกว่าเท่านั้น ส่วนรถบรรทุกไม่สามารถจะผ่านไปได้ ดดยมีเจตนาปิดกั้นถนนเพื่อแกล้งโจทก์ มิได้นำสิ่งก่อสร้างและอุปกรณืในการก่อสร้างผ่านถนนเข้าไปยังที่ดินของโจทก์โจทก์ขออนุญาตบุคคลอื่นเข้าทางด้านอื่น จำเลยทั้งสองก็ยังตามไปกั้นทางใหม่นั้นอีก การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายและเป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการผิดสัญญาต่างตอบแทนระหว่างโจทก์จำเลย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสงอรื้อถอนเสากั้นรถและเปิดทางให้โจทก์ผ่านไปมาได้สะดวกและร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองกับโจทก์ไม่เคยมีข้อตกลงร่วมกันเรื่องการใช้ถนน จำเลยทั้งสองกับนายแสวงได้ก่อสร้างถนนอย่างดีตามหลักวิชาช่างด้วยทุนทรัพย์ของตนเอง เมื่อโจทก์กับนางยุวดีก่อสร้างอาคารในที่ดินของนางยุวดี นางยุวดี ได้ขอใช้ถนนดังกล่าวจำเลยทั้งสองอนุญาต ต่อมาถนนชำรุดเสียหาย จำเลยทั้งสองและนายแสวงติดต่อให้นางยุวดีจัดการซ่อม แต่โจทก์และนางยุวดีเพิกเฉยจำเลยทั้งสองจึงซ่อมเอง และในการซ่อมนี้จำเป็นต้องปิดกั้นมิให้รถยนต์บรรทุกวิ่งผ่าน การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นการผิดสัญญาต่างตอบแทน และไม่เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนเสากั้นรถและกองดินไปจากถนนเปิดทางเดินให้รถโจทก์ผ่านไปมาได้
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างฎีกาโจทก์มรณะ นางยุวดีเข้าเป็นคู่ความแทนที่
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทั้งสองต่างมีสิทธิใช้ถนนในที่ดินของกันและกันได้อันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้น คือข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดทางอาญา ที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับผิดในทางแพ่งโดยอาศัยมูลคดีอาญาในเรื่องนั้น ๆ โดยตรง สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องคดีแพ่งก่อนคดีอาญา ตั้งประเด็นว่ามีสัญญาต่างตอบแทนในเรื่องการใช้ถนนร่วมกันระหว่างโจทก์จำเลย แต่จำเลยทำผิดสัญญาและกระทำละเมิด จึงขอให้ปฏิบัติตามสัญญาและใช้ค่าเสียหาย ทั้งยื่นคำร้อง ขอให้กำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษา ชั้นไต่สวนคำร้องเมื่อจำเลยเบิกความว่าไม่มีข้อตกลงในการใช้ถนนร่วมกัน โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาว่าเบิกความเท็จในเรื่องนี้ แม้ข้อนำสืบในคดีแพ่งและคดีอาญาจะเป็นเรื่องเดียวกันว่ามีข้อตกลงกันอย่างไรจริงหรือไม่ก็ตามก็เห็นได้ว่ารูปคดีเช่นนี้หาใช่เป็นเรื่องคดีแพ่งที่ฟ้องโดยอาศัยมูลคดีอาญาโดยตรงไม่ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
พิพากษายืน