คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1817/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หลังจาก ว.ถึงแก่กรรมจำเลยที่1ซึ่งเป็นภริยาของว.ได้รับแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล จากเจ้าหน้าที่ประเมิน ถือได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้ง การประเมินไปยังจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาและทายาทของ ว. ตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 18 วรรคสอง แล้ว การที่แบบแจ้งการประเมินระบุชื่อ ว. เป็นผู้รับแจ้งผลการประเมินโดยมิได้ระบุชื่อจำเลยทั้งสามคนใดคนหนึ่งลงในแบบแจ้งการประเมิน ว่าเป็นผู้รับแจ้งการประเมิน แม้จะไม่ถูกต้องแต่ก็ได้มีการแจ้ง การประเมินไปยังจำเลยที่ 1 ผู้เป็นภรรยาและทายาทของ ว. ผู้ต้องเสียภาษีซึ่งถึงแก่ความตายนั้นแล้ว จึงถือได้ว่าได้มีการแจ้ง การประเมินไปยังทายาทของ ว. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีทราบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามในฐานะทายาทของนายวสันต์ โชติปริญญานนท์ ร่วมกันรับผิดชำระค่าภาษีอากรจำนวน386,837.60 บาท (ที่ถูกน่าจะเป็น 201,788 บาท) แก่โจทก์ทั้งสองแต่ไม่เกินทรัพย์มรดกที่ได้รับแต่ละคน
จำเลยทั้งสามให้การว่า การคิดคำนวณภาษีของโจทก์ทั้งสองไม่ถูกต้องและการที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่านายวสันต์สำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาแท้จริงในท้องตลาดไม่เป็นความจริงเมื่อนายวสันต์ไม่เคยนำเข้าสินค้าและไม่เคยค้างภาษีย่อมไม่มีหน้าที่ต้องอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษี และนายวสันต์ก็ไม่เคยได้รับแจ้งการประเมินภาษี โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยและเรียกเงินตามฟ้อง นอกจากนี้จำเลยทั้งสามไม่เคยได้รับการทวงถามจากโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกของนายวสันต์จากจำเลยทั้งสามผู้เป็นทายาท
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าอากรขาเข้าจำนวน 106,628 บาท แก่โจทก์ที่ 1 แต่ต้องไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกของนายวสันต์ โชติปริญญานนท์ ที่ตกทอดได้แก่จำเลยทั้งสามให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ที่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสาม
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2530 นายวสันต์ โชติปริญญานนท์นำเข้าสินค้าผ้าจำนวน 2,814 หลา จากเมืองฮ่องกง ซึ่งประเทศผู้ผลิตคือสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในราชอาณาจักรไทยทางด่านศุลกากรท่าอากาศยานกรุงเทพมหานคร ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจพบว่าสินค้าที่นายวสันต์นำเข้ามาดังกล่าวมิใช่ฝ้ายตามที่สำแดงไว้ แต่เป็นผ้าวูดเวนซ์แฟบริช ทำด้วยลินิน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจากที่สำแดงไว้อีก 180,591.60 บาท ทำให้นายวสันต์ต้องชำระภาษีอากรค้างชำระเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มทุกประเภทเป็นเงิน 201,788 บาท ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่าโจทก์ที่ 2 ได้แจ้งการประเมินไปยังทายาทของนายวสันต์โดยชอบแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งฟังได้ว่า นายวสันต์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของนายวสันต์ได้รับแบบแจ้งการประมินอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลจากเจ้าหน้าที่ประเมินเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นภรรยาและทายาทของนายวสันต์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 18 วรรคสอง แล้ว การที่แบบแจ้งการประเมินระบุชื่อนายวสันต์เป็นผู้รับแจ้งผลการประเมินโดยมิได้ระบุชื่อจำเลยทั้งสามคนใดคนหนึ่งลงในแบบแจ้งการประเมินว่าเป็นผู้รับแจ้งการประเมิน แม้จะไม่ถูกต้อง แต่ก็ได้มีการแจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ 1 ผู้เป็นภรรยาและทายาทของนายวสันต์ผู้ต้องเสียภาษีซึ่งถึงแก่ความตายนั้นแล้ว จึงถือได้ว่าได้มีการแจ้งการประเมินไปยังทายาทของนายวสันต์ผู้มีหน้าที่เสียภาษีทราบแล้ว ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดชำระค่าภาษีแก่โจทก์ทั้งสองเพียงใดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียเลย โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรวินิจฉัยอีก และฟังว่าจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพียง 201,788 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากรจำนวน 201,788 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง แต่ให้จำเลยทั้งสามรับผิดไม่เกินจำนวนทรัพย์มรดกของนายวสันต์ โชติปริญญานนท์ที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งสามนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง

Share