คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 868/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 อ้างเหตุในคำขอให้พิจารณาใหม่ว่า จำเลยที่ 2ไม่เคยทราบวันนัดสืบพยานโจทก์ เพราะได้ย้ายไปจากภูมิลำเนาตามฟ้องตั้งแต่ปี 2536 แล้ว ซึ่งหากได้ความตามคำร้องดังกล่าว การส่งหมายนัดสืบพยานประเด็นโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดหมายก็ย่อมไม่ชอบ มีผลทำให้การสืบพยานประเด็นโจทก์และนัดต่อ ๆ มาจนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบถือว่าจำเลยที่ 2 มิได้ทราบวันนัดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษากรณีเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2จะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 225 เพราะเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการที่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่จะยังให้การไปโดยยุติธรรม แต่เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 207/23-24 ถนนอ่อนนุชและในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 ยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิม ดังนี้ แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงภูมิลำเนาเป็นเลขที่ 300/46 ถนนอ่อนนุชก็ตาม แต่ตามเอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ใหม่ตั้งแต่เมื่อใด เมื่อจำเลยที่ 2ไม่นำสืบให้ปรากฏชัด ทั้งไม่เคยแจ้งการย้ายภูมิลำเนาไปที่ใหม่ให้ศาลทราบจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิมตามฟ้อง ฉะนั้น การส่งหมายนัดไปให้จำเลยที่ 2และนัดต่อ ๆ มาจนถึงนัดฟังคำพิพากษาโดยวิธีการใดก็ตามย่อมถือว่าเป็นการส่งให้จำเลยที่ 2 โดยชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรับช่วงสิทธิมาจากผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7ฌ-9383 กรุงเทพมหานครฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายอันสืบเนื่องมาจากมูลละเมิด จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 217,450 บาท
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่
โจทก์คัดค้านว่า จำเลยที่ 2 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาไม่มีเหตุที่จะขอพิจารณาใหม่ แต่การส่งหมายนัดวันที่ 2 ตุลาคม 2537 ตามภูมิลำเนาตามฟ้องเลขที่ 207/23-24ถนนอ่อนนุช แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานครซึ่งเจ้าพนักงานรายงานว่าจำเลยย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว จึงได้ปิดหมายนั้น เป็นการส่งไม่ชอบ ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานประเด็นโจทก์ในวันที่ 20 ตุลาคม 2537 และวันนัดต่อ ๆ มาจนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาก็ไม่ชอบและถือว่าจำเลยที่ 2ยังไม่ทราบวันนัดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษาดังกล่าวแม้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นกำหนดวันสืบพยานประเด็นโจทก์ใหม่และนัดสืบพยานโจทก์ที่เหลือต่อไป โดยส่งหมายนัดให้แก่จำเลยที่ 2ตามภูมิลำเนาใหม่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 74 ถึง 79แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และดำเนินการพิจารณาแล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาไม่มีเหตุที่จะขอพิจารณาใหม่ แต่วินิจฉัยต่อไปว่า การส่งหมายนัดครั้งต่อมาให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2537โดยเจ้าพนักงานรายงานหมายว่า ส่งได้โดยวิธีปิดหมายเพราะไม่พบผู้ใด และจำเลยที่ 2 ย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว จึงเป็นการส่งโดยไม่ชอบ ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานประเด็นโจทก์ในวันที่ 20 ตุลาคม 2537 และนัดต่อ ๆ มาจนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาก็ไม่ชอบ ถือว่าจำเลยที่ 2 ยังไม่ทราบวันนัดดังกล่าวปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาไม่มีเหตุให้พิจารณาใหม่จึงถึงที่สุด คงมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาโจทก์เพียงว่า ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกปัญหาการดำเนินกระบวนพิจารณาส่งหมายนัดสืบพยานประเด็นโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2537 ขึ้นวินิจฉัย โดยจำเลยที่ 2มิได้อุทธรณ์ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 2ที่ขอให้พิจารณาใหม่อ้างเหตุว่า การส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์นั้นจำเลยที่ 2 ไม่เคยทราบวันนัด เพราะได้ย้ายไปจากภูมิลำเนาตามฟ้องเลขที่ 207/23-24 ถนนอ่อนนุช แขวงทับยาว เขตลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2536 แล้ว ดังนี้ หากได้ความตามคำร้องของจำเลยที่ 2 การส่งหมายนัดสืบพยานประเด็นโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2537 โดยวิธีปิดหมายก็ย่อมไม่ชอบ มีผลทำให้การสืบพยานประเด็นโจทก์ในวันที่ 20ตุลาคม 2537 และนัดต่อ ๆ มาจนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ถือว่าจำเลยที่ 2มิได้ทราบวันนัดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษา กรณีเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 225 เพราะเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่จะยังให้การเป็นไปโดยยุติธรรม ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น ปรากฏตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนเอกสารหมาย จ.4 ว่า จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ที่เลขที่ 207/23-24 ถนนอ่อนนุช แขวงทับยาว เขตลาดกระบังกรุงเทพมหานคร และในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23 สิงหาคม 2537และ 23 กันยายน 2537 นั้น จำเลยที่ 2 ยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิมดังนี้ แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงภูมิลำเนาเป็นเลขที่ 300/46 ถนนอ่อนนุช แขวงทับยาว เขตลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย ล.1 ก็ตาม แต่ตามเอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ใหม่ตั้งแต่เมื่อใด เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่นำสืบให้ปรากฏดังกล่าวทั้งไม่เคยแจ้งการย้ายภูมิลำเนาไปที่ใหม่ให้ศาลชั้นต้นทราบจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิมตามที่โจทก์ระบุในคำฟ้อง ฉะนั้น การส่งหมายนัดไปให้จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่2 ตุลาคม 2537 และนัดต่อ ๆ มาจนถึงนัดฟังคำพิพากษาโดยวิธีการใดก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการส่งโดยชอบและจำเลยที่ 2 ได้รับโดยชอบแล้วที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การส่งหมายให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่2 ตุลาคม 2537 ไม่ชอบแล้วพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหานี้แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาแต่กรณีเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

Share