คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้กู้ได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้โดยมอบฉันทะให้โจทก์ไปถอนเงินจากธนาคารที่จำเลยทั้งสองมีบัญชีเงินฝากเอง ดังนี้ เมื่อจำเลยทั้งสองมีหลักฐานที่โจทก์เป็นตัวแทนจำเลยดังกล่าวและโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินตามใบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยมาแสดง จึงถือได้ว่าเป็นการนำสืบการใช้เงินโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา653 วรรคสอง แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยาได้ร่วมกันทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ไป 214,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี เมื่อถึงกำหนดชำระจำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระให้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 286,225 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงิน 214,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด มีรายได้เดือนละ 6,020 บาท จำเลยที่ 2เป็นแม่บ้านไม่มีรายได้ จำเลยทั้งสองเคยกู้ยืมเงินโจทก์เพียง14,000 บาท แต่โจทก์ให้ลงชื่อไว้ในสัญญากู้ยืมโดยมิได้กรอกข้อความสัญญากู้ยืมปลอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน14,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยทั้งสองได้ลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.1 ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามสัญญากู้จำนวนเพียงใด โจทก์เบิกความว่าก่อนที่จำเลยทั้งสองจะทำสัญญากู้เงินโจทก์ จำเลยทั้งสองได้กู้เงินจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาท่าเรือ-อยุธยา จำนวนเงิน190,000 บาท โดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน วันที่ 10 มิถุนายน 2530จำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ โดยให้โจทก์ไปชำระหนี้เงินกู้ต่อธนาคารแทนจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงให้จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมไว้ แล้วชำระหนี้ต่อธนาคารแทนจำเลยทั้งสอง เห็นว่าโจทก์มีใบเสร็จรับเงินของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาท่าเรือ-อยุธยา เอกสารหมาย จ.2 แสดงว่าโจทก์ได้ชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยทั้งสองต่อธนาคาร เพราะจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญากู้ต่อโจทก์จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กู้ยืมเงินโจทก์ 214,000 บาทตามสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.1 โจทก์เบิกความต่อไปว่าเมื่อครบกำหนดชำระคืน จำเลยทั้งสองผิดนัดเพิกเฉย โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามแล้วก็ไม่ยอมชำระ ได้ความจากนางจำรัส ชวนชม ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาท่าเรือ-อยุธยา ว่าโจทก์ค้ำประกันการกู้ยืมเงินลักษณะเดียวกันนี้หลายราย ลูกหนี้ที่โจทก์ค้ำประกันเป็นพนักงานโรงงานเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งรับเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคาร หลังจากนั้นโจทก์จะนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารแทนลูกหนี้แล้วนำใบมอบฉันทะที่ลูกหนี้ให้ไว้ไปถอนเงินจากบัญชีเงินเดือนของลูกหนี้ สำหรับรายจำเลยทั้งสองใบถอนเงินตามเอกสารหมาย ล.1รวม 55 ฉบับ บางฉบับเป็นใบถอนเงินที่จำเลยที่ 1 ลงชื่อรับเงินไว้ล่วงหน้าแล้วให้โจทก์ไปถอนเงินจากธนาคาร บางฉบับจำเลยที่ 1ลงชื่อมอบฉันทะให้โจทก์ไปถอนเงินเอง แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้เงินกู้ยืมโดยมอบฉันทะให้โจทก์ไปถอนเงินจากธนาคารเอง เมื่อจำเลยทั้งสองมีหลักฐานที่โจทก์เป็นตัวแทนจำเลยและโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินตามใบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 มาแสดงจึงถือได้ว่าเป็นการนำสืบการใช้เงินโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคสองแล้ว และเห็นว่าเมื่อรวมยอดเงินที่โจทก์ใช้ใบถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ตามใบถอนเงินเอกสารหมาย ล.1รวม 55 ฉบับ เป็นเงิน 204,600 บาท เมื่อนำไปชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน214,000 บาท แล้วจำเลยทั้งสองคงค้างโจทก์เพียง 9,400 บาท แต่การนำเงิน 204,600 บาท ไปชำระหนี้โจทก์นี้เป็นเพียงชำระเงินต้นโดยยังมิได้ชำระดอกเบี้ย ซึ่งถ้าจะต้องชำระดอกเบี้ยด้วยแล้วต้นเงินที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้อยู่จะมากกว่า 9,400 บาท โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า เมื่อหักดอกเบี้ยแล้วจำเลยทั้งสองยังเป็นหนี้โจทก์เงินต้นจำนวนเพียงใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดต้นเงินตามที่จำเลยทั้งสองให้การยอมรับเป็นเงิน 14,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share