คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์นำวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงมาสู่รถที่เช่าซื้อเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 เอง หาใช่เพื่อประโยชน์แก่การจัดการดูแล ใช้สอยหรือรักษารถอันเป็นทรัพย์ประธานไม่ ทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่อุปกรณ์อันจะตกติดไปกับทรัพย์ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 147 วรรคท้าย ส่วนข้อสัญญาที่กำหนดว่า “…หากผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลง ต่อเติมหรือตั้งอยู่ในตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สิ่งนั้นจะตกเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เช่าซื้อและเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทันที…” นั้น ก็เป็นแบบฟอร์มที่โจทก์จัดทำขึ้นเพียงฝ่ายเดียว และเป็นข้อความที่มาจากปัญหาที่มักเกิดข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับผู้เช่าซื้อรายอื่นที่ผู้เช่าซื้อมักนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลง ต่อเติมหรือติดกับทรัพย์ที่เช่าซื้อและเมื่อต้องการเอาสิ่งของดังกล่าวคืนก็จะทำการรื้อไปอันทำให้ทรัพย์ที่เช่าซื้อของโจทก์เสียหาย แต่กรณีที่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์ดังกล่าวมาสู่ตัวรถ ย่อมไม่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหากจะต้องรื้อออกไป จึงไม่อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาดังกล่าว โจทก์หาอาจจะยกข้อสัญญาที่ปรากฏมาเป็นเหตุไม่คืนวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดีลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงให้แก่จำเลยที่ 1 หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ รุ่น 220 จำนวน 1 คันไปจากโจทก์ในราคา 2,325,420.24 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 24 ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที โดยมิต้องบอกกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืนรถให้โจทก์ ต่อมาโจทก์จึงติดตามยึดรถคืนได้ในสภาพชำรุดซึ่งหากนำออกประมูลขายจะได้เงินเพียง 1,100,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดราคา 415,046.52 บาท และขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ 35,233.64 บาท เป็นเวลา 5 เดือน เป็นเงิน176,168.20 บาท แต่ในส่วนนี้จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์แล้วเป็นเงิน 87,700 บาท จึงคงเหลือค่าเสียหายเป็นเงิน 88,468.20 บาท นอกจากนี้โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถคืนเป็นเงิน 5,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 508,514.72บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การเลิกสัญญาไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดรถที่เช่าซื้อ นอกจากนี้ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินความเป็นจริง ค่าขาดประโยชน์ไม่ควรเกินเดือนละ 3,000 บาท ส่วนค่าขาดราคานั้น หากนำรถที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาดและนำมาหักกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระแล้วบางส่วนก็จะคุ้มกับความเสียหายแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกในส่วนนี้ ขอให้ยกฟ้องและขอถือคำให้การเป็นฟ้องแย้ง เนื่องจากจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์แล้วเป็นเงิน954,800 บาท ซึ่งเมื่อนำไปหักจากค่าขาดประโยชน์เดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 29 เดือน จึงคงเหลือเงินจำนวน 867,800 บาท ขอให้โจทก์คืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 และให้โจทก์คืนวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ติดกับรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 200,000 บาทรวมเป็นเงิน 1,067,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 เคลือบคลุมและโจทก์ไม่จำต้องคืนเงินจำนวน 867,800 บาท แก่จำเลยที่ 1 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิขอให้โจทก์คืนวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงที่ติดกับรถที่เช่าซื้อ เนื่องจากถือว่าเป็นอุปกรณ์ของรถคันที่เช่าซื้อและเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อข้อ 8 ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 12,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 13,300บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้โจทก์คืนวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงแก่จำเลยที่ 1 หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 30,908.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 24 ติดต่อกันถึง 5 งวด โจทก์จึงใช้สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10เอกสารหมาย จ.6 ถือว่าสัญญาเลิกกันโดยไม่ต้องบอกกล่าวและยึดรถที่เช่าซื้อคืน โดยรถที่เช่าซื้อจะขายได้ในราคา 1,100,000 บาท โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคา ค่าขาดประโยชน์ ค่าติดตามเอารถที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 และมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าค่าขาดราคามีหรือไม่เพียงใด ค่าขาดประโยชน์และค่าติดตามรถที่เช่าซื้อคืนควรเป็นเงินจำนวนเท่าใด ดอกเบี้ยที่โจทก์พึงเรียกได้มีอัตราเท่าใด และโจทก์ต้องคืนวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยตามลำดับรายการไป สำหรับค่าขาดราคามีหรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 ตอนท้าย เอกสารหมาย จ.6 กำหนดว่า “…ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อเมื่อเจ้าของได้ประเมินราคาแล้วมีราคาไม่คุ้มค่าเช่าซื้อที่คงเหลืออยู่กับค่าเสียหายอื่นที่เกิดขึ้นผู้เช่าซื้อจะชดใช้เงินให้เจ้าของจนครบถ้วน…” ดังนี้ ค่าขาดราคาซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับจึงต้องคำนวณจากราคาเช่าซื้อคือ 2,325,420.24 บาท เมื่อหักจากจำนวนค่างวด23 งวด ที่โจทก์ได้รับชำระไปแล้วคือ 810,373.72 บาท กับราคารถที่โจทก์ประเมินไว้คือ1,100,000 บาท จึงคงเหลือค่าขาดราคาเท่ากับ 415,046.52 บาท ตรงตามที่โจทก์เรียกร้องที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่มีค่าขาดราคาที่จำเลยทั้งสองต้องชำระให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ตามสัญญาข้อนี้เป็นการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า ศาลฎีกาเห็นว่าสูงเกินส่วน เมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าขาดราคาให้แก่โจทก์เป็นเงิน 50,000บาท สำหรับค่าขาดประโยชน์และค่าติดตามเอารถที่เช่าซื้อคืนเห็นว่า รถที่เช่าซื้อเป็นรถยี่ห้อเบนซ์ รุ่น 220 ปี 2538 จำเลยที่ 1 ผิดนัด ภายหลังชำระค่างวด 23 งวด จากจำนวนงวดทั้งสิ้น 66 งวด ดังนี้ ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถอยู่ขณะสัญญาเช่าซื้อเลิกต่อกันแล้ว รถที่เช่าซื้อมีอายุงาน 2 ปีเศษ น่าจะออกให้เช่าได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000บาท แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจะสามารถนำรถที่เช่าซื้อออกให้เช่าได้ทุกเดือนเมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียตามสมควรที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้เดือนละ20,000 บาท จึงเหมาะสมแล้วและเมื่อหักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระ 87,700 บาท คงเหลือ12,300 บาท และสำหรับค่าติดตามเอารถที่เช่าซื้อคืน คงมีเพียงคำเบิกความลอย ๆ ของนางสาวยุวนันท์ อินถา ว่าเป็นเงิน 5,000 บาท โดยมิได้นำสืบข้อเท็จจริงให้ปรากฏที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ 1,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว รวมทั้งดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องเอาตามสัญญาคืออัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น ก็เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าสูงเกินส่วนและกำหนดให้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ก็เหมาะสมแล้วเช่นกัน คดีคงเหลือปัญหาต้องวินิจฉัยสุดท้ายว่าโจทก์ต้องคืนวิทยุ เครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงให้แก่จำเลยที่ 1หรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์ดังกล่าวนี้ จำเลยที่ 1 นำมาสู่รถที่เช่าซื้อก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 หาใช่เพื่อประโยชน์แก่การจัดดูแล ใช้สอยหรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธานคือรถที่เช่าซื้อไม่ ทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่อุปกรณ์อันจะตกติดไปกับทรัพย์ประธานตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 147 วรรคท้าย ส่วนที่สัญญาเช่าซื้อข้อ 8เอกสารหมาย จ.6 ระบุว่า “…หากผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลง ต่อเติม ติดหรือตั้งอยู่ในตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สิ่งนั้นจะตกเป็นส่วนหนึ่งของตัวทรัพย์สินที่เช่าซื้อและเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทันที…” นั้น เห็นว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นแบบฟอร์มที่โจทก์จัดทำขึ้นเพียงฝ่ายเดียว ข้อความที่ระบุในข้อ 8 น่าจะมีที่มาจากปัญหาซึ่งมักจะเกิดแก่โจทก์ที่ต้องพิพาทกับผู้เช่าซื้อในกรณีที่ผู้เช่าซื้อนำสิ่งของเข้ามาดัดแปลง ต่อเติม ติดหรือตั้งกับทรัพย์ที่เช่าซื้อ และจะเอาสิ่งของดังกล่าวคืน เมื่อต้องคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ แต่การรื้อสิ่งของที่ว่านั้นออกไปจะทำให้ทรัพย์ที่เช่าซื้อเสียหายได้ ฉะนั้น สำหรับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ลำพังการที่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์ดังกล่าวมาสู่ตัวรถที่เช่าซื้อ ย่อมไม่ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหากจะต้องรื้อออกไปจากตัวรถที่เช่าซื้อ จึงไม่อยู่ในขอบแห่งข้อสัญญาดังกล่าว โจทก์จึงจะยกข้อสัญญาที่ปรากฏมาเป็นเหตุไม่คืนวิทยุ เครื่องเล่นเทปเครื่องเล่นซีดี ลำโพงและอุปกรณ์เครื่องเสียงให้แก่จำเลยที่ 1 หาได้ไม่ และที่ศาลอุทธรณ์กำหนดจำนวนเงิน 30,908.90 บาท ที่โจทก์ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 หากโจทก์ไม่อาจคืนทรัพย์ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ได้นั้น โจทก์ก็มิได้ฎีกาโต้แย้งเงินจำนวนนี้ว่าไม่ถูกต้องเพราะเหตุใด โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 63,300 บาท แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share