แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้เสียหายพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมเบิกความต่อศาล ครั้นเมื่อมาเบิกความกลับระบุว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่คนร้าย อันขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวนที่ให้การยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย จึงเชื่อว่าเป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ให้ไม่ต้องรับโทษ ชั้นสอบสวนผู้เสียหายให้การตั้งแต่วันเกิดเหตุยังไม่มีเวลาไตร่ตรองหาเหตุผลมาช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มายังสถานีตำรวจ ผู้เสียหายก็ชี้ตัวยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายตั้งแต่วันเกิดเหตุนั้นเอง คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายจึงน่าเชื่อถือมากกว่าคำเบิกความชั้นศาล
โจทก์ฎีกาเพียงว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ลงโทษจำเลยทั้งสองในบางข้อหานั้น โจทก์ไม่เห็นด้วย ขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าวมิได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาเพื่อให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 คลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2542 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองร่วมกันมีอาวุธปืนลูกซองสั้น ไม่ทราบขนาด ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ จำนวน 1 กระบอก กับกระสุนปืนลูกซองขนาดเดียวกันกับอาวุธปืนจำนวน 1 นัด ใช้ยิงได้ไว้ครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และจำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปตามถนนในท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลธารทหาร อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นหม่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตทั้งไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ไม่ได้รับยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายกฤษณะ ผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย เหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลธารทหาร อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองและยึดได้ลูกกระสุนปืน (ลูกตะกั่วเม็ดกลม) จำนวน 7 เม็ด จากบริเวณที่เกิดเหตุและตัวผู้เสียหายเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบลูกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามยามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 10 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 11 ปี ริบลูกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 จำคุก 10 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนซึ่งเป็นกฎหมายบที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในชั้นนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ซึ่งฎีกาขอให้ยกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น และฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ริบของกลางด้วยนั้น ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบลูกกระสุนปืนของกลางตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แต่อย่างใด ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายและร่วมกันมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องได้มีคำร้ายใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงนายกฤษณะ ผู้เสียหายถูกที่บริเวณต้นคอบาดแผนลึกประมาณ 0.5 เซนติเมตร มีลูกกระสุนปืนฝังอยู่ 1 ลูกปัญหาว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานว่า ในคืนเกิดเหตุผู้เสียหายไปเที่ยวงานลอยกระทงที่วัดน้ำสาดเหนือเมื่อเวลาประมาณ 20 นาฬิกา ต่อมาได้ขึ้นไปรับประทานอาหารบนศาลาวัดซึ่งมีไฟฟ้าหลอดนีออนติดอยู่หลายหลอด มีชาย 7 คน ถึง 8 คน ซึ่งผู้เสียหายไม่รู้จักมาก่อนขึ้นไปรุมซ้อมทำร้ายร่ายกายผู้เสียหายบนศาลา ผู้เสียหายจึงคว้าเอามีดบนศาลานั้นมาฟันป้องกันตัว กลุ่มชายดังกล่าวได้ขว้างมีดใส่ผู้เสียหาย ส่วนพวกของชายกลุ่มนั้นซึ่งอยู่ด้านล่างของศาลได้ยิงปืนมาที่ผู้เสียหาย 1 นัด ผู้เสียหายกระโดดหลบไปอยู่หลังเสา คนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงนั้น ผู้เสียหายจำได้ว่าไม่ใช่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองเป็นเพื่อนกับผู้เสียหายมาหลายปี ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน เกิดเหตุแล้วกลุ่มคนร้ายได้ขับรถจักรยานยนต์ออกไปจากงานวัด ส่วนผู้เสียหายซึ่งได้รับบาดเจ็บถูกกระสุนปืนที่บริเวณท้ายทอยมีญาตินำส่งโรงพยาบาล ต่อมาผู้เสียหายได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพันตำรวจตรีวันชัย พนักงานสอบสวนว่าพวกของจำเลยทั้งสองใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย เหตุที่ระบุเช่นนั้นเนื่องจากขณะเกิดเหตุผู้ที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายได้จอดรถจักรยานยนต์ใกล้กับจุดที่จำเลยทั้งสองจอดรถจักรยายยนต์และมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอหนองบัวด้วยกัน เหตุที่ผู้เสียหายให้การต่อพันตำรวจตรีวันชัยตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน เอกสารหมาย จ.4 ว่า จำเลยทั้งสองใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเนื่องจากพันตำรวจตรีวันชัยให้ผู้เสียหายระบุชื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ยิงไปก่อนเพื่อให้จำเลยทั้งสองซัดทอดผู้ที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายแล้วค่อยติดตามจับกุมคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายภายหลัง การชี้ตัวจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวน พันตำรวจตรีวันชัยให้ผู้เสียหายชี้ตัวโดยผู้เสียหายไม่สมัครใจ แต่ในชั้นสอบสวนผู้เสียหายให้การไว้ต่อพันตำรวจตรีวันชัยพนักงานสอบสวนตั้งแต่วันเกิดเหตุตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.4 ว่า ในคดีเกิดเหตุเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ผู้เสียหายกับนายยุ ไม่ทราบนาทสกุลเพื่อนผู้เสียหายยืนอยู่บนศาลาวัด นายยุได้ขว้างขวดเบียร์ไปยังบริเวณที่กลุ่มของจำเลยทั้งสองซึ่งยืนจับกลุ่มกันอยู่บริเวณหน้าศาลา 8 ถึง 9 คน พวกของจำเลยทั้งสองเข้าใจผิดว่าผู้เสียหายเป็นคนขว้าง จึงพากันขึ้นไปบนศาลาแล้วร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยเตะ ต่อย ตีผู้เสียหายหลายที เป็นเหตุให้ฟันหัก 4 ซี่ แล้วพากันลงไปที่บริเวณหน้าศาลา ขณะนั้นผู้เสียหายเห็นจำเลยที่ 2 ถืออาวุธปืนลูกซองสั้นเล็งมาทางผู้เสียหายแต่ไม่ได้ยิง จำเลยที่ 1 ซึ่งยืนอยู่ใกล้กันได้แย่งเอาอาวุธปืนจากมือจำเลยที่ 2 หันปากกระบอกปืนมาทางผู้เสียหาย ผู้เสียหายเห็นท่าไม่ดีจึงพยายามวิ่งเพื่อหลบที่เสาบนศาลาจำเลยที่ 1 ยิงผู้เสียหาย 1 นัด ถูกบริเวณท้ายทอยมีลูกตะกั่วติดอยู่ที่บาดแผล 1 ลูก เมื่อจำเลยทั้งสองยิงผู้เสียหายแล้วได้ขับรถจักรยานยนต์พากันหลบหนีไป หลังจากรักษาบาลแผลแล้ว ผู้เสียหายพร้อมด้วยบิดาได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองบัว ยืนยันต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนยิง เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจนำตัวจำเลยทั้งสองไปที่สถานีตำรวจ ผู้เสียหายชี้ให้จับกุมดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 เดือน ผู้เสียหายเคยมีเรื่องชกต่อยกับจำเลยที่ 1 ในปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายหรือไม่ ผู้เสียหายเบิกความขัดแย้งกับคำให้การชั้นสอบสวน จึงมีปัญหาว่า คำเบิกความชั้นศาลหรือคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายน่าเชื่อถือมากกว่า ที่ผู้เสียหายเบิกความว่า การที่ผู้เสียหายให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยทั้งสองใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเนื่องจากพันตำรวจตรีวันชัยพนักงานสอบสวนให้ระบุเช่นนั้น เพื่อให้จำเลยทั้งสองซัดทอดผู้ที่ใช้อาวุธปืนยิงแล้วค่อยติดตามจับกุมนั้น พันตำรวจตรีวันชัยเบิกความยืนยันว่า ผู้เสียหายและบิดาได้ไปแจ้งความแก่พยานในคืนเกิดเหตุเวลา 1.30 นาฬิกา ว่าจำเลยทั้งสองใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย พยานได้สอบสวนผู้เสียหายไว้ตามเอกสารหมาย จ.4 เห็นว่า พันตำรวจตรีวันชัยปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองหรือผู้เสียหาย จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะกระทำดังที่ผู้เสียหายเบิกความ ข้ออ้างของผู้เสียหายดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ ในทางตรงกันข้ามกลับปรากฏว่า ผู้เสียหายพยายามหลบเลี่ยงบ่ายเบี่ยงไม่ยอมมาเบิกความต่อศาล คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 15 มิถุนายน 2543 คดีต้องเลื่อนการสืบพยานเพราะโจทก์ไม่สามารถนำตัวผู้เสียหายมาเบิกความหลายนัดเป็นระยะเวลาถึง 1 ปี 7 เดือนเศษ จึงสามารถนำตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลได้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 โดยโจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าได้รับแจ้งจากบิดาผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายเดินทางไปทำงานที่กรุงเทพมหานครไม่สามารถติดต่อกับผู้เสียหายได้ บางนัดโจทก์แถลงต่อศาลว่าได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่าจากการสืบสวนทราบว่า ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยจึงพยายามหลบเลี่ยงไม่มาเบิกความเป็นพยานต่อศาล การที่ผู้เสียหายพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมมาเบิกความต่อศาล ครั้นเมื่อมาเบิกความกลับระบุว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่คนร้าย จึงเชื่อว่าเป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ให้ไม่ต้องได้รับโทษ ส่วนในชั้นสอบสวนผู้เสียหายให้การไว้ตั้งแต่วันเกิดเหตุยังไม่มีเวลาไตร่ตรองหาเหตุผลมาช่วยเหลือจำเลยที่ 1 คำให้การชั้นสอบสวนจึงมีน้ำหนักและสมเหตุสมผลทั้งปรากฏว่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจนำตัวจำเลยที่ 1 มายังสถานีตำรวจให้ผู้เสียหายชี้ตัว ผู้เสียหายก็ชี้ตัวยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายตั้งแต่วันเกิดเหตุนั้นเอง คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายจึงน่าเชื่อถือมากกว่าคำเบิกความชั้นศาล ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจริง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับจำเลยที่ 2 คงได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายเพียงว่าจำเลยที่ 2 ถืออาวุธปืนลูกซองสั้นเล็งมาทางผู้เสียหายเท่านั้น แต่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายตกใจกลัวหรือวิ่งหลบหนีแต่อย่างใด แต่เมื่อจำเลยที่ 1 แย่งอาวุธปืนไปจากมือจำเลยที่ 2 ผู้เสียหายกลับพยายามวิ่งหนี ดังนี้ แสดงว่าขณะที่จำเลยที่ 2 ถืออาวุธปืนนั้นไม่มีท่าทีจะยิงผู้เสียหาย จากคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ผู้เสียหายมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 คนเดียว ไม่ปรากฏว่ามีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 แย่งอาวุธปืนไปจากจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่ามีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 พยายามฆ่าผู้เสียหายดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนี้จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบว่า จำเลยที่ 1 ร่วมครอบครองอาวุธปืนหรือร่วมพาอาวุธปืนติดตัวมาหรือร่วมรู้เห็นว่าจำเลยที่ 2 พาอาวุธปืนติดตัวมายังที่เกิดเหตุด้วย การที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่หยิบอาวุธปืนจากมือจำเลยที่ 2 แล้วยิงไปยังบริเวณที่ผู้เสียหายยืนอยู่จะถือว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดทั้งสองจากนี้ โจทก์ฎีกาเพียงว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ลงโทษจำเลยทั้งสองในบางข้อหานั้นโจทก์ไม่เห็นด้วย ขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นว่า ตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าวมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาเพื่อให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 คลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย นอกจากนี้การที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีความหมายว่าเป็นการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่ลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามอันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า โจทก์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน