คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18122/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แบ่งเป็นอายุความฟ้องคดีแพ่งตามมาตรา 63 และอายุความฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 66 โดยอายุความคดีอาญาต้องนำ ป.อ. มาตรา 95 มาใช้บังคับ เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องซึ่งต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท อายุความในคดีนี้จึงเป็นอายุความฟ้องคดีอาญาสำหรับความผิดต้องระวางโทษอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่โทษจำคุก ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) อันมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2552 แต่ฟ้องและได้ตัวจำเลยทั้งสามมายังศาลในวันที่ 17 ธันวาคม 2555 ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่งจึงขาดอายุความแล้ว ทั้งหากเทียบเคียงกับกฎหมายลิขสิทธิ์ก่อนหน้านั้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยบัญญัติแยกอายุความคดีแพ่งและคดีอาญาจากกันตลอดมา โดยปัจจุบัน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 กำหนดอายุความคดีแพ่งไว้ในมาตรา 63 ส่วนมาตรา 66 มิได้กำหนดอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 หมวด 9 ว่าด้วยอายุความมาใช้กับความผิดในคดีนี้ ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 28, 29, 69, 74, 75 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91 สั่งจ่ายค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมมีว่า ความผิดตามคำฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แบ่งเป็นอายุความฟ้องคดีแพ่งซึ่งบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 63 ว่า “ห้ามมิให้ฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงเมื่อพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่เจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง” ส่วนอายุความฟ้องคดีอาญา พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 66 บัญญัติว่า “ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นความผิดอันยอมความได้” อายุความฟ้องคดีอาญาจึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 มาใช้บังคับ เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องในข้อ 2 (ข) ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามมิใช่เพื่อการค้าหรือหากำไร และคำขอท้ายฟ้องระบุว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 28, 29, 69, 74, 75 และ 76 จึงต้องใช้ระวางโทษตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท” ดังนั้น อายุความในคดีนี้จึงเป็นอายุความฟ้องคดีอาญาสำหรับความผิดต้องระวางโทษอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่โทษจำคุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) มีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2552 แต่โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องและได้ตัวจำเลยทั้งสามมายังศาลเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2555 คำฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง จึงขาดอายุความแล้ว ที่โจทก์ร่วมอ้างในอุทธรณ์ว่า คำว่า “คดีละเมิดลิขสิทธิ์” ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 63 ใช้บังคับได้ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ไม่อาจตีความอย่างแคบว่าใช้บังคับเฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น เนื่องจากไม่มีมาตราใดที่บัญญัติว่าใช้มาตรา 63 ดังกล่าวกับคดีแพ่งเท่านั้น และมาตรา 63 อยู่ในหมวดเดียวกับมาตรา 62 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่าใช้บังคับทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา คือ หมวด 6 ว่าด้วยคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง เมื่อมาตรา 63 เป็นบทบัญญัติต่อเนื่องจากมาตรา 62 ย่อมต้องมีความประสงค์เช่นเดียวกับมาตรา 62 ว่าประสงค์ให้ใช้บังคับทั้งคดีแพ่งและคดีอาญานั้น เห็นว่า หากเทียบเคียงพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 กับกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับก่อนหน้านั้นจะพบว่ากฎหมายแยกอายุความคดีแพ่งและคดีอาญาออกจากกันมาโดยตลอด กล่าวคือ พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 มาตรา 24 บัญญัติเกี่ยวกับอายุความคดีแพ่งว่า “คดีละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ท่านมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสามปีนับแต่วันละเมิด” มาตราดังกล่าวอยู่ในส่วนที่ 4 ว่าด้วย สิทธิแก้ในทางแพ่งซึ่งการละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วนอายุความคดีอาญาอยู่ในมาตรา 27 ที่บัญญัติว่า “คดีละเมิดตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ท่านว่าให้ฟ้องได้ต่อเมื่อเจ้าทุกข์ว่ากล่าวขึ้น” มาตราดังกล่าวอยู่ในส่วนที่ 5 ว่าด้วยบทกำหนดโทษ ส่วนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 อายุความคดีแพ่งอยู่ในมาตรา 29 ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้ฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์เมื่อพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่เจ้าของลิขสิทธิ์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์” มาตราดังกล่าวอยู่ในหมวด 4 ว่าด้วย การละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วนอายุความคดีอาญามีมาตรา 48 บัญญัติว่า “ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นความผิดอันยอมความได้” มาตราดังกล่าวอยู่ในหมวด 7 ว่าด้วย บทกำหนดโทษ จึงกล่าวได้ว่าในเรื่องคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยบัญญัติแยกอายุความคดีแพ่งและคดีอาญาแยกจากกัน โดยในปัจจุบันพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 กำหนดอายุความคดีแพ่งหรือที่ใช้คำว่า “คดีละเมิดลิขสิทธิ์” ไว้ในมาตรา 63 ส่วนมาตรา 66 มิได้กำหนดอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ จึงตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 ซึ่งให้นำบทบัญญัติในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย ทำให้ต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 หมวด 9 ว่าด้วยอายุความมาใช้กับความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ในคดีนี้ ข้ออ้างของโจทก์ร่วมรับฟังไม่ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมขาดอายุความและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share