แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 กับพวกได้รวมกลุ่มคัดค้านด้วยความสงบโดยปราศจากอาวุธและมิได้ใช้กำลังประทุศร้ายใด ๆ ได้พยายามที่จะขจัดความเดือนร้อนด้วยการยื่นข้อเรียกร้องในทางรัฐบาลและผู้เสียหายลงไปแก้ปัญหาแล้ว โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวก็สมเหตุสมผลและเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีอยู่จริง แต่ไม่เป็นผลและไม่เคยได้รับคำตอบจากรัฐบาลจำเลยและผู้เสียหาย ทั้งตามพฤติการณ์ในขณะนั้นก็ไม่มีวิธีการอื่นใดเลยที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะพึงกระทำได้โดยชอบเพราะการสร้างเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำและระเบิดหินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยตรงกำลังดำเนินอยู่อย่างชัดแจ้ง หากกระทำไปแล้วย่อมยากแก่การแก้ไขให้กลับสู่สภาพเดิมได้ จึงถือเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การกระทำของจำเลยที่ 2 และพวกแม้เป็นการมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานบอกให้เลิกไม่ยอมเลิกตาม ป.อ. มาตรา 215, 216 และร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 ก็เป็นการกระทำด้วยความจำเป็นที่ต้องรวมกลุ่มกันและเข้ายึดพื้นที่ที่มีการสร้างเขื่อน จึงจะสามารถระงับยับยั้งภยันตรายดังกล่าวได้ และการกระทำของจำเลยที่ 2 กับพวกปราศจากอาวุธและมิได้ใช้ความรุนแรงใด ๆ ก็เป็นการพอสมควรแก่เหตุ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 67
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์และเรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในทั้งสองสำนวนว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 136, 215, 216, 326, 328, 362, 365
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 362, 365 และนับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษของจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 697/2537 และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 897/2537 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการเขต 3 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมาย รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ในระหว่างที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้เสียหาย ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนและอาคารสถานที่ตามโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูลในเนื้อที่ประมาณ 700 ไร่ครอบคลุมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำมูล บริเวณหมู่บ้านหัวเหว่ หมู่ที่ 4 ตำบลโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี และอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ โดยว่าจ้างบริษัทเวียนินี่ไทย จำกัด ดำเนินการก่อสร้าง จำเลยที่ 2 เข้าร่วมกับกลุ่มผู้คัดค้านประมาณ 300 คน ถึง 500 คน เข้าไปในเขตพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนและอาคารของผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายมิได้ยินยอมและกล่าวโจมตีการสร้างเขื่อนของผู้เสียหาย ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 10 มีนาคม 2551 ว่า ผู้เสียหายประสงค์ขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดข้อหาหมิ่นประมาทและไม่ติดใจเอาความข้อหาอื่นอีกต่อไปแล้ว เช่นนี้ สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหาหมิ่นประมาทที่เป็นการกระทำต่อผู้เสียหายจึงระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองเมื่อเจ้าพนักงานบอกให้เลิกไม่ยอมเลิก ร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืนและร่วมกันดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 2 กับพวกพาประชาชนมากถึงประมาณ 500 คน เข้าไปยึดเต็นท์ สะพานและไม่ยอมออกไป เป็นการประสงค์ต่อผลและเล็งเห็นผลเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขและทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และการกล่าวโจมตีร้อยตำรวจตรีสยุมภู และร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์ว่า ตำรวจเป็นขอทานข้างถนน ตำรวจอยู่ใต้อำนาจเงินและตำรวจเก่งแต่พูด จึงเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงาน มิใช่เป็นการกระทำไปโดยไม่มีเจตนากระทำความผิดนั้น เห็นว่า ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่เป็นการกระทำต่อร้อยตำรวจตรีสยุมภูและร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์นั้น คงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ว่า ระหว่างการชุมนุมคัดค้านผู้ที่เป็นแกนนำได้กล่าวโจมตีผู้เสียหายและเจ้าพนักงานตำรวจผ่านเครื่องขยายเสียง แต่ไม่มีพยานโจทก์ปากใดยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ได้กล่าวถ้อยคำหรือร่วมกับพวกคนใดกล่าวถ้อยคำอย่างไรที่เป็นการดูหมิ่นร้อยตำรวจตรีสยุมภูและร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกับพวกดูหมิ่นร้อยตำรวจตรีสยุมภูและร้อยตำรวจตรีสุรศักดิ์ เจ้าพนักงานตามฟ้อง
ส่วนความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองเมื่อเจ้าพนักงานบอกให้เลิกไม่ยอมเลิกและร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน เห็นว่า ผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองบริเวณที่เกิดเหตุเพื่อการสร้างเขื่อนปากมูล โดยได้สร้างรั้วเป็นแนวเขตชัดเจน แม้การสร้างเขื่อนของผู้เสียหายส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน แต่การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกประมาณ 500 คน ฝ่าแนวตั้งรับของเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานรักษาความปลอดภัยของผู้เสียหายเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวแล้วยึดพื้นที่บางส่วนไว้ ดังปรากฏตามภาพถ่ายจนมีผลทำให้ผู้เสียหายและบริษัทเวียนินี่ไทย จำกัด ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างและระเบิดหินในช่วงนั้นได้ เห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำไปโดยรู้สำนึกในการกระทำและประสงค์ต่อผลเพื่อขัดขวางการสร้างเขื่อนของผู้เสียหายโดยตรง ทั้งจำเลยที่ 2 ย่อมต้องรู้ดีว่าการกระทำของคนจำนวนมากเช่นนี้เป็นการทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและยังเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการครอบครองพื้นที่ของผู้เสียหาย จึงหาใช่ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิดดังศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ แต่อย่างไรก็ตาม แม่น้ำมูลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนจำนวนมากได้ใช้สอยเพื่อการเกษตรกรรมและประมงพื้นบ้านมาเป็นเวลาช้านาน และยังคงเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนในพื้นที่จะใช้สอยและหาประโยชน์จากแม่น้ำมูลเพื่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีพเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมืองสืบต่อไปได้ มิใช่เป็นสิทธิของบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดโดยเฉพาะ การที่ผู้เสียหายจะเข้าไปดำเนินการก่อสร้างเขื่อนตามโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูลซึ่งต้องมีการปิดกั้นทางเดินของน้ำในแม่น้ำมูลและระเบิดหินในอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะเพื่อขยายร่องน้ำ อันทำให้ธรรมชาติต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายนั้น ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่และตลอดลำแม่น้ำมูลในหลาย ๆ ด้านอย่างมากด้วยเช่นกัน จึงควรที่ต้องมีการศึกษาผลได้ผลเสียอย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจดำเนินการ มิใช่มุ่งประโยชน์ด้านพลังงานไฟฟ้าเพียงด้านเดียว โดยไม่นำพาต่อความเดือนร้อนของประชาชนที่ต้องได้รับผลกระทบดังกล่าว แต่จากทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้ศึกษามาเป็นอย่างดีแล้วว่าการสร้างเขื่อนจะไม่ส่งผลกระทบเสียหายต่อวิถีชีวิตประชาชนแต่ประการใด โดยการเคลื่อนไหวของจำเลยที่ 2 กับพวกดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหน้าวันเกิดเหตุนานพอสมควร โดยนายเสนีย์ นายอำเภอโขงเจียมเบิกความว่า พยานรับรายงานและเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้คัดค้านตั้งแต่ที่มีการรวมกลุ่มกันที่อำเภอพิบูลมังสาหาร วันแรกที่กลุ่มผู้คัดค้านเข้าไปที่หมู่บ้านหัวเหว่ พยานกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้เข้าเจรจากับจำเลยที่ 2 และพวกซึ่งเป็นแกนนำ ทำให้พยานทราบว่ากลุ่มผู้คัดค้านมีเจตนาหลักเรื่องค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกน้ำท่วมและค่าชดเชยผลกระทบจากการประกอบอาชีพมากกว่าต่อต้านการสร้างเขื่อน และนายเสนีย์ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านอีกว่า ก่อนที่จะมีการรวมตัวกันที่แก่งสะพือชาวบ้านได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อทางราชการก่อนแล้วแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่สามารถแก้ไขให้ได้เพราะไม่มีอำนาจ รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบและผู้ว่าการของผู้เสียหายก็ไม่ลงไปแก้ไขปัญหา พยานเห็นว่ากลุ่มผู้คัดค้านเข้าไปยึดเขื่อนก็เพื่อการต่อรองให้ผู้มีอำนาจลงไปแก้ไขปัญหาตามที่เรียกร้องโดยตรง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่ลงไปเจรจากับกลุ่มผู้คัดค้านเสียแต่ต้น สอดคล้องกับที่ได้ความจากนายนภ ซึ่งรับมอบหมายจากผู้เสียหายให้ไปดูแลเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดว่า การชุมนุมในครั้งนี้เป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้เสียหายลงไปแก้ปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มผู้คัดค้าน แต่นายสาวิตต์ รัฐมนตรีซึ่งกำกับดูแลผู้เสียหายในขณะนั้นไม่เคยไปเข้าร่วมเจรจาและก่อนการชุมนุมในเดือนธันวาคม 2536 กลุ่มชาวบ้านเคยร้องเรียนผู้เสียหายว่าบริเวณหัวงานที่มีการก่อสร้างยังมีที่ดินและบ้านของชาวบ้านที่ยังไม่ได้เวนคืนและได้รับผลกระทบจากการระเบิดหินทั้งเสียงรบกวนและเศษหินตกใส่บ้านเรือน หลังจากกลุ่มผู้คัดค้านเข้ายึดพื้นที่ ได้ความจากนายเสนีย์ว่า ร้อยตรีไมตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และนายสุทัศน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเข้าเจรจากับกลุ่มผู้คัดค้านก็ยังคงเป็นผู้ที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้คัดค้าน อันแสดงว่ารัฐบาลและผู้เสียหายมุ่งแต่จะสร้างเขื่อนโดยปกปิดความจริงและมิได้ใส่ใจต่อความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนจำเลยที่ 2 กับพวกซึ่งรวมกลุ่มกันคัดค้านด้วยความสงบโดยปราศจากอาวุธและมิได้ใช้กำลังประทุษร้ายใด ๆ ได้พยายามที่จะขจัดความเดือดร้อนด้วยการยื่นข้อเรียกร้องให้ทางรัฐบาลและผู้เสียหายลงไปแก้ไขปัญหาแล้ว ดังปรากฏตามใบปลิวโดยข้อเรียกร้องดังกล่าวก็สมเหตุสมผลและเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีอยู่จริง แต่ไม่เป็นผลและไม่เคยได้รับคำตอบจากรัฐบาลและผู้เสียหาย ทั้งตามพฤติการณ์ในขณะนั้นก็ไม่มีวิธีการอื่นใดเลยที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะพึงกระทำได้โดยชอบเพราะการสร้างเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำและระเบิดหินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นการทำลายระบบนิเวศน์สายน้ำโดยเฉพาะพันธุ์ปลาหลากหลายชนิดที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยตรงกำลังดำเนินอยู่อย่างชัดแจ้ง หากกระทำไปแล้วย่อมยากแก่การแก้ไขให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ จึงถือเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การกระทำของจำเลยที่ 2 และพวกแม้เป็นการมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานบอกให้เลิกไม่ยอมเลิกและร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืนก็เป็นการกระทำด้วยความจำเป็นที่ต้องรวมกลุ่มกันและเข้ายึดพื้นที่ที่มีการสร้างเขื่อน จึงจะสามารถระงับยับยั้งภยันตรายดังกล่าวได้ และการกระทำของจำเลยที่ 2 กับพวกที่ปราศจากอาวุธและมิได้ใช้ความรุนแรงใด ๆ ก็เป็นการพอสมควรแก่เหตุ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน