คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1812/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขาดแรงงานในครอบครัวเป็นการขาดไร้อุปการะอย่างหนึ่ง ก่อนตายผู้ตายและโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นสามีประกอบกิจการร้านอาหารร่วมกับ ป. โดยผู้ตายทำหน้าที่ดูแลร้านอาหาร ถือได้ว่าผู้ตายเป็นผู้ทำการงานในครัวเรือนให้แก่โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนการขาดแรงงานในครอบครัวได้ด้วย
ค่าอาหารเลี้ยงดูแขกที่มาร่วมงานศพกับค่าของและเงินถวายพระเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพ
ค่าสินไหมทดแทนการขาดไร้อุปการะและค่าสินไหมทดแทนการขาดแรงงานเป็นหนี้เงินที่จะต้องชำระทันที จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำละเมิดซึ่งเป็นวันผิดนัด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางจรูญ ยศวิจิตรหรือพะก่าพันธ์หรือผกาพันธ์ ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน ๑ คน คือโจทก์ที่ ๒ โจทก์ที่ ๓ และโจทก์ที่ ๔เป็นบิดามารดาของผู้ตาย จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ จำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ โดยเป็นพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทางรับส่งผู้โดยสารในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๙จำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ ๑ ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๑ ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ ๒ ขับพุ่งชนรถจักรยานยนต์ซึ่งมีนางสุพีร์ อุปนันท์ เป็นผู้ขับ และมีนางจรูญนั่งซ้อนท้าย รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย นางสุพีร์ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย นางจรูญถึงแก่ความตาย และด้วยผลแห่งการละเมิดที่จำเลยที่ ๒ ก่อขึ้นทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์ที่ ๑ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการศพนางจรูญเป็นเงิน ๔๑,๑๓๗ บาท ค่าขาดแรงงานในครอบครัวเป็นเงิน ๑๐๒,๐๐๐ บาท แต่ขอคิดเพียง ๘๐,๐๐๐ บาท และทำให้โจทก์ทั้งสี่ขาดไร้ผู้อุปการะเลี้ยงดู ขอคิดค่าขาดไร้อุปการะสำหรับโจทก์ที่ ๑ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท สำหรับโจทก์ที่ ๒จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท สำหรับโจทก์ที่ ๓ และโจทก์ที่ ๔ จำนวน ๑๘๐,๐๐๐ บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสี่เป็นเงิน ๕๐๑,๑๒๗ บาท แต่โจทก์ทั้งสี่ขอเรียกจากจำเลยทั้งสองเพียง ๕๐๐,๐๐๐ บาทขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นมิใช่ความประมาทของจำเลยที่ ๒ แต่เป็นความประมาทของนางสุพีร์ โจทก์ที่ ๑ ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานในครอบครัว เพราะซ้ำซ้อนกับค่าขาดไร้อุปการะ ค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องมานั้นมากเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาท แต่เหตุเกิดขึ้นเพราะความผิดของนางสุพีร์ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องมาเป็นค่าเสียหายสูงเกินฐานะความเป็นอยู่ทางสังคมของผู้ตาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน ๒๕๘,๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทของจำเลยที่ ๒ ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนสำหรับค่าขาดแรงงานในครอบครัวเพราะได้เรียกค่าสินไหมทดแทนการขาดไร้อุปการะแล้วนั้น เห็นว่าการขาดแรงงานในครอบครัวเป็นการขาดไร้อุปการะอย่างหนึ่ง คดีได้ความว่าก่อนตายผู้ตายและโจทก์ที่ ๑ มีกิจการร้านอาหารร่วมกับนางประทุม โดยผู้ตายทำหน้าที่ดูแลร้านอาหารถือได้ว่าผู้ตายเป็นผู้ทำการงานในครัวเรือนให้แก่โจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ จึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนการขาดแรงงานในครอบครัวได้ด้วย
ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ค่าอาหารเลี้ยงดูแขกที่มาร่วมงานศพกับค่าของและเงินถวายพระไม่ใช่ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นนั้น เห็นว่า ตามประเพณีปฏิบัติกันทั่วไป ในวันสวดพระอภิธรรมจะมีการเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มแก่แขกผู้มาร่วมงานกับต้องถวายของและเงินแก่พระภิกษุที่สวดพระอภิธรรมในแต่ละคืน สำหรับวันฌาปนกิจศพก็จะมีการถวายผ้าบังสุกุลแก่พระภิกษุ มีการเลี้ยงเครื่องดื่มแก่แขกผู้มาร่วมงาน จึงถือได้ว่าค่าอาหารและเครื่องดื่มตลอดจนค่าของและเงินถวายพระภิกษุเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดการศพของผู้ตาย
ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์ไม่ควรได้ดอกเบี้ยสำหรับค่าสินไหมทดแทนการขาดไร้อุปการะและการขาดค่าแรงงาน เพราะเป็นเงินที่พึงได้ในอนาคตนั้น เห็นว่าค่าสินไหมทดแทนการขาดไร้อุปการะและค่าสินไหมทดแทนการขาดแรงงานนั้น เป็นหนี้เงินที่จำเลยที่ ๑ จะต้องชำระทันที จำเลยที่ ๑ จึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด คือวันที่เกิดการทำละเมิดเป็นต้นไป แต่โจทก์ขอเรียกตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องซึ่งเป็นผลดีแก่จำเลยอยู่แล้ว
พิพากษายืน.

Share