แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างมิได้กำหนดว่ากรณีลูกจ้างทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันเป็นกรณีร้ายแรงสถานเดียว การที่กรรมการลูกจ้างทั้งสองทะเลาะวิวาททำร้ายกับเพื่อนร่วมงานที่บริเวณหน้าห้องน้ำ และไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง แม้จะผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างก็มิใช่กรณีร้ายแรงถึงขั้นที่จะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างได้
ย่อยาว
ผู้ร้องทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านทั้งสองทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นขณะปฏิบัติงาน เป็นการผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแต่ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้รับความเสียหาย ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสองฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง ยังไม่มีเหตุสมควรให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านทั้งสองกระทำผิดเพียงทะเลาะวิวาททำร้ายกัน เหตุเกิดบริเวณหน้าห้องน้ำซึ่งอยู่ใกล้กับแผนกถอดด้าย ไม่ปรากฏว่าการกระทำของผู้คัดค้านทั้งสองก่อให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายอย่างใด ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสองฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องในกรณีร้ายแรงนั้น ผู้ร้องไม่เห็นด้วยเพราะการกระทำผิดของพนักงานจนถึงขั้นก่อให้เกิดความเสียหายของแต่ละบริษัทย่อมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกิจการและความเหมาะสม เมื่อผู้ร้องกำหนดเป็นระเบียบแยกความผิดที่ร้ายแรงและไม่ร้ายแรงแล้วพนักงานยินยอมอยู่ในระเบียบดังกล่าว พนักงานก็ต้องอยู่ภายในระเบียบที่ผู้ร้องกำหนดขึ้น จะรอให้ได้รับความเสียหายก่อนจึงลงโทษเลิกจ้างย่อมไม่คุ้มกัน และตามระเบียบข้อบังคับกำหนดว่า การทะเลาะวิวาทเป็นกรณีร้ายแรง ขอให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เห็นว่า การที่ผู้คัดค้านทั้งสองทะเลาะวิวาททำร้ายกับพนักงานอื่นของผู้ร้องแต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องจะผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องในกรณีร้ายแรงจนผู้ร้องอาจเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองได้หรือไม่นั้น มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องเอกสารหมาย ร.4 ข้อ 6.12 ระบุว่า
“ลูกจ้างต้องไม่ทะเลาะวิวาท หรือทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันหรือกับบุคคลอื่นในบริเวณที่ทำงานหรือโรงงานที่นายจ้างจัดให้”
“ลูกจ้างผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกพิจารณาลงโทษโดยกล่าวด้วยวาจาตักเตือนเป็นหนังสือ ตัดค่าจ้าง ลดค่าจ้าง ให้พักงาน หรือให้ออกจากงานตามที่เห็นสมควร” เช่นนี้ แสดงว่าผู้ร้องก็มิได้กำหนดว่า กรณีลูกจ้างทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันเป็นกรณีร้ายแรงสถานเดียว จึงได้วางบทลงโทษตั้งแต่กล่าวด้วยวาจา ตักเตือนเป็นหนังสือ ตัดค่าจ้าง ลดค่าจ้าง ให้พักงาน จนถึงให้ออกจากงานตามที่เห็นสมควร ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านทั้งสองทะเลาะวิวาททำร้ายกับเพื่อนร่วมงานที่บริเวณหน้าห้องน้ำ และไม่ปรากฏว่าได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องแต่อย่างใด แม้จะผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องก็มิใช่กรณีร้ายแรงถึงขั้นที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสองได้ จึงยังไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง คำสั่งของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว”
พิพากษายืน