คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1811/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์ไม่เคยทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาประนีประนอมยอมความให้ไว้กับโจทก์ ลายมือชื่อในสัญญารับสภาพหนี้และสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลย แต่นำสืบว่าได้ลงชื่อในสัญญากู้กับสัญญารับสภาพหนี้และสัญญาประนีประนอมยอมความจริง แต่ทำไปเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาถูกนาย ว. หลอกลวง ทางนำสืบของจำเลยต่างกับคำให้การจึงรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ การฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์หรือไม่เป็นเรื่องโจทก์ จำเลยต่างมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ตามคำฟ้องและคำให้การ เมื่อข้อต่อสู้ของจำเลยรับฟังไม่ได้และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่จริง จึงมีข้อพิจารณาต่อไปว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 14 และมาตรา 9 หรือไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ ต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 22 มิถุนายน 2524รับว่าเป็นหนี้โจทก์ 6,175,070 บาท ยอมผ่อนชำระให้รวม 58 งวดจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เพียงสองงวดเป็นเงิน 140,000 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ คงค้างชำระต้นเงิน 6,035,070 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อปี นับแต่วันที่ผิดนัดคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2524เป็นเงิน 4,927,262.23 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวสองครั้ง มีระยะเวลาห่างกันเกินกว่าสามสิบวัน จำเลยได้รับหนังสือทวงถามแล้วทั้งสองครั้งแต่ไม่ชำระหนี้ แสดงว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์ไม่เคยทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาประนีประนอมยอมความให้ไว้กับโจทก์ลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลยฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเป็นหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้และสัญญาประนีประนอมยอมความและไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลย สำหรับค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นขึ้นมาสู่ศาลฎีกาว่า จำเลยกู้ยืมเงินและทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่าจำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยกู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์ ไม่เคยทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาประนีประนอมยอมความให้ไว้กับโจทก์ ลายมือชื่อในสัญญารับสภาพหนี้และสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลยแต่ทางนำสืบจำเลยรับว่าได้ลงชื่อในสัญญากู้กับหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาประนีประนอมยอมความจริง แต่ทำไปเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาถูกนายวรทรรศน์ หลอกลวง ทางนำสืบของจำเลยต่างกับคำให้การจึงรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ อย่างไรก็ตามทางนำสืบดังกล่าวของจำเลยเจือสมกับพยานโจทก์ ว่าจำเลยเป็นผู้ทำสัญญากับทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามเอกสารหมาย จ.5 จริง ที่จำเลยนำสืบว่าลงชื่อในสัญญากู้ สัญญารับสภาพหนี้และสัญญาประนีประนอมยอมความเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาถูกนายวรทรรศน์หลอกลวงนั้นฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.5
ที่จำเลยฎีกาต่อไปว่าจำเลยนำสืบเพื่อให้ได้ความจริงตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 เป็นการสนับสนุนคำให้การของจำเลย แสดงว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ เห็นว่าการจะฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์หรือไม่เป็นเรื่องโจทก์จำเลยต่างมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ตามคำฟ้องและคำให้การเมื่อข้อต่อสู้ของจำเลยรับฟังไม่ได้และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้อยู่จริง จึงมีข้อพิจารณาต่อไปว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 14 และมาตรา 9 หรือไม่ ซึ่งคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท เป็นหนี้กำหนดจำนวนได้แน่นอนและถึงกำหนดชำระแล้ว กับได้ความต่อไปว่าจำเลยมีเพียงเงินเดือน เดือนละ 5,000 บาท ไม่มีทรัพย์อื่นใดอีกจึงมีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้สิน ฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่มีเหตุอื่นที่แสดงว่าไม่สมควรให้จำเลยล้มละลาย ศาลย่อมมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดได้
พิพากษายืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้แต่งทนายแก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share