คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์คำร้องซึ่งมีข้อความเสียดสีศาลย่อมตระหนักในข้อความตามคำร้องเป็นอย่างดี จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในคำร้อง การที่ทนายความของโจทก์ไม่ได้ตรวจคำร้องก่อนที่โจทก์จะนำมายื่นต่อศาลไม่เป็นเหตุที่ยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวได้ และไม่อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องผิดพลาดและผิดหลง การที่โจทก์ขอถอนคำร้องซึ่งมีข้อความเสียดสีศาล หาทำให้ข้อความตามคำร้องที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลหมดไปโดยการถอนคำร้องไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 31(1) ไม่ได้บัญญัติว่าความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจะต้องเป็นกรณีที่ศาลเตือนแล้วจึงจะถือว่ามีเจตนาละเมิดอำนาจศาล.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกบ้านซึ่งโจทก์เป็นผู้ครอบครองเพื่อแบ่งการครอบครองจากโจทก์และทำลายทรัพย์ของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นมีใจความว่า คดีนี้ผู้รับผิดชอบสำนวนไม่ยอมบันทึกข้อความตามที่โจทก์เบิกความ แต่กลับบันทึกโดยนำไปตกแต่งเพิ่มเติม จนน่าจะเป็นการเบิกความเสียเองของศาลที่พยายามปั้นข้อเท็จจริงขึ้นใหม่และปกปิดความผิดของจำเลยตามฟ้องของโจทก์โดยไม่ยอมบันทึกข้อความที่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ ทั้งคอยแต่จะขอเลื่อนคดีให้จำเลยจ้องแต่รักษาประโยชน์ให้แก่จำเลยอย่างนอกหน้าออกตาจนเป็นที่น่าเกลียดโจทก์มาฟ้องต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลสถิตยุติธรรม ผู้ทำหน้าที่จึงต้องรักษากิริยาอันดีทำตัวเป็นกลาง ไม่กลั่นแกล้งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดและรักษาวินัยข้าราชการตุลาการกฎหมาย อย่างเคร่งครัด และจะต้องรักษาความยุติธรรม ถึงแม้จะรับราชการมานาน มีชั้นเชิงแพรวพราวแต่จะใช้ชั้นเชิงนั้นเพื่อมิให้เกิดความยุติธรรม โดยพยายามเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ขอคัดค้านผู้รับผิดชอบสำนวนตามมาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของโจทก์แล้วเห็นว่า ข้อความที่โจทก์กล่าวไว้ในคำร้องเป็นข้อความที่ฟุ่มเฟือย เสียดสีศาลถือได้ว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 31(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ย่อมมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ในฐานที่ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลให้ลงโทษจำคุกโจทก์มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 500 บาทให้รอการลงโทษจำคุกโจทก์ไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า คำร้องของโจทก์ที่ก่อให้เกิดปัญหานี้ไม่ได้ผ่านการตรวจจากทนายความของโจทก์เป็นเรื่องผิดพลาดหรือผิดหลงจึงไม่เป็นความผิดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) นั้น เห็นว่าโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์คำร้องเอง ย่อมตระหนักในข้อความตามคำร้องเป็นอย่างดี จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในคำร้อง การที่ทนายความของโจทก์ไม่ได้ตรวจคำร้องเสียก่อนที่โจทก์จะนำมายื่นต่อศาลชั้นต้นไม่เป็นเหตุที่ยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวได้ และไม่อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องผิดพลาดและหลงผิดแต่อย่างใดสำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์เพิกถอนคำร้องอันเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาแล้วในทันที กรณีจึงเป็นยุติเพราะศาลชั้นต้นอนุญาตแล้วเห็นว่า การที่โจทก์ขอถอนคำร้องดังกล่าวหาทำให้ข้อความตามคำร้องที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลหมดไปโดยการถอนคำร้องไม่ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ต้องเป็นกรณีที่ศาลเตือนแล้ว แต่ยังคงดื้อรั้นประพฤติต่อไปอีกตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 235/2514 ระหว่างนายอุดม เจริญพัฒน์ โจทก์ร้อยตำรวจเอกผล พิทักษ์ถิ่น กับพวก จำเลย นั้น เห็นว่าคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวมิได้วินิจฉัยว่าความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ต้องเป็นกรณีที่ศาลเตือนแล้ว จึงจะถือว่ามีเจตนาละเมิดอำนาจศาลดังที่โจทก์อ้าง ความผิดตามกฎหมายมาตราดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้กับทั้งไม่อาจตีความได้ว่า ที่จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อศาลเตือนแล้วแต่ยังคงกระทำต่อไปอีก ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share