คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4725/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนเรือซาอุดี เย็นโบ ในการลากจูงเรือออกจากท่าเรือของโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองเรือไม่ได้เป็นผู้ควบคุมและสั่งการเดินเรือเมื่อเกิดเหตุเรือชนท่าเรือของโจทก์ กรณีละเมิดดังกล่าวมิได้เกิดจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด
ปรากฏตามคำร้องขอเช่าเรือลากจูงจากโจทก์ของจำเลยที่ 2 ว่า”ข้าพเจ้ายอมเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องในการลากจูงนี้ และไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากการท่าเรือแห่งประเทศไทยในกรณีที่มีการเสียหายเกิดขึ้นแก่เรือที่ถูกลากจูง ไม่ว่าในกรณีใด ๆ” ซึ่งหมายความว่า หากการลากจูงนั้นเกิดความเสียหายอย่างใด ๆ ขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชอบแต่ถ้าหากการลากจูงนั้นเกิดความเสียหายอย่างใด ๆ ขึ้นแก่เรือที่ถูกลากจูงซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนอยู่ จำเลยที่ 2 ก็ดีฝ่ายเรือที่ถูกลากจูงก็ดี ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์หรือไม่จึงต้องดูที่ว่าความเสียหายเกิดจากการลากจูงหรือไม่เมื่อปรากฏว่าความเสียหายเกิดขึ้นขณะที่เรือลากจูงดันเรือซาอุดี เย็นโบ เข้าเทียบท่าเนื่องจากเครื่องยนต์ดับ การลากจูงยังไม่เสร็จสิ้นยังไม่พ้นจากท่าเรือของโจทก์ ขณะดัน เรือเข้าเทียบท่ายังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบของเรือลากจูง ฉะนั้น การที่เรือลากจูงดันเรือซาอุดี เย็นโบเข้าเทียบท่าไปกระทบปั้นจั่นและโรงพักของโจทก์เสียหาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องในการลากจูงซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบตามคำร้องขอเช่าหรือลากจูงซึ่งโจทก์ตกลงด้วยแล้ว คำร้องดังกล่าวถือเป็นสัญญาผูกพันจำเลยที่ 2 ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องขอนำเรือสินค้าชื่อเน็ดลอยด์โคเรีย (M.S.NEDLLOYD KOREA) เข้าท่าภายในบริเวณท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งเป็นเขตในความควบคุมของโจทก์ จำเลยที่ ๑ได้นำเรือเข้าเทียบท่าดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาเช่าเรือลากจูงกับโจทก์โดยยื่นคำร้องขอเช่าเรือลากจูงของ โจทก์เพื่อทำการลากจูงเรือเน็ดลอยด์โคเรีย อันเป็นยานพาหนะซึ่งเดินด้วยเครื่องจักรกลที่จอดอยู่ออกจากท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งขณะนั้นเปลี่ยนชื่อเป็นซาอุดีเย็นโบ (SADI YENBO)ในคำร้องระบุว่าจำเลยที่ ๒ ยอมรับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการลากจูง โจทก์ได้ตอบสนองคำร้องขอของจำเลยที่ ๒ โดยตกลงให้จำเลยที่ ๒ เช่าเรือลากจูงตามคำขอของจำเลยที่ ๒ และในขณะที่เรือลากจูงของโจทก์กำลังลากจูงเรือซาอุดีเย็นโบ เพื่อออกจากท่าเรือกรุงเทพนายเรือและช่างเรือซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ตรวจสอบและดูแลได้ควบคุมเรือด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังไม่ได้ตรวจตราเครื่องยนต์ของ เรือให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานได้เป็นอย่างดีทำให้เครื่องยนต์ของเรือเกิดดับขณะแล่นออกจากท่า เรือลากจูงของโจทก์ซึ่งได้เข้าลากจูงไม่สามารถบังคับเรือซึ่งเครื่องยนต์ดับใช้การไม่ได้ให้อยู่ในทิศทางที่ต้องการได้ เรือจึงลอยเข้าฝั่งและชนปะทะปั้นจั่นและโรงพักสินค้าของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเสียหายและโจทก์ขาดประโยชน์จากการให้เช่าปั้นจั่น ดังกล่าวตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันซ่อมเสร็จ ค่าเสียหายและขาดประโยชน์รวม ๑,๐๕๖,๐๘๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๖ ถึงวันฟ้องเป็นเงิน๘๕,๘๐๖.๙๐ บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายและดอกเบี้ยนับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๖ ถึงวันฟ้องรวม ๑,๑๔๑,๘๙๑.๙๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน๑,๐๕๖,๐๘๕ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำคำร้องขอนำเรือสินค้าชื่อเน็ดลอยด์โคเรีย (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเรือซาอุดีเย็นโบ) เข้ามาในอาณาบริเวณท่าเรือกรุงเทพจริง โดยขณะนั้นจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนของเรือเน็ดลอยด์โคเรีย และในช่วงเวลาดังกล่าวก็มิได้เกิดความเสียหายใด ๆ แก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ติดต่อกับโจทก์และทำสัญญาเช่าเรือลากจูงของโจทก์ในฐานะตัวแทนเจ้าของเรือซาอุดีเย็นโบ เท่านั้น มิได้เป็นผู้ครอบครองหรือเกี่ยวข้องกับการควบคุม หรือสั่งการเดินเรือแต่เป็นอำนาจหน้าที่ของนายเรือและขณะเกิดเหตุเจ้าพนักงานนำรอง กรมเจ้าท่าเป็นผู้ควบคุมและสั่งการเดินเรือ เหตุเกิดจากการสั่งการของเจ้าพนักงานนำร่องที่สั่งให้ทิ้งสมออย่างกะทันหันและโจทก์จัดเรือลากจูงที่กำลังไม่เพียงพอไม่ได้เกิดเพราะเครื่องยนต์ไม่ดีหรือนายเรือหรือช่างเครื่องยนต์จำเลยที่ ๒ ทำสัญญารับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เรือสินค้าที่จำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนทำแก่เรือลากจูงของโจทก์เท่านั้น ไม่เคยให้สัญญาว่าจะรับผิดชอบในความเสียหายทุกกรณี จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๓๘๕,๘๓๕ บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๖ จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ ๑ กำหนดค่าทนายความ๔,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ประการแรกว่า จำเลยที่ ๒จะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ ปรากฏว่า จำเลยที่ ๒เป็นตัวแทนเรือซาอุดีเย็นโบ ตามภาพถ่ายคำร้องขอเช่าเรือลากจูงเอกสารหมาย จ.๑๑ ขณะที่เรือเข้าเทียบท่าหรือออกจากท่าจำเลยที่ ๒ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองเรือ ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมและสั่งการเดินเรือบริษัทซาอุดี อินเตอร์เนชั่นแนล ชิปปิ้ง หรือเรียกว่า เอส.ไอ.เอส.เป็นผู้ซื้อเรือลำนี้ ได้ส่งนายแอนเดรส เมตาซาส มาเป็นผู้รับมอบเรือศาลฎีกาเห็นว่ากรณีละเมิดตามฟ้องมิได้เกิดจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวแทนเรือซาอุดี เย็นโบ จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามคำร้องขอเช่าเรือลากจูง เอกสารหมาย จ.๑๑ หรือไม่เห็นว่า ตามคำร้องขอเช่าเรือลากจูง เอกสารหมาย จ.๑๑ มีข้อความว่า”ข้าพเจ้ายอมเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องในการลากจูงนี้ และจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในกรณีที่มีการเสียหายเกิดขึ้นแก่เรือที่ถูกลากจูง ไม่ว่าในกรณีใด ๆ” หมายความว่า หากการลากจูงนั้นเกิดความเสียหายอย่างใด ๆ ขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ ๒ ยอมรับผิดชอบ แต่ถ้าหากการลากจูงนั้นเกิดความเสียหายอย่างใด ๆ ขึ้นแก่เรือที่ถูกลากจูง ซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนอยู่ จำเลยที่ ๒ ก็ดีฝ่ายเรือที่ถูกลากจูงซึ่งจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนอยู่ก็ดี ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์หรือไม่จึงต้องดูที่ว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นเนื่องในการลากจูงหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่เรือลากจูงทั้งสองลำดัน เรือซาอุดีเย็นโบ เข้าเทียบท่าแล้วท้ายเรือซาอุดี เย็นโบ ไปกระทบปั้นจั่นและโรงพักสินค้าของโจทก์เสียหายนั้น เรือลากจูงทั้งสองลำดัน เรือซาอุดี เย็นโบออกจากหลักที่จอดเรือแล้ว และได้ล่วงหน้าไปรอตรงจุดที่เรือซาอุดี เย็นโบ จะกลับลำ แต่เนื่องจากเรือซาอุดี เย็นโบ เครื่องยนต์ดับ และลอยไปจนน่ากลัวว่าจะเกิดอันตราย นาวาโทชวลิต วรวิทย์จึงได้วิทยุให้เรือลากจูงทั้งสองลำมาดัน เรือซาอุดี เย็นโบ เข้าเทียบท่าเสียก่อน ดังนี้ จะเห็นได้ว่าขณะที่เรือลากจูงทั้งสองลำดัน เรือซาอุดี เย็นโบ เข้าเทียบท่านั้น การลากจูงยังไม่เสร็จสิ้นเพราะเรือลากจูงยังจะต้องไปดัน เรือซาอุดี เย็นโบ กลับลำอีกเรือซาอุดี เย็นโบ ยังไม่พ้นไปจากท่าเรือของโจทก์ ขณะที่ดัน เรือเข้าเทียบท่านั้นยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบของเรือลากจูง ฉะนั้น เมื่อเรือลากจูงทั้งสองลำดัน เรือซาอุดี เย็นโบเข้าเทียบท่าแล้วท้ายเรือซาอุดี เย็นโบ ไปกระทบกับปั้นจั่นและโรงพักสินค้าของโจทก์เสียหาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นถือได้ว่าเป็นความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องในการลากจูง ซึ่งจำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดชอบตามคำร้องขอเช่าเรือลากจูง เอกสารหมาย จ.๑๑ซึ่งเอกสารหมาย จ.๑๑ ดังกล่าวโจทก์ตกลงด้วยแล้ว เป็นสัญญาผูกพันจำเลยที่ ๒ ได้ คำร้องขอเช่าเรือลากจูง เอกสารหมาย จ.๑๑ ไม่มีข้อความตอนใดที่หมายความว่าจำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดเฉพาะในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเรือที่ถูกลากจูงทำความเสียหายแก่เรือลากจูงเท่านั้นตามที่จำเลยที่ ๒ เข้าใจและฎีกาขึ้นมา ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share