คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9380/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลทางธุรกิจของจำเลยนำเอกสารซึ่งข้อความในเอกสารเป็นศัพท์เฉพาะที่โจทก์แปลจากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทยเพื่อความสะดวกในการลงบัญชีและเพื่อชี้แจงหรือตอบคำถามของผู้สอบบัญชีเอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารสำคัญตามกฎหมายที่มีไว้สำหรับแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้เอกสารจะมีราคาทุนและราคาสินค้าอันเป็นข้อมูลทางธุรกิจการค้าของจำเลยที่ปกปิดมิให้บุคคลภายนอกล่วงรู้ แต่โจทก์ก็มิได้นำเอกสารดังกล่าวนี้ไปเผยแพร่ต่อบุคคลภายนอก การที่โจทก์นำเอกสารดังกล่าวซึ่งโจทก์ทำขึ้นออกไปนอกบริษัทจำเลยเพื่อประกอบการศึกษางานโดยมิได้นำไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่นที่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4)
ศาลแรงงานพิพากษาให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยในค่าชดเชยแก่ลูกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้มีคำขอมาในคำฟ้อง เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา52 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 22,400 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 63,000 บาท และค่าจ้างเป็นเงิน 20,300 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย 63,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานประกอบคำสั่งในประกาศของจำเลยมีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันข้อมูลที่บรรจุอยู่ในเอกสารรั่วไหลไปยังบุคคลภายนอก เอกสารหมาย ล.10 มีข้อมูลเกี่ยวกับราคาทุนและราคาสินค้า ซึ่งเป็นข้อมูลทางการค้าและธุรกิจของจำเลยอันจำเป็นต้องสงวนและปกปิดไม่ให้บุคคลภายนอกล่วงรู้ การที่โจทก์ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลทางธุรกิจของจำเลยนำเอกสารหมาย ล.10 จำนวนหลายร้อยแผ่นออกไปจากบริษัทจำเลยอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันธุรกิจการค้าของจำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ข้อความในเอกสารหมาย ล.10 เป็นศัพท์เฉพาะที่โจทก์แปลจากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทยเพื่อความสะดวกในการลงบัญชีและเพื่อชี้แจงหรือตอบคำถามของผู้สอบบัญชี เอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารสำคัญตามกฎหมายที่มีไว้สำหรับแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้เอกสารหมาย ล.10 จะมีราคาทุนและราคาสินค้าอันเป็นข้อมูลทางธุรกิจการค้าของจำเลยที่ปกปิดมิให้บุคคลภายนอกล่วงรู้ แต่โจทก์ก็มิได้นำเอกสารดังกล่าวนี้ไปเผยแพร่ต่อบุคคลภายนอก การที่โจทก์นำเอกสารหมาย ล.10 ซึ่งโจทก์ทำขึ้นออกไปนอกบริษัทจำเลยเพื่อประกอบการศึกษางานโดยมิได้นำไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่นที่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อนจึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในค่าชดเชยแก่โจทก์ด้วยโดยโจทก์ไม่ได้มีคำขอมาในคำฟ้องนั้น เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ย่อมไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในค่าชดเชยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share