แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การประกอบกิจการขนส่งของโจทก์นั้นโจทก์มีหัวรถพ่วงสำหรับลากจูง 3 คัน กระบะพ่วง 3 คัน รถกระบะหกล้อ 1 คัน และรถกระบะสี่ล้อ 1 คันในการค้าสินค้าวัสดุก่อสร้างของโจทก์ หากลูกค้าต้องการรับสินค้าจากโจทก์โดยตรงก็จะต้องชำระค่าสินค้าในราคาหนึ่ง แต่ถ้าลูกค้าต้องการจะรับสินค้าจากคลังสินค้าในเครือบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด จะมีราคาถูกกว่า ทั้งนี้โจทก์จะออกใบสั่งซื้อสินค้าให้แก่ลูกค้าเพื่อไปรับสินค้าเอง หากลูกค้าไม่มีรถที่จะไปรับของจากคลังสินค้าโดยตรงโจทก์จะนำรถบรรทุกของโจทก์ไปรับจ้างลูกค้าเพื่อขนส่งสินค้าจากคลังสินค้าไปส่งให้แก่ลูกค้าและในการมารับสินค้าจากคลังสินค้าที่กรุงเทพมหานคร โจทก์ต้องใช้รถเปล่าไปรับสินค้า ดังนั้น โจทก์จึงติดต่อห้างหุ้นส่วนจำกัด บ.เพื่อรับสินค้ายางพาราไปส่งยังกรุงเทพมหานคร และบริษัทโจทก์ไม่มีป้ายติดว่ารับจ้างขนส่งสินค้าทั่วไป ดังนี้ การที่โจทก์รับขนส่งสินค้าในกรณีที่ลูกค้าไม่มีรถไปบรรทุกสินค้าที่คลังสินค้าด้วยการนำรถของโจทก์เองไปบรรทุกสินค้าส่งให้แก่ลูกค้า และการที่โจทก์รับขนส่งสินค้ายางพาราจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปยังกรุงเทพมหานครนั้นเป็นการให้บริการเป็นครั้งคราว ไม่ใช่ประกอบกิจการขนส่งอย่างถาวร แม้จะฟังว่าโจทก์ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคล แต่กรณีดังกล่าวก็ถือเป็นการกระทำเพื่อการค้าหรือธุรกิจของโจทก์เอง จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร โจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา81 (1) (ณ) แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงต้องนำค่าขนส่งมารวมคำนวณเป็นฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย
ป.รัษฎากร มาตรา 89/1 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติในเรื่องของเงินเพิ่มที่จะต้องเสียไว้ 2 กรณี คือ ไม่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และวรรคสองบัญญัติให้การลดเงินเพิ่มนั้นสามารถกระทำได้ในกรณีที่อธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติให้ขยายเวลาเสียภาษีตามที่กำหนดในมาตรา 3 อัฏฐ แห่ง ป.รัษฎากรและได้ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้นั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าอธิบดีกรมสรรพากรได้อนุมัติให้ขยายเวลาเสียภาษีตามที่กำหนดไว้ในบทมาตราดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้งดเงินเพิ่มได้ จึงไม่มีเหตุที่จะลดหรืองดเพิ่มให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.๗๓.๑) ของจำเลยที่ ๑ เลขที่ ๘๒๔๙/๕/๑๐๐๑๔๖ ถึง ๘๒๔๙/๕/๑๐๐๑๗๐ลงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๗ รวม ๒๕ ฉบับ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.๗) ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เลขที่ ๘๒๔๙/๕/๑๐๐๑๕๗ ถึง ๘๒๔๙/๕/๑๐๐๑๘๑ ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๓๗ รวม ๒๕ ฉบับ หากศาลเห็นว่าโจทก์ต้องรับผิดในค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ขอให้พิจารณาลดเงินเพิ่มดังกล่าวทั้งหมดรวมเป็นเงิน ๕๖,๒๓๔.๒๒ บาท
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งในราชอาณาจักรอันจะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ประมวลรัษฎากร มาตรา ๘๑ บัญญัติว่า”ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(๑) การขายสินค้าที่มิใช่การส่งออกหรือการให้บริการดังต่อไปนี้
(ก)…
ฯลฯ
(ณ) การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร” ได้ความจากคำเบิกความของนายรังสี ธนมิตรรามณี กรรมการผู้จัดการโจทก์ว่า การประกอบกิจการขนส่งของโจทก์นั้นโจทก์มีหัวรถพ่วงสำหรับลากจูง ๓ คัน กระบะพ่วง๓ คัน รถกระบะหกล้อ ๑ คัน และรถกระบะสี่ล้อ ๑ คัน ในการค้าสินค้าวัสดุก่อสร้างของโจทก์ หากลูกค้าต้องการรับสินค้าจากโจทก์โดยตรงก็จะต้องชำระค่าสินค้าในราคาหนึ่ง แต่ถ้าลูกค้าต้องการจะรับสินค้าจากคลังสินค้าในเครือบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด จะมีราคาถูกกว่า ทั้งนี้โจทก์จะออกใบสั่งซื้อสินค้าให้แก่ลูกค้าเพื่อไปรับสินค้าเอง หากลูกค้าไม่มีรถที่จะไปรับของจากคลังสินค้าโดยตรง โจทก์จะนำรถบรรทุกของโจทก์ไปรับจ้างลูกค้าเพื่อขนส่งสินค้าจากคลังสินค้าไปส่งให้แก่ลูกค้าและในการมารับสินค้าจากคลังสินค้าที่กรุงเทพมหานครโจทก์ต้องใช้รถเปล่าไปรับสินค้า ดังนั้น โจทก์จึงติดต่อห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญดีสุราษฎร์ขนส่งเพื่อรับสินค้ายางพาราไปส่งยังกรุงเทพมหานคร และยังได้ความว่าบริษัทโจทก์ไม่มีป้ายติดว่ารับจ้างขนส่งสินค้าทั่วไป เห็นว่าที่โจทก์รับขนส่งสินค้าในกรณีที่ลูกค้าไม่มีรถไปบรรทุกสินค้าที่คลังสินค้า ด้วยการนำรถของโจทก์เองไปบรรทุกสินค้าส่งให้แก่ลูกค้า และการที่โจทก์รับขนส่งสินค้ายางพาราจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปยังกรุงเทพมหานครนั้นเป็นการให้บริการเป็นครั้งคราวไม่ใช่ประกอบกิจการขนส่งอย่างถาวร แม้จะฟังว่าโจทก์ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคล แต่กรณีดังกล่าวก็ถือเป็นการกระทำเพื่อการค้าหรือธุรกิจของโจทก์เอง จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโจทก์ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๑ (๑) (ณ) แห่งประมวลรัษฎากรโจทก์จึงต้องนำค่าขนส่งมารวมคำนวณเป็นฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ขาดเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีมีเหตุควรลดหรืองดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา๘๙/๑ วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติในเรื่องของเงินเพิ่มที่จะต้องเสียไว้ ๒ กรณี คือไม่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และวรรคสอง บัญญัติให้การลดเงินเพิ่มนั้นสามารถกระทำได้ในกรณีที่อธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติให้ขยายเวลาเสียภาษีตามที่กำหนดในมาตรา๓ อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากรและได้ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้นั้น สำหรับกรณีของโจทก์ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าอธิบดีกรมสรรพากรได้อนุมัติให้ขยายเวลาเสียภาษีตามที่กำหนดไว้ในบทมาตราดังกล่าว ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้งดเงินเพิ่มได้ จึงไม่มีเหตุที่จะลดหรืองดเพิ่มให้แก่โจทก์
พิพากษายืน.(ณรงค์ศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์ – ยงยุทธ ธารีสาร – สันติ ทักราลศาลภาษีอากรกลาง นายวิชัย จิตตาณิชย์ศาลอุทธรณ์
นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม – ตรวจ
นายสุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์ – ผู้ช่วยผู้พิพากษาฯ
นายธานิศ เกศวพิทักษ์ – ย่อ
วาสนา พ/ท