คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกก่อนวันสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนไม่น้อยกว่า 3 วันแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสามชอบที่จะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมก่อนเสร็จการสืบพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ได้เสมอตามมาตรา 88 วรรคสอง ศาลชั้นต้นจะใช้ดุลพินิจไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมซึ่งยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ได้ บทบัญญัติมาตรา 86 วรรคหนึ่ง ที่ให้ศาลปฏิเสธไม่ยอมรับพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้หรือที่รับฟังได้แต่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นคนละกรณีกับการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ทั้งสาม ส่วนบทบัญญัติมาตรา 86 วรรคสองที่ให้ศาลมีอำนาจงดการสืบพยานหลักฐานที่ศาลเห็นว่าฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้าหรือไม่เกี่ยวกับประเด็น เป็นขั้นตอนภายหลังที่คู่ความได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเช่นว่านั้นโดยชอบแล้ว จึงเป็นคนละกรณีกับการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ทั้งสามอีกเช่นกัน และเมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้สั่งรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ทั้งสาม ก็ไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะก้าวล่วงไปวินิจฉัยประเด็นที่ว่าโจทก์ทั้งสามมีพฤติการณ์ประวิงคดีให้ชักช้าหรือไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสามระบุพยานเพิ่มเติมและให้รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ทั้งสาม กับให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ทั้งสามจนแล้วเสร็จต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตอนต้นยังไม่ถูกต้องเพราะเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ทั้งสามแล้ว ศาลชั้นต้นยังมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจสั่งงดการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามที่เห็นว่าเป็นพยานหลักฐานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้าหรือไม่เกี่ยวกับประเด็นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และถ้ามีการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามต่อไป ก็ต้องให้โอกาสจำเลยนำพยานหลักฐานเข้าสืบแก้ได้ด้วย เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาในคำพิพากษาฉบับแรกให้ยกคำพิพากษาและคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสามระบุพยานเพิ่มเติมและให้รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ทั้งสามแล้วคดีในส่วนที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาฉบับหลังก็ต้องมีการรับฟังพยานหลักฐานใหม่ตามที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยนำสืบเพิ่มเติมต่อไปด้วยเพราะคดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับหลังที่ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกผู้ร้องในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 1เรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยที่ 3ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 3 และเรียกผู้คัดค้านในสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังว่าจำเลย
สำนวนแรก โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5279เดิมเป็นของนายเทอด บุนนาค นายเทอดให้โจทก์อยู่ทำกิน ต่อมาโจทก์ได้ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของติดต่อมาเกิน 10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์ขอให้สั่งว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่ 1 และขอให้แก้ไขทะเบียนลงชื่อโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของ
จำเลยยื่นคำคัดค้านและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นภริยาของนายเทอดนายเทอดทำพินัยกรรมยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่จำเลย โจทก์ที่ 1เข้าอยู่อาศัยในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของนายเทอดและไม่ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ ขอให้ยกคำร้องและขับไล่โจทก์ที่ 1 และบริวารออกจากที่ดิน
โจทก์ที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
สำนวนหลัง จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5279และ 5181 เป็นของนายเทอด ระหว่างที่ดินทั้งสองแปลงมีที่ดินว่างอีก 1 แปลง นายเทอดครอบครองโดยให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 อยู่กินเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเทอดโดยการครอบครองเช่นกัน จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลงสืบต่อจากนายเทอดตามพินัยกรรม ต่อมาโจทก์ทั้งสามโต้แย้งว่าที่ดินว่างเปล่าและที่ดินโฉนดเลขที่ 5181 เป็นของโจทก์ทั้งสามขอให้พิพากษาว่า ที่ดินว่างเปล่าดังกล่าวเป็นของจำเลยโดยการครอบครองและให้ขับไล่โจทก์ทั้งสามออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 5181 และที่ดินว่างเปล่าดังกล่าว
โจทก์ทั้งสามให้การว่า โจทก์ที่ 1 ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 5279 และที่ดินว่างเปล่าระหว่างที่ดินโฉนดเลขที่ 5279กับ 5181 จนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองแล้ว โจทก์ที่ 2 อยู่ในที่ดินว่างเปล่าดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ที่ 1 ส่วนโจทก์ที่ 3อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5181 จนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองแล้วเช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างสืบพยานโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนโจทก์ทั้งสามยื่นคำแถลงขอระบุพยานเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน2528 รวม 11 อันดับ ศาลชั้นต้นสั่งว่าโจทก์ทั้งสามมีเจตนาประวิงคดีไม่อนุญาตให้ระบุพยานเพิ่มเติม วันที่ 27 พฤศจิกายน 2528โจทก์ทั้งสามยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว เมื่อสืบพยานโจทก์ทั้งสามที่เหลือและพยานจำเลยแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 5279 และ 5181ยกคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5279 ของโจทก์ที่ 1และยกฟ้องของจำเลย (โจทก์ในสำนวนหลัง) ที่ขอให้ขับไล่โจทก์ทั้งสามออกไปจากที่ดินว่างเปล่าไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน ตั้งอยู่ระหว่างที่ดินโฉนดเลขที่ 5279 กับ 5181
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องของจำเลยที่ให้ขับไล่โจทก์ทั้งสามออกจากที่ดินว่างเปล่าอีกแปลงหนึ่งด้วย
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา 2 ฉบับ ฉบับแรกวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม แล้วพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2528 ที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสามระบุพยานเพิ่มเติม โดยให้รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวของโจทก์ทั้งสาม และดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ทั้งสามจนแล้วเสร็จต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ ฉบับหลังวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย แล้วพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปให้โจทก์ทั้งสามสืบพยานจนเสร็จสิ้น แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทั้งสองฉบับ โดยแยกฎีกาเป็น2 ฉบับ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนได้ความว่าศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ในสำนวนแรกนัดแรกเมื่อวันที่ 17 มีนาคม2526 แต่มีการสืบพยานโจทก์จริง ๆ นัดแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2527โจทก์ทั้งสามและจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย โดยโจทก์ที่ 1 ยื่นในคดีสำนวนแรกเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม2525 และโจทก์ทั้งสามยื่นในคดีสำนวนหลังเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์2527 วันที่ 7 มีนาคม 2527 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองนี้เข้าด้วยกันในการดำเนินการพิจารณาสืบพยานโจทก์มีการเลื่อนคดีหลายครั้ง โดยฝ่ายโจทก์ทั้งสามขอเลื่อนคดีเป็นส่วนใหญ่จนกระทั่งถึงนัดวันที่ 7 พฤษภาคม 2528 ทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีโดยยอมรับว่าเป็นความผิดของทนายโจทก์ที่ต้องเลื่อนคดีตลอดมาทนายโจทก์ตกลงกับทนายจำเลยแล้วว่า หากศาลให้เลื่อนในนัดหน้าจะไม่เลื่อนคดีอีก หากทนายโจทก์ทนายจำเลยฝ่ายใดจำเป็นมาศาลไม่ได้จริง ๆ ก็จะให้ทนายอื่นมาว่าความแทนและขอให้นัดหลายนัดติดกันเพื่อคดีจะได้เสร็จไปโดยเร็ว ศาลชั้นต้นให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ในวันที่ 4 และ 17 มิถุนายน 2528 ในวันที่ 4 มิถุนายน 2528ทนายคู่ความขอเลื่อนอ้างว่าทนายโจทก์มาสาย เพราะติดธุระจำเป็นตอนบ่ายทนายคู่ความติดธุระจำเป็น โจทก์เหลือพยานอีกเพียง 6 ปากนัดหน้าจะเตรียมพยานมาให้พร้อมและสืบพยานให้หมดไปในวันเดียวกันแต่ก็มีการเลื่อนคดีอีกหลายนัด ครั้งถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่25 พฤศจิกายน 2528 โจทก์ยื่นคำแถลงว่าที่ทนายโจทก์คนก่อนแถลงต่อศาลว่าตามบัญชีระบุพยาน พยานโจทก์คงเหลือ 6 ปาก สืบในวันเดียวก็เสร็จ โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องเพราะพยานสำคัญยังมีอีก จึงขอถอนคำแถลงดังกล่าว และโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2รวม 11 อันดับ ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ต่อได้อีก 2 ปาก แล้วให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ต่อในวันที่ 28 มกราคม 2529 และมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 โดยเห็นว่าโจทก์แถลงว่ามีพยานอีกเพียง 6 ปาก ในนัดที่แล้วก็ได้แถลงยืนยันว่าจะนำพยานที่เหลือมาสืบให้หมด การที่โจทก์มาระบุพยานเพิ่มเติมอีก 11อันดับ เช่นนี้ พฤติการณ์ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาประวิงคดีให้ชักช้า วันที่ 27 พฤศจิกายน 2528 โจทก์ทั้งสามยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว หลังจากนั้นศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ต่อและสืบพยานจำเลยจนแล้วเสร็จ
คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาของจำเลยที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับแรกว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสามยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า คดีสำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ได้ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2525 และคดีสำนวนหลังโจทก์ทั้งสามยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2527 ก่อนวันสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนไม่น้อยกว่า 3 วัน แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2499 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสามย่อมชอบที่จะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมก่อนเสร็จการสืบพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ได้เสมอ ตามมาตรา88 วรรคสอง ศาลชั้นต้นจะใช้ดุลพินิจไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมซึ่งยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ได้ การที่โจทก์ทั้งสามยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2528 อันเป็นเวลาก่อนเสร็จการสืบพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนแล้วศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสามยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่าคำสั่งศาลชั้นต้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคหนึ่งและวรรคสอง นั้นศาลฎีกาเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 86 วรรคหนึ่ง ให้ศาลปฏิเสธไม่ยอมรับพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้ หรือพยานหลักฐานที่รับฟังได้แต่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเป็นคนละกรณีกับการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ทั้งสาม ส่วนบทบัญญัติมาตรา 86 วรรคสอง ที่ให้ศาลมีอำนาจงดการสืบพยานหลักฐานที่ศาลเห็นว่าฟุ่มเฟือยเกินสมควร หรือประวิงให้ชักช้า หรือไม่เกี่ยวกับประเด็นก็เป็นขั้นตอนภายหลังที่คู่ความได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเช่นว่านั้นโดยชอบแล้ว จึงเป็นคนละกรณีกับการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ทั้งสามอีกเช่นกันศาลฎีกาเห็นต่อไปว่าเมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้สั่งรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ทั้งสามก็ไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะก้าวล่วงไปวินิจฉัยประเด็นที่ว่าโจทก์ทั้งสามมีพฤติการณ์ประวิงคดีให้ชักช้าหรือไม่ ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2528ที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสามระบุพยานเพิ่มเติม และให้รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ทั้งสาม โดยเห็นว่าโจทก์ทั้งสามไม่ได้ประวิงคดีนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นด้วยในผลและที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ทั้งสามจนแล้วเสร็จต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้นก็ยังไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ทั้งสามแล้วศาลชั้นต้นยังมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจสั่งงดการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามที่เห็นว่าเป็นพยานหลักฐานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้า หรือไม่เกี่ยวกับประเด็นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และถ้ามีการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามต่อไป ก็ต้องให้โอกาสจำเลยนำพยานหลักฐานเข้าสืบแก้ได้ด้วย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับหลังมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้นเห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาในคำพิพากษาฉบับแรกให้ยกคำพิพากษาและคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสามระบุพยานเพิ่มเติม และให้รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ทั้งสามฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2528 แล้ว คดีในส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ก็ต้องมีการรับฟังพยานหลักฐานใหม่ตามที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยจะนำสืบเพิ่มเติมต่อไปด้วย เพราะคดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฉบับหลังที่ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ที่ให้โจทก์ทั้งสามสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้นยังไม่ถูกต้อง ดังเหตุผลที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วในปัญหาข้อแรก
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทั้งสองฉบับเห็นว่า ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share