คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 220/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายทะเบียนบริษัทขีดชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ออกเสียจากทะเบียน และออกแจ้งความโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้วบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันที่โฆษณาแจ้งความดังกล่าว ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1246 (5) ซึ่งเป็นกรณีที่บริษัทเลิกโดยผลของกฎหมาย ไม่มีความจำเป็นต้องสืบพยานถึงเหตุที่จะให้เลิกบริษัทจำเลยที่ 1 และเมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1246(6) บริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจกลับคืนขึ้นทะเบียนได้
เมื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เลิกกันโดยไม่มีผู้ชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1251 วรรคสอง ถ้าศาลเห็นสมควร ศาลย่อมมีอำนาจตั้งเจ้าพนักงานกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ชำระบัญชีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นกรรมการ โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสี่ไม่เคยเรียกประชุมผู้ถือหุ้น ไม่ทำบัญชีงบดุล และไม่เคยจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ ๑ ไม่ประกอบการค้าเกิน ๑ ปีแล้ว การค้าทำไปมีแต่ขาดทุน และไม่มีทางหวังว่าจะกลับฟื้นตัวได้ นายทะเบียนบริษัทได้ขีดชื่อบริษัทจำเลยที่ ๑ ออกจากทะเบียนและแจ้งความโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ขอให้สั่งเลิกบริษัทจำเลยที่ ๑ และตั้งโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชี
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ประชุมผู้ถือหุ้น ทำงบดุลถูกต้องและแบ่งเงินปันผลในปีแรก ไม่มีเหตุเลิกบริษัทจำเลยที่ ๑ และชำระบัญชี หากโจทก์เป็นผู้ชำระบัญชีจะทำให้บริษัทจำเลยที่ ๑ เสียหาย การที่นายทะเบียนบริษัทขีดชื่อบริษัทจำเลยที่ ๑ ออกจากทะเบียนไม่เป็นเหตุให้บริษัทจำเลยที่ ๑ สิ้นสภาพนิติบุคคล
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ ๒เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ เป็นกรรมการ โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ ๑มิได้ค้าขาย นายทะเบียนบริษัทขีดชื่อบริษัทจำเลยที่ ๑ ออกจากทะเบียนและออกแจ้งความโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว และยังไม่มีการชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ ๑
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อนายทะเบียนบริษัทขีดชื่อบริษัทจำเลยที่ ๑ ออกเสียจากทะเบียนและออกแจ้งความโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว บริษัทจำเลยที่ ๑ ก็เป็นอันเลิกกันตั้งแต่เมื่อโฆษณาแจ้งความตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๔๖(๕) ซึ่งเป็นกรณีที่บริษัทจำเลยที่ ๑ เลิกโดยผลของกฎหมาย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสืบพยานถึงเหตุจะให้เลิกบริษัทจำเลยที่ ๑ ต่อไป และไม่ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ ๑ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ของบริษัทจำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๔๖(๖) บริษัทจำเลยที่ ๑ จึงไม่อาจกลับคืนขึ้นทะเบียนได้ และเมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นเพียงพนักงานของบริษัทจำเลยที่ ๑ มิใช่กรรมการของบริษัทจำเลยที่ ๑ ทั้งพี่ชายโจทก์มีปัญหาเรื่องการเงินอยู่กับบริษัทจำเลยที่ ๑ ถึงแก่บริษัทจำเลยที่ ๑ ร้องทุกข์และฟ้องต่อศาล โจทก์จึงไม่สมควรเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำเลยที่ ๑ การที่บริษัทจำเลยที่ ๑ เลิกกันโดยจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ ๑ มิได้เข้าเป็นผู้ชำระบัญชี แสดงว่าบริษัทจำเลยที่ ๑ ไม่มีผู้ชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๒๕๑ วรรคสอง และในฎีกาของโจทก์ก็ไม่ขัดข้องที่ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้ชำระบัญชีศาลฎีกาจึงเห็นสมควรตั้งผู้ชำระบัญชีเพื่อชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ ๑ต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ ๑

Share