คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1437/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าไม่เกินเดือนละสองพันบาท และเรียกค่าเสียหายไม่เกินสองพันบาทต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์หากจำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงต่อมา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีที่โจทก์ฟ้องและจำเลยฟ้องแย้ง จะอุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริงได้หรือไม่ ต้องแยกพิจารณา แม้คดีที่โจทก์ฟ้องต้องห้ามคดีที่จำเลยฟ้องแย้งก็อาจไม่ต้องห้าม
สัญญาเช่าตึกมีกำหนดระยะเวลาเช่า 12 ปี ซึ่งผู้เช่าเสียเงินช่วยค่าก่อสร้างให้ผู้ให้เช่านั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แม้มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลใช้บังคับระหว่างคู่สัญญาได้เต็ม 12 ปีตามสัญญาแต่มีผลใช้บังคับผู้รับโอนตึกต่อไปได้เพียง 3 ปี เพราะมิได้จดทะเบียน เว้นแต่ผู้รับโอนนั้นจะได้ตกลงยินยอมเข้าผูกพันตนในอันที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นแทนผู้ให้เช่าเดิมต่อไปอันเป็นการตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกซึ่งจะทำให้บุคคลภายนอกคือผู้เช่ามีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้จากผู้รับโอนซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 374
จำเลยฎีกาว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต อ้างข้อเท็จจริงที่ หาว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตต่างกับที่อ้างในศาลชั้นต้นแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์มาและศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้หรือไม่ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าได้ยกขึ้นว่ามาแล้วในศาลอุทธรณ์โดยชอบ เป็นฎีกาต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าตึกจากนายสงวน โจทก์รับโอนตึกมาตามคำพิพากษาสัญญาเช่าผูกพันกันเพียง ๓ ปี โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยออกไป จำเลยไม่ยอมออก ขอให้ขับไล่และให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ตึกพิพาทเป็นของการรถไฟฯ โจทก์เป็นเพียงผู้เช่าไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์กับนายสงวนฟ้องคดีสมยอมกันนายจั๊งกับนายสงวนตัวแทนซึ่งเช่าที่ดินการรถไฟฯ ปลูกตึกพิพาทได้เรียกเงินช่วยค่าก่อสร้างไปจากจำเลยแล้ว ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตกลงให้จำเลยเช่า ๑๒ ปี ทำสัญญาเช่าฉบับละ ๓ ปีต่อกัน ๔ ฉบับ ตกลงกันว่าถ้าจำเลยอยู่ไม่ได้ถึง ๑๒ ปี นายสงวนจะคืนเงินให้ปีละ ๙,๐๐๐ บาทโจทก์รับรองและรับรู้สิทธิของจำเลย ครั้นครบสัญญา ๓ ปี โจทก์เรียกเงินจากจำเลย จำเลยไม่ยอมให้ ขอให้บังคับโจทก์ต่อสัญญาเช่าอีก๙ ปี หากบังคับไม่ได้ ให้โจทก์คืนเงิน ๘๑,๐๐๐ บาทแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้สมยอมกับนายสงวน สัญญาระหว่างจำเลยกับนายสงวนไม่ผูกพันโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายและยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าไม่เกินเดือนละสองพันบาท และเรียกค่าเสียหายซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกินสองพันบาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ ดังนั้น ถึงแม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งรับอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง และศาลอุทธรณ์จะได้รับวินิจฉัยให้ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ โดยเหตุนี้ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้อเท็จจริงเฉพาะที่เกี่ยวกับข้อที่โจทก์ฟ้องจำเลย ส่วนคดีที่จำเลยฟ้องแย้งนั้น เป็นคดีมีทุนทรัพย์ถึง ๘๑,๐๐๐ บาท ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริง ดังนั้น ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยให้ต่อไป
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายจั๊งเป็นผู้ก่อสร้างตึกพิพาทและได้ตกลงให้จำเลยเช่ามีกำหนด ๑๒ ปี โดยจำเลยได้เสียเงินช่วยค่าก่อสร้างให้แก่นายจั๊ง ๑๐๐,๐๐๐ บาท นายสงวนบุตรบุญธรรมของนายจั๊งเป็นตัวแทนนายจั๊ง ทำสัญญาให้เช่าตึกพิพาทดังกล่าวแล้วกับจำเลย โดยทำขึ้น๔ ฉบับ กำหนดระยะเวลาเช่าฉบับละ ๓ ปีติดต่อกัน รวมเป็น ๑๒ ปี แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ครั้นต่อมาก่อนจะครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาฉบับแรก นายสงวนได้โอนกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทให้แก่โจทก์โดยนายสงวนได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ๑๔๐๐/๒๕๐๘ ของศาลแพ่ง ยอมโอนกรรมสิทธิ์ในตึกแถว๖ คูหา ซึ่งรวมทั้งตึกพิพาทนี้ด้วยให้แก่โจทก์ และศาลแพ่งได้พิพากษาให้เป็นไปตามสัญญา และโจทก์ได้นำสำเนาคำพิพากษานั้นมาทำการจดทะเบียนตึกพิพาทที่จังหวัดพิษณุโลกแล้ว
ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า สัญญาเช่าตึกพิพาทอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ระหว่างนายสงวนกับจำเลย เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาดังนั้นถึงแม้จะมีกำหนดระยะเวลาเช่า ๑๒ ปี และมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕๓๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็มีผลใช้บังคับระหว่างคู่สัญญาได้เกินกว่า ๓ ปี คือบังคับได้เต็ม ๑๒ ปี ตามสัญญาแต่ย่อมมีผลใช้บังคับโจทก์ ผู้รับโอนตึกรายพิพาท ซึ่งเป็นบุคคลนอกสัญญาตามมาตรา ๕๖๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้เพียง ๓ ปี เท่านั้นตามความในมาตรา ๕๓๘ ที่กล่าวแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เว้นแต่โจทก์จะได้ตกลงยินยอมเข้าผูกพันตนในอันที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นแทนนายสงวนต่อไป อันเป็นการตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก ซึ่งจะทำให้บุคคลภายนอกคือจำเลยนี้มีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้จากโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงได้ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๔
แล้วศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มิได้ตกลงยินยอมเข้าผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทนนั้นแทนนายสงวนสืบต่อไป ฉะนั้น สัญญาต่างตอบแทนในคดีนี้ไม่มีผลผูกพันโจทก์ และเพราะเหตุนี้เองฟ้องแย้งของจำเลยที่ให้โจทก์รับผิดคืนเงิน ๘๑,๐๐๐ บาทแก่จำเลยจึงตกไป
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยอ้างข้อเท็จจริงที่หาว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต ต่างกับที่อ้างในศาลชั้นต้นดังนั้น ถึงแม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งรับอุทธรณ์มาและศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้หรือไม่ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลอุทธรณ์โดยชอบ เป็นฎีกาต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share