คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1810/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2531 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2532 โจทก์ถูกหักภาษีเงินได้ณ ที่จ่ายและนำส่งตามมาตรา 3 เตรส แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อมาตรา 3 เตรสบัญญัติให้นำ ป.รัษฎากร มาตรา 63 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการและกำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมการขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 3 เตรส แม้ผู้ถูกหักภาษี ณที่จ่าย จะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ก็ต้องอยู่ในบังคับมาตรา 63 ดังกล่าวกล่าวคือ ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีที่ถูกหักภาษีเกินไปในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2531 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2532โจทก์ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นจำนวนเงิน 2,384,806.31 บาท แต่โจทก์ประกอบการมีผลขาดทุนสุทธิ 6,137,459.23 บาท อันเป็นผลให้ไม่มีเงินภาษีที่โจทก์ต้องชำระ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายจำนวนดังกล่าวคืนโดยโจทก์ต้องยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2532ซึ่งเป็นวันสุดท้ายแห่งปีที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย กล่าวคือ ต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2535 แต่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายต่อเจ้าพนักงานประเมินเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2536 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายแก่โจทก์
เมื่อกรณีของโจทก์มีบทบัญญัติมาตรา 3 เตรส แห่ง ป.รัษฎากรบัญญัติให้นำกำหนดเวลาขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 63มาใช้บังคับโดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำอายุความหรือกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ.มาตรา 164 (เดิม) หรือมาตรา 193/30 (ปัจจุบัน) และ ป.รัษฎากร มาตรา27 ตรี ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้กับกรณีทั่วไปมาใช้บังคับได้
ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องและคำให้การจำเลยประกอบข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลเพียงพอต่อการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทแล้ว การที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงชอบที่จะกระทำได้ และหามีผลทำให้คำวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทไม่เป็นไปโดยเที่ยงธรรมไม่

Share