คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1808/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ่อค้าตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (1) นั้น หมายถึงบุคคลประเภทที่ซื้อและขายสินค้าเป็นปกติธุระ ธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการค้าตามวิธีการของธนาคาร หาใช่พ่อค้าตามความหมายแห่งอนุมาตรานี้ไม่ จะใช้อายุความ 2 ปีมาปรับแก่คดีไม่ได้
จำเลยเข้าทำสัญญาค้ำประกัน ยินยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปีให้แก่ธนาคาร เมื่อผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ก็ต้องเสียดอกเบี้ยตามอัตรานี้ตลอดไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ
ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นลูกหนี้โดยโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากลูกหนี้ล้มละลาย ศาลก็มีอำนาจที่จะพิจารณาคดีสำหรับจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันต่อไปได้ จำเลยผู้ค้ำประกันหาพ้นความรับผิดไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688 การที่โจทก์ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น เป็นเรื่องของโจทก์ เมื่อไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย โจทก์ก็หมดสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้รายนี้ได้เท่านั้น ส่วนจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันยังต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันอยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๐๕ จำเลยที่ ๑ ต้องการซื้อเหล็กเส้นจากบริษัทในประเทศญี่ปุ่น จึงขอให้โจทก์สั่งซื้อแทน โดยจำเลยที่ ๑ ทำใบให้อำนาจเชื่อ (เลตเตอร์ออฟเครดิต) ให้โจทก์ไว้ โจทก์สั่งให้ธนาคารตัวแทนโจทก์ซื้อเหล็กเส้นส่งมาทางเรือรวม ๑๑ ม้วน คิดเป็นเงิน ๙๖,๖๓๙.๗๕ บาท ต่อมาวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๐๖ จำเลยทำใบรับสินค้าเชื่อ (ทรัส์ตรีซีท) ให้โจทก์ยึดถือไว้ โดยสัญญาว่า จะชำระเงินค่าเหล็กเส้นรวมทั้งค่าธรรมเนียม ค่าอากรแสตมป์ ค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๐๖ เป็นเงิน ๑๐๔,๗๖๘ บาท ๔๘ สตางค์ ให้โจทก์ภายใน ๖๐ วัน โดยจำเลยที่ ๒ – ๓ เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ ๑ ได้รับเหล็กเส้นนั้นไป จำเลยทั้ง ๓ ผิดนัด ผิดสัญญาไม่ชำระเงินให้โจทก์เลย จำเลยทั้งสามจะต้องชำระดอกเบี้ยตามข้อตกลงและตามประเพณีธนาคารอัตราร้อยละ ๑๒ ปี ในต้นเงิน ๙๖,๖๓๙.๗๕ บาท ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ – ๓ ให้การว่า เหล็กเส้นที่สั่งซื้อไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์สั่งซื้อแทนจำเลยที่ ๑ และออกเงินทดรองแทนจำเลยที่ ๑ ไป จำเลยที่ ๒ – ๓ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ ๒ – ๓ ไม่เคยได้รับการทวงถามจากโจทก์ เมื่อครบ ๖๐ วัน โจทก์ได้ทำความตกลงกับจำเลยที่ ๑ ผ่อนเวลาชำระเงินให้หลายครั้งหลายหน โดยจำเลยที่ ๒ – ๓ ไม่รู้เห็นตกลงด้วย จำเลยที่ ๒ – ๓ จึงพ้นความผิด ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด กับภายหลังฟ้องนั้นตามกฎหมายเรียกได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี หนี้ขาดอายุความ เพราะนับตั้งแต่ผิดนัดชำระหนี้เกินสองปี เมื่อหนี้ประธานขาดอายุความ ผู้ค้ำประกันก็หมดความรับผิดด้วย จำเลยที่ ๑ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและศาลได้พิพากษาล้มละลายแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๑ ต้องฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ ๑ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ ก็ไม่มีอำนาจฟ้องผู้ค้ำประกัน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ พ้นกำหนด ๒ เดือนแล้วโจทก์ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ หนี้ที่ฟ้องนี้จึงระงับไป ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิทั้งหมด ผู้ค้ำประกันจึงหน้าที่ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สำหรับจำเลยที่ ๑ แม้จะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาโจทก์ก็มีหน้าที่สืบให้ได้ตามฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน ก็ฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิ์เรียกเงินจากจำเลยที่ ๑ ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่๑ ให้ชำระหนี้ไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๒๗ และ ๙๑
สำหรับจำเลยที่ ๒ – ๓ ประเพณีธนาคารพาณิชย์ที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปีนั้น ย่อมหมายถึงคิดดอกเบี้ยในอัตรานั้นจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ หาใช่ให้คิดได้เพียงวันผิดนัดไม่ โจทก์ไม่ใช่พ่อค้าตามความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ (๑) อายุความฟ้องคดีนี้มีกำหนด ๑๐ ปี หาใช่ ๒ ปีไม่ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ แม้จำเลยที่ ๑จะถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ผู้ค้ำประกันก็ยังต้องรับผิด พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ – ๓ ร่วมกันชำระเงิน ๑๐๔,๗๖๘.๔๘ บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปีในต้นเงิน ๙๖,๖๓๙.๗๕ บาท นับตั้งแต่วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๐๖ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระหนี้โจทก์ครบถ้วน
จำเลยที่ ๒ – ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ – ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยดังนี้
(๑) พ่อค้าตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ (๑) หมายถึงบุคคลประเภทที่ซื้อและขายสินค้าเป็นปกติธุระ ธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบกิจการค้าตามวิธีการของธนาคารพาณิชย์ หาใช่พ่อค้าตามความหมายแห่งอนุมาตรานี้ไม่ ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่เป็นแบบอย่างไว้แล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๔๙/๒๕๑๒ ธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา โจทก์บริษัทยูไนเต็ดดีเวลลอฟเมนต์ จำกัดกับพวกจำเลย จะใช้อายุความ ๒ ปีมาปรับแก่คดีไม่ได้
(๒) ตามสัญญาค้ำประกัน เมื่ออ่านโดยตลอดแล้ว จะเห็นได้ว่ามีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑๒ ต่อปี เมื่อผิดนัดชำระหนี้ก็ต้องเสียดอกเบี้ยตามอัตรานี้ตลอดไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ฎีกาที่ ๖๕๘-๖๕๙/๒๕๑๐
(๓) คดีนี้ จำเลยทั้งสองรับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันจริง และยังไม่มีการชำระหนี้ แม้ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๑ โดยโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ล้มละลาย ก็ดี ศาลก็มีอำนาจที่จะพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ ๒ – ๓ ต่อไปได้ การที่ลูกหนี้ตกเป็นบุคคลล้มละลายนั้น ผู้ค้ำประกันหาพ้นความรับผิดไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๘ ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อเจ้าหนี้ทวงถามให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนก็ได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายเสียแล้ว การที่โจทก์ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อจำเลยที่ ๑ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น เป็นเรื่องของโจทก์ เมื่อไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย โจทก์ก็หมดสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้รายนี้ได้เท่านั้น ส่วนจำเลยที่ ๒ – ๓ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันยังต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันอยู่
พิพากษายืน

Share