แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23 พฤศจิกายน 2533 ผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยที่ 1 มาศาลและยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าติดว่าความที่ศาลอื่นซึ่งได้นัดไว้ก่อนแล้ว ส่วนโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่มาการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอเลื่อนคดีว่า “สั่งในรายงาน”แล้วมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ทนายจำเลยที่ 1 มอบฉันทะให้เสมียนทนายยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีแสดงว่าตั้งใจที่จะให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201จึงมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้นัดสืบพยานจำเลยที่ 1 ต่อไปในวันที่ 20 ธันวาคม 2533 เวลา 13.30 นาฬิกา และให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความจึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาคำร้อง ขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยที่ 1เลยว่าทนายจำเลยที่ 1 มาศาลไม่ได้เพราะติดว่าความที่ศาลอื่นจริงหรือไม่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องก็ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ชอบที่จะสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีไว้ และวันที่23 พฤศจิกายน 2533 ก็มิใช่วันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานอีกต่อไปแม้โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่มาศาลในวันดังกล่าว กรณีก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัด การที่ศาลชั้นต้นมิได้พิจารณาสั่งคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40แต่กลับก้าวล่วงไปสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการพิจารณา ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2),247 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่โดยไม่ถูกต้อง เนื่องจากศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษา ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 113,750 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 65,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยที่ 1 ให้การว่า มูลหนี้ตามฟ้องระงับไปแล้ว ขอให้ยกฟ้องในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23 พฤศจิกายน 2533 โจทก์และจำเลยที่ 2ไม่มาศาลส่วนจำเลยที่ 1 มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาให้นัดสืบพยานจำเลยที่ 1 ต่อไป และให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 3 ธันวาคม 2533 ว่าโจทก์ไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณา ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่มีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและที่มีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่เฉพาะจำเลยที่ 1 ไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2ว่า ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีได้ความว่า ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23 พฤศจิกายน 2533 แต่เมื่อถึงกำหนดวันนัดคงมีแต่ผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยที่ 1 มาศาล ส่วนโจทก์และจำเลยที่ 2ไม่มา ผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าติดว่าความที่ศาลอื่นซึ่งได้นัดไว้ก่อนแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในนำคำร้องว่า “สั่งในรายงาน” แล้วมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ทนายจำเลยที่ 1 มอบฉันทะให้เสมียนทนายยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีแสดงว่าตั้งใจที่จะให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 จึงมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาให้นัดสืบพยานจำเลยที่ 1 ต่อไปในวันที่ 20 ธันวาคม 2533 เวลา 13.30และให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ เห็นว่าศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยที่ 1เลยว่าทนายจำเลยที่ 1 มาศาลไม่ได้เพราะติดว่าความที่ศาลอื่นจริงหรือไม่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องก็ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ชอบที่จะสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีไป และวันที่23 พฤศจิกายน 2533 ก็มิใช่วันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานอีกต่อไปแม้โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่มาศาลในวันดังกล่าว กรณีก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัด การที่ศาลชั้นต้นมิได้พิจารณาสั่งคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40แต่กลับก้าวล่วงไปสั่งว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2),247 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่มิชอบของศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นยังไม่ถูกต้อง เนื่องจากคดีนี้ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2533เป็นต้นไป ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2533 และดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แล้วพิพากษาไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษา