คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าทนายโจทก์ไม่ได้ไปยังที่ทำการที่ดินอำเภอเมื่อเวลา 10.45 นาฬิกา แต่โจทก์ไปถึงเวลา12 นาฬิกาเศษ เป็นการพ้นเวลานัดโจทก์จึงเป็นผู้ผิดนัด เมื่อโจทก์อ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ผิดนัด จึงมีประเด็นเรื่องผิดนัดเป็นกรณีที่พิพาทกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ซึ่งศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้ เมื่อมิได้วินิจฉัยศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ที่จำเลยร่วมฎีกาว่า ศาลชั้นต้นไม่ควรขยายระยะเวลาให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียม ต้องสั่งไม่รับอุทธรณ์โจทก์ เป็นประเด็นเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยร่วมจะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ไว้แต่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ในคำแก้อุทธรณ์ถือว่าเป็นประเด็นพิพาทในชั้นอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ให้ ศาลฎีกาย่อมวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

ย่อยาว

คดีทั้งหกสำนวนนี้สืบเนื่องมาจากนางสาวชุมพร พรหมมาวินจำเลยร่วมในสำนวนแรก และเป็นจำเลยที่ 2 ในสำนวนที่ 2 ถึงที่ 5ซึ่งต่อไปจะเรียกว่าจำเลยร่วมกับจำเลยในสำนวนที่ 6 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งหกสำนวนซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกัน และโจทก์จะไปรับโอนสิทธิในที่ดินพิพาทพร้อมทั้งชำระเงินค่าที่ดินให้แก่จำเลยร่วมและจำเลยที่ 2 ในสำนวนที่ 6 ในวันที่ 20 ตุลาคม 2532 เวลา 11 นาฬิกา ถ้าหากโจทก์ไม่ไปถือว่าโจทก์ผิดนัดไม่ติดใจที่จะฟ้องจำเลยทุกสำนวนเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีก สัญญาประนีประนอมยอมความให้มีผลบังคับร่วมกันทั้งหกสำนวน
ต่อมาจำเลยร่วมยื่นคำแถลงว่า โจทก์ผิดนัดไม่ไปรับโอนสิทธิในที่ดินพิพาท ส่วนโจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์มิได้ผิดนัด ขอให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานที่ดินโอนสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นนัดสอบถามแล้วมีคำสั่งว่า โจทก์ผิดนัดทั้งหกสำนวนโจทก์ทั้งหกสำนวนอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนทั้งหกสำนวน โจทก์ทั้งหกสำนวนฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์ และจำเลยร่วมแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดีทั้งหกสำนวน
ศาลชั้นต้นสั่งให้ร่วมการไต่สวนคดีทั้งหกสำนวนเข้าด้วยกันแล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ผิดนัด ให้ยกคำร้องของโจทก์
โจทก์ทั้งหกสำนวนและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งหกสำนวนและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เบื้องต้นจะได้วินิจฉัยฎีกาโจทก์ที่ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดหรือไม่ ฝ่ายโจทก์อ้างว่าในวันนัดโอนที่ดินตามคำพิพากษาที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จะทำการโอนที่ดินในวันที่ 20 ตุลาคม 2532 เวลา 11 นาฬิกา ตัวโจทก์ได้ไปถึงสำนักงานที่ดิน อำเภอแม่ริมเวลา 12 นาฬิกาเศษ แต่ทนายความของโจทก์ได้ไปที่สำนักงานที่ดินอำเภอแม่ริมตั้งแต่เวลา 10 นาฬิกาเศษ…พยานหลักฐานจำเลยร่วมมีน้ำหนักดีกว่าโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายมนูทนายโจทก์มิได้ไปถึงสำนักงานที่ดินอำเภอแม่ริมตั้งแต่เวลา 10 นาฬิกาเศษ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าไปถึงสำนักงานที่ดินอำเภอแม่ริมเมื่อเวลา 12.10 นาฬิกาไม่ถือว่าเป็นการผิดนัด ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยเพราะโจทก์มิได้เบิกความต่อสู้ไว้เป็นการไม่ชอบนั้น ในข้อนี้เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่านายมนูทนายโจทก์ไม่ได้ไปยังที่ทำการที่ดินอำเภอแม่ริม (สำนักงานที่ดินอำเภอแม่ริม) เมื่อเวลา 10.45 นาฬิกา แต่โจทก์ไปถึงเมื่อเวลา 12 นาฬิกาเศษ เป็นการพ้นเวลานัดโจทก์จึงเป็นผู้ผิดนัด เมื่อโจทก์อ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ผิดนัดเพราะให้นายมนูไปยังสำนักงานที่ดินก่อนและตัวโจทก์ไปถึงเมื่อเวลา 12 นาฬิกาเศษจึงมีประเด็นเรื่องผิดนัดและศาลชั้นต้นวินิจฉัยถึงเรื่องที่โจทก์ไปถึงสำนักงานที่ดินเวลา 12 นาฬิกาเศษว่าเป็นการผิดนัด เป็นกรณีที่พิพาทกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะต้องวินิจฉัยให้ เมื่อมิได้วินิจฉัยศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก่อน ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อคู่ความตกลงกันจะทำการโอนในเวลา 11 นาฬิกา เป็นการสมัครใจตกลงกำหนดเวลากันไว้ จึงถือว่าเวลาที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญเมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเวลาที่กำหนดไว้ โจทก์จึงเป็นผู้ผิดนัด ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
ต่อไปจะได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยร่วมที่ว่า ศาลชั้นต้นไม่ควรขยายระยะเวลาให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมต้องสั่งไม่รับอุทธรณ์โจทก์ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยร่วมจะมิได้ยื่นอุทธรณ์ไว้แต่จำเลยร่วมก็ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ในคำแก้อุทธรณ์ถือว่าเป็นประเด็นพิพาทในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาชอบที่จะหยิบยกขึ้นพิจารณาและพิพากษาว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ประเด็นดังกล่าวจำเลยร่วมได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้แล้วในตอนแก้อุทธรณ์โจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยประเด็นข้อนี้ให้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก่อน ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2534 โดยเสียค่าขึ้นศาลมาเพียงสำนวนเดียว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งเมื่อวันที่4 มิถุนายน 2534 ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลให้ครบทุกสำนวนก่อน และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534 ให้โจทก์นำค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องใช้แทนจำเลยทุกสำนวนมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ด้วยภายใน 7 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง โจทก์ได้นำค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียมจะต้องใช้แทนจำเลยตามที่ศาลชั้นต้นสั่งมาวางศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด และศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นใช้อำนาจของศาลที่มีอยู่ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมให้ถูกต้อง และโจทก์ได้ปฏิบัติตามโดยมิได้ขัดขืน ศาลชั้นต้นจึงใช้ดุลพินิจรับอุทธรณ์โจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้นอนึ่งปรากฏว่าจำเลยร่วมเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามารวมหกสำนวนโดยจำเลยร่วมไม่ได้เป็นคู่ความในสำนวนที่ 6 จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในส่วนของสำนวนที่ 6 ให้แก่จำเลยร่วม”
พิพากษายืน

Share