แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142 เป็นกรณีที่ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน หรือเอกสารใด ๆ อันเจ้าพนักงานได้ยึด รักษาไว้หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐาน… ไม่ว่าเจ้าพนักงานจะรักษาทรัพย์หรือเอกสารนั้นไว้เอง… ต้องระวางโทษจำคุก… เป็นการกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานและรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย กฎหมายมิได้บัญญัติถึงองค์ประกอบความผิดในส่วนที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชนไว้ ดังนั้น บุคคลทั่วไปหรือประชาชนจึงไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142 ได้
สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 นั้น เมื่อการกระทำที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142, 151 และ 158 ไม่ได้เป็นการกระทำความผิดต่อโจทก์โดยตรง และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจดำเนินคดีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในความผิดตามมาตรา 142, 151 และ 158 แล้ว การที่จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 กระทำการเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 3 และที่ 4 แม้จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 โดยตรง แม้โจทก์จะเคยร้องเรียนให้ดำเนินการสอบสวนลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ตาม การที่โจทก์เป็นผู้ร้องเรียนให้ลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิที่โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษซึ่งจะทำให้โจทก์เป็นผู้เสียหายตามมาตรา 157
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบตามประมวลกฎหมายอาญา 83, 91, 142, 151, 157, 158
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142 ประทับฟ้อง จำเลยที่ 9 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 10 พิพากษายกฟ้องทุกข้อหา และพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157, 158
โจทก์อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 9 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142 หรือไม่ เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142 เป็นกรณีที่ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน หรือเอกสารใด ๆ อันเจ้าพนักงานได้ยึด รักษาไว้หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐาน… ไม่ว่าเจ้าพนักงานจะรักษาทรัพย์หรือเอกสารนั้นไว้เอง… ต้องระวางโทษจำคุก… เป็นการกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานและรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย กฎหมายมิได้บัญญัติถึงองค์ประกอบความผิดในส่วนที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชนไว้ ดังนั้น บุคคลทั่วไปหรือประชาชนจึงไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142 ได้ โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ในความผิดฐานนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 9 มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 7 และที่ 8 เสนอความเห็นไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยผ่านจำเลยที่ 9 ว่า พฤติการณ์ที่ร้องเรียนกล่าวหาจำเลยที่ 3 กับพวกว่ากระทำผิดในชั้นนี้ยังไม่สามารถรับฟังได้ว่ามีมูลกระทำความผิดตามที่ถูกร้องเรียนหรือไม่ การที่จะสั่งให้สืบสวนข้อเท็จจริงหรือแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในขณะนี้ยังไม่มีมูลเพียงพอที่จะดำเนินการได้ จึงเห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยจำเลยที่ 7 และที่ 8 ต้องการจะถ่วงเวลาเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น เมื่อการกระทำที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142, 151 และ 158 ไม่ได้เป็นการกระทำความผิดต่อโจทก์โดยตรง และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจดำเนินคดีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในความผิดตามมาตรา 142, 151 และ 158 แล้ว การที่จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 กระทำการเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามที่โจทก์ฟ้อง แม้จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 โดยตรง แม้โจทก์จะเคยร้องเรียนให้ดำเนินการสอบสวนลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ตาม การที่โจทก์เป็นผู้ร้องเรียนให้ลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิที่โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษซึ่งจะทำให้โจทก์เป็นผู้เสียหายตามมาตรา 157 ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กระทำความผิดตามมาตรา 157 โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กระทำไปโดยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กระทำความผิดตามมาตรา 157 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 142, 151, 157 และ 158 การที่ศาลชั้นต้นประทับฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ในความผิดตามมาตรา 142 และประทับฟ้องจำเลยที่ 9 ในความผิดตามมาตรา 157 มานั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ครั้นเมื่อโจทก์ยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ยกเว้นจำเลยที่ 9 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่ได้กระทำความผิดตามมาตรา 157 และโจทก์ไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 โดยตรง นอกจากนี้ โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเจตนาพิเศษของจำเลยที่ 9 กรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 9 เป็นคู่กรณีกันมาก่อนในคดีอาญาของศาลอาญากรุงเทพใต้ โจทก์คงกล่าวในฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยที่ 9 มีเจตนาช่วยเหลือจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ให้ถูกตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงทำให้โจทก์เสียหาย ดังนั้น ข้อฎีกาของโจทก์ข้างต้นเกี่ยวกับการที่โจทก์กับจำเลยที่ 9 เป็นคู่กรณีกัน จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้กล่าวในฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 9 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน