คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1805/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้บังคับบัญชาของ ก. สั่งให้ ก. ไปรับผลการตรวจน้ำลายของลูกค้าและมอบของชำร่วยแก่ลูกค้าที่อำเภอสบปราบจังหวัดลำปาง ก. จึงได้เดินทางไปตามคำสั่ง ซึ่งถือได้ว่า ก.เดินทางไปปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของนายจ้าง และเมื่อก. ออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่เสร็จแล้วก็ย่อมจะต้องเดินทางกลับจากสถานที่ดังกล่าวระหว่างเดินทางกลับก็ยังต้องถือว่าเป็นช่วงเวลาปฏิบัติงานในทางการที่จ้างให้นายจ้างกรณีต่างกับการที่ลูกจ้างปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ สถานที่ทำงานปกติเสร็จแล้วเดินทางกลับบ้านซึ่งไม่อาจถือได้ว่าช่วงเวลาเดินทางกลับบ้านเป็นช่วงเวลาปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของนายจ้าง การที่ ก. ประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตายระหว่างเดินทางกลับจากบ้านลูกค้าของนายจ้างจึงถือได้ว่าถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ส่วนการที่ ก. ไม่ได้กลับบ้านทันทีที่ปฏิบัติหน้าที่เสร็จ เนื่องจากไปรับประทานอาหารที่บ้านลูกค้าอีกคนหนึ่งในละแวกเดียวกันหาทำให้การปฏิบัติงานในหน้าที่สิ้นสุดลงไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2524บริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด จ้างนายเกษม ปิงวังเข้าทำงานเป็นลูกจ้างครั้งสุดท้ายได้ค่าจ้างเดือนละ 13,434 บาทต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2538 นายเกษมประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้บริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด ทำให้นายเกษมเสียชีวิตทันที โจทก์ในฐานะภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเกษมยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมจังหวัดลำปาง พนักงานเงินทดแทนวินิจฉัยว่านายเกษมมิได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างโจทก์อุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยว่านายเกษมมิได้ประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างเช่นเดียวกัน โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าวขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและพิพากษาว่า นายเกษมประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ให้จำเลยจ่ายค่าทำศพเป็นเงิน 14,500 บาท และค่าทดแทนจำนวน 773,798.40 บาท รวมเป็นเงิน788,298.40 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นายเกษม ปิงวัง ไม่ได้ประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง นายเกษมเป็นพนักงานพัฒนาท้องถิ่นหรือพนักงานขายประกันชีวิต งานสำคัญคือไปหาลูกค้าและอธิบายจนลูกค้าซื้อประกันในวันเกิดเหตุนายเกษมไปพบนางแสงเดือน สุยะ ลูกค้าเวลา 21 นาฬิกาเพื่อนำแก้วน้ำของชำร่วย 1 โหลไปให้ และเมื่อรับใบตรวจน้ำลายของลูกค้าเรียบร้อยแล้วก็น่าจะกลับบ้าน แต่นายเกษมกลับไปดื่มสุราอาหารกับนายสิทธิผล ฮาวบินใจ ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนกันมาก่อนและอยู่อีกบ้านหลังหนึ่งเป็นเหตุให้เมาสุราขับรถประสบอุบัติเหตุอันเป็นเรื่องส่วนตัว การนำแก้วน้ำไปให้ลูกค้าและเก็บใบตรวจน้ำลายของลูกค้า เป็นงานบริการหลังการขายประกันโดยนายจ้างไม่ได้สั่งการไม่ใช่หน้าที่การงานโดยตรง การประสบอุบัติเหตุไม่ได้เกิดเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ค่าทำศพที่โจทก์ขอมาไม่ถูกต้องเพราะมีสิทธิได้รับเพียงหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายเท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเพียง13,500 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่นายเกษมประสบอุบัติเหตุรถแฉลบพลิกคว่ำจนถึงแก่ความตาย จึงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง กรณีจึงมีเหตุเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์ในฐานะภรรยาชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นทายาทนายเกษมจึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนดังนี้ ค่าทดแทนรายเดือน อัตราร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือนมีกำหนด 8 ปี เป็นเงิน 773,798.40 บาท และค่าทำศพเป็นจำนวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานซึ่งอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในขณะที่นายเกษมถึงแก่ความตายคือ วันละ 135 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าทำศพ13,500 บาท พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามหนังสือที่ รส 0711/19770 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2539 และถือว่านายเกษมประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนจำนวน 773,798.40 บาท และค่าทำศพจำนวน 13,500 บาท แก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า นายเกษมได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาคือนายพิชัย จันทยา ให้ไปรับผลการตรวจน้ำลายของนางแสงเดือนลูกค้าของบริษัทนายจ้าง และนำแก้วน้ำของชำร่วยไปมอบแก่นางแสงเดือนด้วยที่อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง นอกท้องที่อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ซึ่งสำนักงานบริษัทนายจ้างตั้งอยู่และขากลับที่พักนายเกษมประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย อันถือเป็นช่วงปฏิบัติงานในทางการที่จ้างให้แก่นายจ้าง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่านายเกษมเดินทางไปอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง จนกระทั่งประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย เป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่าเรื่องการงานและเหตุเกิดจากเมาสุรา จึงเป็นการเถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาจากพยานหลักฐานในสำนวนเป็นยุติแล้วอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า การทำงานของลูกจ้างถ้าไม่มีค่าจ้างระหว่างที่ทำและไม่มีคำสั่งนายจ้างเป็นพิเศษให้ไปดำเนินการเป็นเพียงสมัครใจไปเองจะถือไม่ได้ว่าทำงานให้นายจ้างและได้ความจากผู้บังคับบัญชาของนายเกษมคือนายพิชัย จันทยา ยืนยันว่า ช่วงเวลาหลัง 16.30นาฬิกา จนถึงตอนเกิดเหตุเวลา 23.30 นาฬิกานายเกษมไม่มีค่าล่วงเวลา เป็นการสมัครใจทำเอง จะทำหรือไม่ทำก็ได้และนายพิชัยรับว่าในวันเกิดเหตุไม่ได้เข้ามาที่ทำงานไม่พบนายเกษมก่อนนายเกษมออกไปอำเภอสบปราบจึงไม่ได้มีคำสั่งใด ๆ แก่นายเกษม เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่า นายเกษมได้รับคำสั่งจากนายพิชัยผู้บังคับบัญชาให้ไปทำงานให้แก่นายจ้าง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังยกมากล่าวไว้แล้วข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทนพ.ศ. 2537 มาตรา 5 การประสบอันตรายไม่ว่าจะเป็นการได้รับอันตรายแก่กายหรือได้รับผลกระทบต่อจิตใจหรือถึงแก่ความตายจะต้องมีสาเหตุมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง การป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือการทำงานตามคำสั่งของนายจ้างนายเกษมผู้ตายเป็นพนักงานพัฒนาท้องถิ่น มีหน้าที่หาตัวแทนสอนตัวแทนหาลูกค้าและบริการลูกค้า วันเกิดเหตุนายเกษมลงเวลาเริ่มปฏิบัติงานเวลา 7.20 นาฬิกา และลงเวลากลับไว้เวลา 17นาฬิกา และหมายเหตุว่าจะไปปฏิบัติงานที่อำเภอสบปราบจังหวัดลำปาง เพื่อพบลูกค้าและรับผลการตรวจน้ำลายลูกค้ากับมอบของชำร่วยแก่ลูกค้าซึ่งออกเดินทางไปหลังจากปฏิบัติงานตามปกติ ณ สำนักงานเสร็จแล้ว แม้ศาลแรงงานกลางฟังว่าเป็นการเดินทางไปตามคำสั่งของนายพิชัย จันทยา ผู้บังคับบัญชาของนายเกษม เมื่อนายเกษมไปรับผลการตรวจน้ำลายและมอบของชำร่วยแก่ลูกค้าตามคำสั่งแล้ว นายเกษมได้ร่วมรับประทานอาหารเย็นกับลูกค้ารายอื่นจนถึงเวลาประมาณ 23 นาฬิกาถือว่าขาดช่วงในการทำตามคำสั่งของนายจ้าง ขณะเดินทางกลับบ้านได้ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายกรณีจึงไม่อาจถือว่าช่วงเวลาที่เดินทางกลับบ้านเป็นช่วงเวลาปฏิบัติงานตามคำสั่งของนายจ้างแม้นายเกษมประสบอันตรายถึงแก่ความตายระหว่างนั้นก็ไม่ถือว่าประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างตามนัยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาปรากฏว่า นายพิชัยผู้บังคับบัญชาของนายเกษมสั่งให้นายเกษมไปรับผลการตรวจน้ำลายของลูกค้าและมอบของชำร่วยแก่ลูกค้าที่อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปางนายเกษมจึงได้เดินทางไปตามคำสั่งของนายพิชัย ซึ่งถือได้ว่านายเกษมเดินทางไปปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของนายจ้างและเนื่องจากนายเกษมทำงานประจำอยู่ที่สำนักงานที่อำเภอเมืองลำปางจังหวัดลำปาง เมื่อออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่เสร็จแล้วก็ย่อมจะต้องเดินทางกลับจากสถานที่ดังกล่าวระหว่างเดินทางกลับก็ยังต้องถือว่าเป็นช่วงเวลาปฏิบัติงานในทางการที่จ้างให้นายจ้าง กรณีต่างกับการที่ลูกจ้างปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ สถานที่ทำงานปกติเสร็จแล้วเดินทางกลับบ้าน ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าช่วงเวลาเดินทางกลับบ้านเป็นช่วงเวลาปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของนายจ้าง ดังนั้นการที่นายเกษมประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตายระหว่างเดินทางกลับจากบ้านลูกค้าของนายจ้าง จึงถือได้ว่าถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง การที่นายเกษมไม่ได้กลับบ้านทันทีที่ปฏิบัติหน้าที่เสร็จ เนื่องจากไปรับประทานอาหารที่บ้านลูกค้าอีกคนหนึ่งในละแวกเดียวกัน ก็หาทำให้การปฏิบัติงานในหน้าที่สิ้นสุดลงไม่
พิพากษายืน

Share