คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ตบตีบังคับให้ผู้เยาว์ดมทินเนอร์ แต่โจทก์มิได้นำสืบว่าเมื่อผู้เยาว์ดมทินเนอร์แล้วจะเกิดผลอะไรที่เป็นเหตุไม่ให้ผู้เยาว์หลบหนีไปตามเจตนาของจำเลย และกรณีไม่ใช่เป็นเรื่องที่ศาลรู้เอง จึงลงโทษจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 ไม่ได้ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 3 กับพวกร่วมกันทำร้ายผู้เยาว์โดยเตะและตบศีรษะ บังคับให้ผู้เยาว์ดมทินเนอร์อันเป็นการบ่อนทำลายสุขภาพ การกระทำตามคำฟ้องเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายข่มขืนใจให้ผู้เยาว์ต้องจำยอมตามนั้น คำฟ้องโจทก์จึงครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรกแม้โจทก์ขอให้ลงโทษตามมาตรา 310 ศาลก็ลงโทษตามมาตรา 309 วรรคแรก อันเป็นบทมาตราที่ถูกต้องได้ และการกระทำดังกล่าวเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 391

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 318 วรรคแรก, 310 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 3 ปี และ 1 ปีตามลำดับ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 310 วรรคแรกลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดตามมาตรา 391 จำคุกคนละ 15 วันเรียงกระทงลงโทษเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2และที่ 3 คนละ 1 ปี 15 วัน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานพรากผู้เยาว์ 2 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังรวมแล้วจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 3มีกำหนด 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในชั้นนี้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ ว่า การที่จำเลยที่ 3 บังคับให้เด็กชายศักดิ์ชัยสุขสอาด ผู้เยาว์ดมทินเนอร์ หากขัดขืนก็จะเตะทำร้ายผู้เยาว์เพื่อไม่ให้ผู้เยาว์หนีไปจากจำเลยที่ 3 กับพวกนั้น เป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรกหรือไม่ ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ได้ตบตีบังคับให้ผู้เยาว์ดมทินเนอร์แต่เกี่ยวกับการบังคับให้ดมทินเนอร์โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงเลยว่า เมื่อผู้เยาว์ดมทินเนอร์ตามที่จำเลยที่ 3 บังคับแล้วจะเกิดผลอะไรที่จะเป็นเหตุไม่ให้ผู้เยาว์หนีไปตามเจตนาของจำเลยที่ 3 กับพวก และกรณีไม่ใช่เป็นเรื่องที่ศาลรู้ได้เอง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงลงโทษจำเลยที่ 3ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ไม่ได้แต่ในเรื่องนี้โจทก์บรรยายฟ้องมาแจ้งชัดว่าจำเลยที่ 3 กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เยาว์โดยเตะและตบศีรษะบังคับให้ผู้เยาว์ดมทินเนอร์อันเป็นการบ่อนทำลายสุขภาพ ซึ่งตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายข่มขืนใจให้ผู้เยาว์ต้องจำยอมตามนั้น ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก และข้อเท็จจริงก็ฟังได้ตามนั้น โดยที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และ 310บัญญัติเป็นความผิดในลักษณะและหมวดเดียวกัน เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ความผิดตามมาตรา 309 มาแล้ว แม้ไม่ได้อ้างบทลงโทษตามมาตรา 309 มาศาลก็ลงโทษตามบทมาตราที่ถูกต้องได้ ซึ่งมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ และได้ความจากคำเบิกความของเด็กชายศักดิ์ชัย สุขสอาด ว่า ถูกจำเลยที่ 3 บังคับให้ดมทินเนอร์เมื่อไม่ดมก็ถูกจำเลยที่ 3 เตะ การกระทำของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 จึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ให้ลงโทษบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคแรก อีกบทหนึ่ง ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคแรกซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share