คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5292/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่3เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่2และหรือผู้มีชื่อซึ่งมีข้อสัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกอันเกิดจากการใช้รถยนต์คันดังกล่าวแทนจำเลยที่1และที่2โดยไม่จำกัดจำนวนจำเลยที่1ลูกจ้างจำเลยที่2ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่2โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ส. บุตรโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตายจำเลยที่1ที่2และที่3ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองแล้วหาจำต้องบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยที่1มีความสัมพันธ์กับย. ผู้เอาประกันภัยอย่างไร่และจำเลยที่3มีนิติสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใดไม่และการที่จะวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้นศาลจะพิเคราะห์จากคำฟ้องมิได้พิเคราะห์จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎจากการพิจารณามาวินิจฉัยแต่อย่างใดไม่เมื่อฟ้องของโจทก์มีสารครบถ้วนแล้วจึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยที่3ว่าจำเลยที่3ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพราะข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าย. ผู้เอาประกันภัยยอมให้จำเลยที่1ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเมื่อย. ไม่ต้องรับผิดจำเลยที่3จึงไม่ต้องรับผิดด้วยนั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตรงกันมาเป็นยุติแล้วว่าผู้เอาประกันยินยอมให้จำเลยที่1ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเมื่อเกิดเหตุเฉี่ยวชนและมีความเสียหายเกิดขึ้นผู้เอาประกันภัยจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่1ตามข้อตกลงในสัญญาประกันภัยจำเลยที่3จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยฎีกาของจำเลยที่3จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงเมื่อคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา248วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นบิดามารดาของนายเสงี่ยม สุริยกมล จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 6294 พระนครศรีอยุธยา เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 6294 พระนครศรีอยุธยาและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจรับประกันภัยวินาศภัย เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้จากจำเลยที่ 2 และหรือผู้มีชื่อซึ่งมีข้อสัญญาว่า จะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกอันเกิดจากการใช้รถยนต์คันดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวนเงิน จำเลยที่ 4เป็นเจ้าของผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน1 ร – 1139 กรุงเทพมหานคร และเป็นผู้ขับรถยนต์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2534 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา จำเลยที่ 4ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1 ร – 1139 กรุงเทพมหานครมาตามถนนรามอินทรามุ่งหน้าไปทางสี่แยกหลักสี่แล้วได้ขับเลยจุดที่มีไว้สำหรับเลี้ยวและกลับรถเข้าถนนพระยาสุเรนท์ จำเลยที่ 4ไม่ใช้ความระมัดระวังกลับถอยหลังรถยนต์มาตามทางเดิมแล้วเลี้ยวเปลี่ยนช่องเดินรถโดยไม่ได้ดูรถที่แล่นมาทางด้านหลังขณะนั้นจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 6294พระนครศรีอยุธยา มาตามถนนรามอินทรา จากสี่แยกมีนบุรีมุ่งหน้าไปทางสี่แยกหลักสี่ ในช่องเดินรถที่ 3 ในทิศทางเดียวกันรถยนต์ของจำเลยที่ 4 โดยความประมาทของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ชิดช่องเดินรถด้านซ้าย และได้เห็นรถยนต์ของจำเลยที่ 4 กลับรถอยู่ข้างหน้าจำเลยที่ 1 ก็ไม่ใช้ความระมัดระวังคงขับด้วยความเร็วสูงทำให้รถของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 1เฉี่ยวชนกันแล้วรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ได้เสียหลักไปชนรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 9 บ – 1396ซึ่งมีนายเสงี่ยม สุริยกมล เป็นผู้ขับ นายทองอินทร์ โกษาแสงนั่งซ้อนท้าย เป็นเหตุให้นายเสงี่ยมได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา นายทองอินทร์ได้รับอันตรายแก่กายหลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีแจ้งข้อหาจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและถึงแก่ความตาย จากการเกิดเหตุนี้ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย กล่าวคือ หลังเกิดเหตุนายเสงี่ยม ผู้ตายมิได้ถึงแก่ความตายในทันที ต้องมารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานีก่อน โจทก์ทั้งสองต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 2,457 บาท ต่อมาต้องเสียเงินค่าปลงศพเป็นเงิน 37,010 บาท ก่อนนายเสงี่ยมจะถึงแก่ความตายมีอาชีพเป็นหลักแหล่งมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ5,000 บาท ได้ส่งเงินให้โจทก์ทั้งสองใช้ เมื่อนายเสงี่ยมถึงแก่ความตาย ทำให้โจทก์ทั้งสองขาดไร้อุปการะเป็นเงินเดือนละ1,500 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงินจำนวน 180,000 บาทรวมเป็นเงินค่าเสียหาย 219,467 บาท จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4จะต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดของตน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 6294พระนครศรีอยุธยา และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับจะต้องร่วมรับผิดด้วยเช่นกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 235,927 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 219,467 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าจำเลยที่ 3 รับประกันรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 6294 พระนครศรีอยุธยา ไว้จากจำเลยที่ 2 หรือบุคคลใดแน่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 79,457 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 26ตุลาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองให้จำเลยที่ 3ชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นให้ยก
จำเลย ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาในข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1มีความสัมพันธ์กับจ่าสิบเอกยุทธนา อุ่นทรัพย์ ผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มีนิติสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะทำให้จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดด้วยกับผู้เอาประกันภัยนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจรับประกันภัยวินาศภัย โดยจำเลยที่ 3เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 6294พระนครศรีอยุธยา ไว้จากจำเลยที่ 2 และหรือผู้มีชื่อซึ่งมีข้อสัญญาว่า จะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกอันเกิดจากการใช้รถยนต์คันดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 6294 พระนครศรีอยุธยา ในทางการที่จ้างของโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายเสงี่ยม สุริยกมลบุตรโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์คำบรรยายฟ้องดังกล่าวโจทก์ได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยที่ 3จะต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 2 และหรือผู้มีชื่อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย และในฐานะที่มีข้อสัญญาระหว่างจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยว่าจำเลยที่ 3 จะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1และที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวน จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว หาจำต้องบรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับจ่าสิบเอกยุทธนา อุ่นทรัพย์ ผู้เอาประกันอย่างไร และจำเลยที่ 3 มีนิติสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัย แต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้เพราะเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ทั้งสองจะต้องนำสืบต่อไปในชั้นพิจารณา และการที่จะวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้นศาลจะพิเคราะห์จากคำฟ้องของโจทก์มิได้พิเคราะห์จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎจากการพิจารณามาวินิจฉัยแต่อย่างใด เมื่อฟ้องของโจทก์ทั้งสองมีสาระครบถ้วนแล้ว จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง เพราะข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าจ่าสิบเอกยุทธนา อุ่นทรัพย์ ผู้เอาประกันภัยยอมให้จำเลยที่ 1ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ เมื่อจ่าสิบเอกยุทธนาไม่ต้องรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตรงกันมาเป็นยุติแล้วว่า ผู้เอาประกันภัยยินยอมให้จำเลยที่ 1ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 6294 พระนครศรีอยุธยาคันดังกล่าว เมื่อเกิดเหตุเฉี่ยวชนและมีความเสียหายเกิดขึ้นผู้เอาประกันภัยจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงในสัญญาประกันภัย จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share