แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การนับอายุความ 1 ปี เรื่องละเมิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ต้องเริ่มนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ว่าใครควรรับผิดอย่างใด เมื่อมาฟ้องคดีเกินกว่าหนึ่งปี นับแต่ได้ทราบเรื่อง ก็ขาดอายุความ (ฎีกา 243/2497)
เมื่อโจทก์จำเลยกะประเด็นกันมาแต่ศาลชั้นต้นว่ามีประเด็นข้อสืบเป็นเรื่องละเมิดแล้ว ในชั้นฎีกาจะโต้เถียงว่าควรปรับอายุความเข้าตามบทมาตรา 164,165 ย่อมเป็นการแปรเรื่องเป็นอื่นซึ่งไม่ตรงกับคดี และจะโต้เถียงว่า หากจะมิใช่เป็นความผิดเรื่องละเมิดก็ต้องรับผิดในฐานเป็นตัวแทนผู้เสียหายด้วย ดังนี้เป็นเรื่องยกประเด็นขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อที่ว่ากันมาในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยให้ไม่ได้
ย่อยาว
คดี 2 สำนวนนี้ ศาลพิจารณารวมกัน ได้ความว่าเดิม นายผล โรจนวาศสมุห์บัญชีอำเภอศรีราชาได้ทำการทุจริตต่อหน้าที่ยักยอกแสตมป์ อากรแสตมป์อากรมหรศพของกรมสรรพากรไป นายผล ถูกฟ้อง ศาลลงโทษแล้วตามคดีอาญาแดงที่ 926/2495 ของศาลจังหวัดชลบุรี โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยในคดี 2 สำนวนนี้ ซึ่งเป็นนายอำเภอและปลัดอำเภอศรีราชา ร่วมกันใช้เงิน (ราคาแสตมป์ที่นายผล ยักยอก) คดีแรก 10,500.03 บาท คดีหลัง 39,636 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี โดยเหตุที่จำเลยผู้มีหน้าที่ร่วมกันรับผิดชอบในการบริหารราชการอำเภอบังอาจจงใจหรือประมาทเลินเล่อปล่อยให้นายผลสมุห์บัญชีอำเภอซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยเบิกจ่ายจำหน่ายเก็บรักษาแสตมป์ตามลำพัง ไม่ควบคุมตามข้อบังคับของทางราชการ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 และฟ้องของโจทก์ไม่เข้าบทบัญญัติเรื่องละเมิดตามมาตรา 420 ยกฟ้องโจทก์ทั้ง 2 คดี
โจทก์อุทธรณ์ว่าคดียังไม่ขาดอายุความ 1 ปี และควรปรับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164, 165 จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเมื่อจงใจฝ่าฝืนก็เป็นการจงใจทำผิดมาตรา 420 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์เถียงในชั้นฎีกาว่า การนับอายุความ 1 ปี ต้องนับตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ว่าผู้ละเมิดแต่ละคนควรรับผิดใช้ค่าเสียหายคนละเท่าใดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 บัญญัติว่า “หนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฯลฯ” คดีฟังได้ว่า นายผลสมุห์บัญชีอำเภอได้ยักยอกเงินค่าอากรแสตมป์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวกระทรวงการคลังโจทก์ได้ไล่ออกและฟ้องต่อศาล พร้อมกันนั้นคณะกรรมการจังหวัดชลบุรีมีหนังสือที่ 6005/2494 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2494 ถึงกระทรวงการคลัง แจ้งให้ทราบว่าใครควรรับผิดอย่างใด เอกสารแสดงชัดว่าโจทก์ทราบเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2494 โจทก์เพิ่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2496 เกินกว่า 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความฐานละเมิดที่โจทก์จำเลยกะประเด็นกันมาแต่ศาลชั้นต้น
ข้อที่ว่าควรปรับอายุความตามบทมาตรา 164, 165 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง นั้น เห็นว่าโจทก์จะแปรเรื่องให้เป็นอื่น ซึ่งไม่ตรงกับเรื่องแห่งคดีนี้ ทั้งมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้น
ที่กล่าวว่าหากจะมิใช่เป็นความผิดเรื่องละเมิด ก็ต้องรับผิดใช้เงินในฐานเป็นตัวแทนกระทรวงการคลังโดยตรงด้วย ไม่แต่จะรับผิดในผลแห่งการละเมิดอย่างเดียวนั้น เห็นว่าเป็นประเด็นยกขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อที่ว่ากันมาในศาลชั้นต้น ผิดรูปเรื่องแห่งคดีจะรับวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายืน