แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มี พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ฯ ออกมาใช้บังคับ และต่อมามีการออก พ.ร.ฎ. ให้บทกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับแก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการและตามมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ฯ บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ฯ และตามมาตรา ๔๔ แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ฯ เพียงแต่บัญญัติคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นเท่านั้น บทกฎหมายดังกล่าวที่ใช้บังคับภายหลังการกระทำความผิดหาได้มีบทบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อไป จึงถือว่าจำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายเดิมที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิดนั้นไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2542 เวลากลางวัน จำเลยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ได้บังอาจสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 มาตรา 65 และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยเป็นเวลาแปดปี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 มาตรา 65 จำคุก 3 เดือน และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาแปดปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้องจำเลยซึ่งมีภูมิลำเนานอกเขตเทศบาลนครสมุทรปราการได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ โดยนำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่เจ้าพนักงานออกในนามของจำเลยไปแสดงเพื่อให้มีคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ภายหลังการกระทำความผิดมีพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ออกมาใช้บังคับมีผลให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด เห็นว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มีพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ออกมาใช้บังคับ และต่อมามีการออกพระราชกฤษฎีกาให้บทกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการเมื่อ พ.ศ.2547 และตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ.2482 และตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นฯ เพียงแต่บัญญัติคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นเท่านั้น บทกฎหมายดังกล่าวที่ใช้บังคับภายหลังการกระทำความผิดหาได้มีบทบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อไป จึงถือว่าจำเลยพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายเดิมที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิดนั้นไม่ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายข้ออื่น ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์