แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานรับของโจรตามมาตรา 357 ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญอันจะเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลมีอำนาจลงโทษฐานรับของโจรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับนายอนันต์หรืออ๊อด กัญจนกาญจน์ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วร่วมกันเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายเรียง ทองนอก แล้วร่วมกันปล้นรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน นครศรีธรรมราช ง -6788 ราคา 40,000 บาท นาฬิกาข้อมือ 1 เรือน ราคา 1,000 บาท ของนายมานิตย์ ทองนอกผู้เสียหายที่ 1 และวิทยุเทป 1 เครื่อง ราคา 2,000 บาท เงินสด300 บาท ของนายเรียง ทองนอก ผู้เสียหายที่ 2 โดย จำเลยทั้งสองกับพวกใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะและใช้อาวุธปืนขู่ผู้เสียหายทั้งสองและผู้มีชื่อซึ่งอยู่ภายในบ้านว่าในทันใดนั้นจะยิงผู้เสียหายดังกล่าวกับพวกหากขัดขืนหรือต่อสู้ และผู้เสียหายที่ 1 ติดตามไถ่รถจักรยานยนต์ที่ถูกปล้นดังกล่าวโดย ถูกเปลี่ยนชิ้นส่วนคือ เครื่องยนต์ เครื่องวัดความเร็วไฟหน้ารถ เหล็กกั้นท้ายเบาะรถจักรยานยนต์ โช้กหน้ารถ และไฟเลี้ยว มอบแก่พนักงานสอบสวนเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340,340 ตรี, 364, 365, 83 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 34,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1จำนวน 2,300 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 และคืนของกลางแก่เจ้าของ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 340 วรรคสอง, 340 ตรี จำคุก 21 ปี ให้จำเลยที่ 2คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 1,000 บาท และ 2,300 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 ตามลำดับ คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้เสียหายที่ 1 คำขออย่างอื่นของโจทก์ให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง ผู้เสียหายที่ 1 และโจทก์ร่วมถูกคนร้าย 3 คน โดย มีและใช้อาวุธปืนขู่เข็ญปล้นเอาทรัพย์ตามฟ้องของผู้เสียหายที่ 1 และโจทก์ร่วมไป ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องหรือรับของโจรหรือไม่…
พิเคราะห์แล้ว สำหรับความผิดฐานปล้นทรัพย์ ปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ร่วม นางสาวอุบลรัตน์ ทองนอก ผู้เสียหายที่ 1 และนางเหี้ยง อินทร์ช่วย ประจักษ์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่าพยานเห็นคนร้ายโดย อาศัยแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้านีออนขนาด 40แรงเทียน ในห้องในครัวและชั้นบนของบ้าน โจทก์ร่วมเห็นจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายคนแรกที่ถืออาวุธปืนสั้นเข้ามาในห้อง และใช้อาวุธปืนขู่ทุกคนที่นั่งอยู่ไม่ให้เงยหน้า ถ้าเงยหน้าจะยิงแล้วจำเลยที่ 2 คุมตัวนางเหี้ยงไปค้นหาสิ่งของที่ชั้นบน นางสาวอุบลรัตน์เห็นจำเลยที่ 2 เดินเข้ามาในครัวและใช้อาวุธปืนสั้นขู่บังคับให้นางสาวอุบลรัตน์ซึ่งอยู่ในครัวนอนคว่ำหน้าผู้เสียหายที่ 1 เห็นจำเลยที่ 2 เข้าไปในครัวและจูงรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ไป นางเหี้ยงเห็นคนร้าย3 คน ถืออาวุธปืนสั้นคนละกระบอกเข้ามาในห้องแล้วใช้อาวุธปืนขู่ให้พวกของนางเหี้ยงก้มหน้าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายคนหนึ่งที่เดินไปหลังบ้าน ส่วนคนร้ายอีกคนหนึ่งพานางเหี้ยงขึ้นไปค้นหาปืนบนบ้าน ศาลฎีกาเห็นว่าปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1และนางเหี้ยงว่าขณะเข้าปล้นทรัพย์คนร้ายทั้งสามใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดส่วนของใบหน้าด้านล่างตั้งแต่จมูกลงมา 2 คน สวมหมวกกันน็อก1 คน และข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อคนร้ายทั้งสามเข้ามาก็ใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้โจทก์ร่วม ผู้เสียหายที่ 1 และนางเหี้ยงซึ่งนั่งอยู่ในห้องก้มหน้าไม่ให้เงยหน้า แล้วคนร้ายคนหนึ่งเข้าไปใช้อาวุธปืนขู่บังคับนางสาวอุบลรัตน์ซึ่งอยู่ในครัวให้นอนคว่ำหน้าทันที จึงไม่น่าเชื่อว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวจะมีโอกาสเห็นหน้าคนร้าย แม้จะลอบมองเห็นได้บ้างก็คงจำหน้าคนร้ายไม่ได้เพราะคนร้ายมีผ้าปิดหน้าและสวมหมวกกันน็อกคลุมใบหน้าอยู่ ทั้งโจทก์ร่วมยังเบิกความแตกต่างกับนางเหี้ยงในสาระสำคัญอีกด้วย โดย โจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 2 คุมนางเหี้ยงไปค้นหาของที่ชั้นบน แต่นางเหี้ยงว่าจำเลยที่ 2 เดินไปหลังบ้านคนร้ายอีกคนหนึ่งพานางเหี้ยงขึ้นไปค้นหาปืนบนบ้าน นอกจากนี้ยังปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมตอบโจทก์ว่า คืนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจมาสอบถามที่อยู่ในที่เกิดเหตุแล้ว ได้มีการพูดคุยกันถึงคนร้ายในระหว่างกันเอง ผู้เสียหายที่ 1 พูดว่าสงสัยว่าคนร้ายจะเป็นจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และนายอ๊อด นางเหี้ยงพูดว่าจำคนร้ายไม่ได้ ส่วนนางสาวอุบลรัตน์ไม่ได้พูดอะไรและโจทก์ร่วมตอบทนายจำเลยที่ 1 ว่าคืนเกิดเหตุโจทก์ร่วมจำหน้าคนร้ายไม่ได้ แสดงว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวจำคนร้ายไม่ได้ ผู้เสียหายที่ 1 เพียงแต่คาดคะเนเอาเองว่าจำเลยทั้งสองกับนายอ๊อดเป็นคนร้าย ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมตอบทนายจำเลยที่ 2 ด้วยว่าเคยเห็นหน้าจำเลยที่ 2 มาก่อนเกิดเหตุและบ้านจำเลยที่ 2 อยู่ห่างจากบ้านโจทก์ร่วมประมาณ 2 กิโลเมตรเท่านั้น หากโจทก์ร่วมหรือพยานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมจำคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยที่ 2 ก็น่าจะพาเจ้าพนักงานตำรวจที่ออกมาสอบสวนในที่เกิดเหตุไปจับกุมจำเลยที่ 2 ที่บ้านเสียตั้งแต่คืนเกิดเหตุหรือวันรุ่งขึ้น แต่ก็หาได้กระทำไม่ การที่โจทก์ร่วม ผู้เสียหายที่ 1 และนางเหี้ยงชี้ตัวจำเลยที่ 2 ได้ถูกต้องนั้นไม่ทำให้รูปคดีของโจทก์และโจทก์ร่วมดีขึ้นแต่อย่างใดในเมื่อประจักษ์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมไม่อาจรับฟังได้เสียแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ให้การต่อสู้ตลอดมาว่าไม่ได้กระทำผิดพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบยังไม่มั่นคงเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหานี้ชอบแล้ว ส่วนข้อหาฐานรับของโจร โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายยงยุทธ บัวทอง เบิกความว่า หลังเกิดเหตุ 3-4 วันผู้เสียหายที่ 1 มาบอกให้พยานสืบหารถจักรยานยนต์ของตนที่ถูกคนร้ายปล้นเอาไป ต่อมาวันที่ 6 กันยายน 2531 จำเลยที่ 2 นำรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่าสีแดง เป็นรถรุ่นเดียวกับของผู้เสียหายที่ 1 ที่ถูกคนร้ายปล้นเอาไปมาบอกขายให้พยาน พยานรับซื้อไว้ในราคา 13,000 บาท โดย จำเลยที่ 2 บอกว่าวันรุ่งเช้าจะเอาคู่มือจดทะเบียนมาให้ แต่จำเลยที่ 2 ก็มิได้เอามาให้พยานไปติดตามเอาคู่มือจดทะเบียนจากจำเลยที่ 2 ก็ไม่พบจำเลยที่ 2 หลังจากนั้น 9 วัน นำรถไปล้าง สีแดงข้างนอกลอกปรากฏสีฟ้าอยู่ข้างใน จึงทราบว่าเป็นรถของผู้เสียหายที่ 1 ที่ถูกคนร้ายปล้นเอาไปนำมาดัดแปลงสภาพ วันรุ่งขึ้นจึงไปบอกผู้เสียหายที่ 1และขายคืนผู้เสียหายที่ 1 ไปในราคา 7,000 บาท พันตำรวจตรีสุวิทย์ คุระวรรณเบิกความว่าพยานส่งรถจักรยานยนต์ของกลางไปตรวจพิสูจน์ที่กองกำกับการวิทยาการ กองบังคับการตำรวจภูธร 11ได้รับแจ้งผลการตรวจพิสูจน์มาตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมายจ.16 ว่าตรวจพบการขูดลบแก้ไขเลขหมายประจำเครื่องยนต์ เลขหมายประจำตัวถังและตรวจพบการเปลี่ยนแปลงและพ่น สีใหม่โดย พบชั้นของสีจากโลหะ สีขาว สีฟ้า สีแดง ศาลฎีกาเห็นว่า การที่รถจักรยานยนต์ของกลางถูกขูดลบแก้ไขเลขหมายประจำเครื่องยนต์เลขหมายประจำตัวถัง และเปลี่ยนแปลงพ่น สีแดงใหม่ และจำเลยที่ 2 รับรถจักรยานยนต์ของกลางไว้ โดย ไม่มีคู่มือจดทะเบียนประกอบทั้งจำเลยที่ 2 ขายรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวแก่นายยงยุทธโดย บอกว่าจะนำคู่มือจดทะเบียนมามอบให้ในวันรุ่งขึ้น แต่จำเลยที่ 2 ก็หลบหนีไป เช่นนี้ แสดงว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นรถที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 2 ซื้อรถจักรยานยนต์มาจากนายบุญรัตน์หรือโผ้ง แก้วมน โดย ทำสัญญาซื้อขายไว้ด้วยนั้นจำเลยที่ 2 มิได้นำนายบุญรัตน์มาเบิกความยืนยันแต่อย่างใด พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ อนึ่งคดีนี้แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับรถจักรยานยนต์ของกลางโดย รู้แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดฐานรับของโจรก็ตาม แต่การกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นการลักทรัพย์โดย ร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และกระทำการอันมีลักษณะเป็นการชิงทรัพย์ จึงไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญอันเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้หลงต่อสู้ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคสอง ให้จำคุก 4 ปี คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3