คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2408/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีต่อลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ และโจทก์ตกลงชำระค่าตอบแทนจากการรับโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 และ 306 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ในนามของโจทก์ แต่เมื่อตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์มีข้อตกลงในข้อ 6 ว่า “หากลูกค้าปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้หรือไม่สามารถชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือลูกค้าไม่ต้องชำระหนี้ไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ ให้แก่ผู้รับโอน ผู้โอนตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการรับโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนเป็นเงินเท่ากับจำนวนเงินที่ลูกค้าไม่ชำระหนี้ตามมูลหนี้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าผู้รับโอนจะได้ชำระหนี้คืนครบถ้วน และผู้รับโอนจะมีสิทธินำเงินที่หักไว้ตามสัญญาข้อ 4 หรือค่าตอบแทนที่ผู้โอนจะได้รับจากการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นมาหักชำระหนี้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้โอนทราบ…” ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงยังต้องรับผิดชำระหนี้ในสิทธิเรียกร้องที่โอนให้แก่โจทก์ไปแล้วตามข้อตกลงดังกล่าวด้วย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อลูกหนี้ที่จำเลยที่ 1 นำมาโอนให้แก่โจทก์แล้วโจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญา จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาโอนสิทธเรียกร้องซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องที่รับโอนจากจำเลยที่ 1 เรียกให้ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ในมูลหนี้อันเกิดจากสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับลูกหนี้อันมีอายุความ 2 ปี ฟ้องของโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ตกลงโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งหนี้ที่ถึงกำหนดแล้ว และยังไม่ถึงกำหนดให้แก่โจทก์โดยโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 เบิกรับเงินล่วงหน้าไม่เกินร้อยละ 100 ของจำนวนหนี้ที่รับโอน และจำเลยที่ 1 ตกลงว่า หากลูกหนี้แห่งสิทธิปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้ หรือไม่สามารถชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือลูกหนี้ไม่ต้องชำระหนี้ไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้หนี้หรือค่าเสียหายคิดเป็นเงินเท่าจำนวนเงินที่ลูกหนี้ไม่ชำระตามมูลหนี้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน 2538 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2539 จำเลยที่ 1 นำสิทธิเรียกร้องในหนี้ทางการค้าของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อลูกหนี้โอนขายให้แก่โจทก์รวม 9 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 1,094,788 บาท และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากโจทก์ไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อครบกำหนดเรียกเก็บตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้เรียกเก็บค่าสินค้าจากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วนเป็นเงิน 35,000 บาท จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้โอนสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์จึงต้องรับผิดตามสัญญาในค่าสินค้าทั้งหมดที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระเป็นเงิน 1,059,788 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 เพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงินที่ผิดนัดนับแต่วันที่ 18 มีนาคม 2539 คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 60 เดือน เป็นเงิน 794,841 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,854,628 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 1,059,788 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนขายตราสารสิทธิที่เปลี่ยนมือได้กับโจทก์วงเงิน 1,000,000 บาท มีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 1 โอนตราสารแห่งนี้ให้แก่โจทก์แล้วโจทก์จะออกเงินทดรองจ่ายแก่จำเลยที่ 1 ไปก่อนตามจำนวนที่ระบุในตราสารโดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีและโจทก์จะหักเงินของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้โอนที่รับมาจากโจทก์ไว้ร้อยละ 10 หรือตามที่โจทก์เห็นสมควรแล้วให้โจทก์นำเงินไปฝากไว้กับสถาบันการเงิน โดยให้โจทก์ยึดถือเงินจำนวนดังกล่าวไว้ในลักษณะจำนำเงินฝากเพื่อประกันการชำระหนี้แก่โจทก์และยินยอมให้โจทก์หักชำระหนี้ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวบังคับจำนำ จำเลยที่ 1 โอนขายสิทธิให้แก่โจทก์หลายครั้ง โจทก์ได้หักเงินของจำเลยที่ 1 จำนวนร้อยละ 20 ของยอดเงินตามตราสารแห่งหนี้แล้วนำไปฝากไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟ จำกัด (มหาชน) ในนามของจำเลยที่ 1 แล้วนำมาจดจำนำไว้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในหนี้ด้วยเหตุว่าหากจำเลยทั้งสองจะรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินสัญญาจำนำ ซึ่งต่อมาภายหลังลูกหนี้ของโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์ได้ใช้สิทธิหักเงินดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ในฐานะผู้รับโอนย่อมรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่อันมีต่อลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 เมื่อลูกหนี้ตามตราสารแห่งหนี้ผิดนัด โจทก์ชอบที่จะฟ้องบังคับลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ทันที แต่การที่โจทก์ไม่ดำเนินการให้ลูกหนี้ตามมาตราแห่งหนี้ชำระหนี้แก่โจทก์กลับนำคดีนี้มาฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งโจทก์ในฐานะผู้รับโอนได้ทำการทวงถาม และลูกหนี้บางรายได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว และโจทก์ได้รับชำระหนี้ไปครบถ้วนก่อนแล้ว โจทก์ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจในการรับโอนสิทธิเรียกร้องตามตราสารแห่งหนี้แก่บุคคลทั่วๆ ไป การทำสัญญานั้นโจทก์ตกลงรับโอนสิทธิเรียกร้องตามตราสารหนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการได้ชำระหนี้ตามตราสาร โดยโจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายแก่จำเลยที่ 1 ไปก่อนแล้วรับเอาซึ่งสิทธิเรียกร้องนั้นไปเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ ซึ่งโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์เสียภายใน 2 ปี การที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองเสียภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 830,388 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้นำเงินจำนวน 252,674.45 บาท ที่โจทก์ได้รับตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้ง 5 ฉบับ คิดหักให้ ณ วันดังกล่าวด้วย กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการ ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกค้าของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ และโจทก์ตกลงชำระค่าตอบแทนจาการรับโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 เบิกรับเงินล่วงหน้าไปได้ก่อนที่หนี้จากการโอนสิทธิเรียกร้องแต่ละรายจะถึงกำหนดชำระหนี้ในวงเงินไม่เกินร้อยละ 100 ของจำนวนหนี้แต่ละรายการ โดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย จ.3 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์หลายครั้งแต่ที่โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้จากมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์มีจำนวน 3 ครั้ง ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้อง สำเนาใบส่งของและใบส่งของเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.15 เป็นสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกรับรองเช็คและมอบเช็คไว้แก่โจทก์ ซึ่งภายหลังเมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเข้าเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ครวม 8 ฉบับ รวมเป็นเงิน 830,388 บาท ตามบันทึกคำรับรองเช็คเอกสารหมาย จ.17 ถึง จ.20 และเช็คกับใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.23 ถึง จ.30
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่โจทก์ไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 นำสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 มีต่อลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 มาโอนให้แก่โจทก์ และโจทก์ตกลงชำระค่าตอบแทนจากการรับโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย จ.3 นั้น เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 และ 306 โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ในนามของโจทก์เมื่อลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์และแม้โจทก์จะสามารถดำเนินการบังคับให้ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ได้ก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์มีข้อตกลงในข้อ 6 ว่า “ผู้โอนขอรับรองว่าลูกค้าของผู้โอนทุกรายที่ได้แจ้งขึ้นทะเบียน (ทะเบียนลูกหนี้) ไว้กับผู้โอนเป็นลูกค้าชั้นดี… ดังนั้นลูกค้าดังกล่าวจะชำระเงินตามสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนได้ตามกำหนดอย่างแน่นอน หากลูกค้าปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้หรือไม่สามารถชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือลูกค้าไม่ชำระหนี้ไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ ให้แก่ผู้รับโอน ผู้โอนตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการรับโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนเป็นเงินเท่ากับจำนวนเงินที่ลูกค้าไม่ชำระหนี้ตามมูลหนี้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าผู้รับโอนจะได้รับชำระหนี้คืนครบถ้วน และผู้รับโอนจะมีสิทธินำเงินที่หักไว้ตามสัญญาข้อ 4 หรือเงินค่าตอบแทนที่ผู้โอนจะได้รับจากการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นมาหักชำระหนี้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้โอนทราบ…” ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงยังต้องรับผิดชำระหนี้ในสิทธิเรียกร้องที่โอนให้แก่โจทก์ไปแล้วตามข้อตกลงดังกล่าวด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปมีว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระหนี้ในสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อลูกหนี้ในมูลหนี้อันเกิดจากสัญญาซื้อขายแล้วนำมาโอนให้แก่โจทก์ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องนั้นมีอายุความ 2 ปี หรือ 10 ปี เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อลูกหนี้ที่จำเลยที่ 1 นำมาโอนให้แก่โจทก์แล้วโจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญา จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องที่รับโอนจากจำเลยที่ 1 เรียกให้ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ในมูลหนี้อันเกิดจากสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับลูกหนี้อันมีอายุความ 2 ปี ตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง ฟ้องของโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share