คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15447/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. บัญญัติเกี่ยวกับวิธีเฉพาะการฝากเงินไว้ตามมาตรา 672 ว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน และผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าว เงินฝากของโจทก์ร่วมที่ฝากไว้กับธนาคาร ย. สาขาแจ้งวัฒนะ ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารนับแต่วันที่มีการฝากเงิน โจทก์ร่วมมีสิทธิที่จะเบิกถอนเงินได้ ธนาคารเพียงแต่มีหน้าที่คืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น และในกรณีที่จำเลยปลอมลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายเช็ค เงินที่ธนาคารจ่ายไปตามเช็คย่อมเป็นเงินของธนาคารและธนาคารไม่มีสิทธิหักจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม ดังนี้ เงินที่จำเลยลักไปจึงมิใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้จำเลยคืนเงิน 2,100,000 บาท แก่โจทก์ร่วม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 266, 268, 335 ให้จำเลยคืนเงิน 2,100,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีหมายเลขดำที่ 3838/2552 4462/2552 4463/2552 4464/2552 และ 4465/2552 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา บริษัทจุฑามาศพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (4), 268 วรรคแรก (ที่ถูก 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4)), 335 (11) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอมกับฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอมซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่จำเลยเป็นทั้งผู้ปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอม ให้ลงโทษฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4) เพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 9 กระทง เป็นจำคุก 18 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 1991/2553 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอื่นอีก 4 คดีนั้น ไม่ปรากฏว่าศาลในคดีดังกล่าวได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยแล้วหรือไม่จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก และยกคำขอที่ให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมเปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวัน เลขที่บัญชี 057-1-02310-0 กับธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) สาขาแจ้งวัฒนะ การเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวจะออกเช็คโดยมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่จำนวนเงินในบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันไม่พอจ่ายยินยอมให้ธนาคารโอนเงินจากบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของโจทก์ร่วมเข้ามาในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าว จำเลยเป็นพนักงานบัญชีของโจทก์ร่วมมีหน้าที่ทำงบดุลบัญชี เก็บสมุดเช็คและจัดทำเช็คเสนอกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อ จำเลยปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและรายการในเช็ค สั่งจ่ายเงินรวม 2,100,000 บาท แล้วมอบเช็คแต่ละฉบับให้นายธนวัฒน์ นำไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) สาขาแจ้งวัฒนะ เมื่อธนาคารตามเช็คจ่ายเงินให้นายธนวัฒน์แล้ว นายธนวัฒน์นำเงินจำนวนดังกล่าวไปมอบให้แก่จำเลย ความผิดฐานปลอมตั๋วเงินและใช้ตั๋วเงินปลอมยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์และโจทก์มีอำนาจขอให้จำเลยคืนเงินที่ลักไป 2,100,000 บาท แก่โจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติเกี่ยวกับวิธีเฉพาะการฝากเงินไว้ตามมาตรา 672 ว่า ผู้รับฝากเงินไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน และผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าว เงินฝากของโจทก์ร่วมที่ฝากไว้กับธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) สาขาแจ้งวัฒนะ ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารตั้งแต่ที่มีการฝากเงิน โจทก์ร่วมมีสิทธิที่จะเบิกถอนเงินได้ ธนาคารเพียงแต่มีหน้าที่คืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น และในกรณีที่จำเลยปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็ค เงินที่ธนาคารจ่ายไปตามเช็คย่อมเป็นเงินของธนาคารและธนาคารไม่มีสิทธิหักจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม ดังนี้ เงินที่จำเลยลักไปจึงมิใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้จำเลยคืนเงิน 2,100,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share