คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8619/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยังมิได้มีหนังสือบอกกล่าวใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 10.1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน ไปยังจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าซื้อจึงมิได้สิ้นสุดด้วยเหตุตามสัญญาข้อ 10.1 การที่จำเลยที่ 1 ขอคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ และโจทก์ได้รับคืนไว้ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อต่อไป พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์รับมอบรถยนต์คืน ดังนั้น โจทก์จะอาศัยสัญญาข้อ 13 เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอันเป็นความรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โดยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 คงมีเฉพาะการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้สอยรถยนต์โดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายที่โจทก์ขาดราคาเช่าซื้อ ค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 299,227.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 70,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 ตุลาคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,396.94 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ ในราคา 684,841.20 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 11,414.02 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุกวันที่ 1 ของเดือน รวม 60 เดือน เริ่มงวดแรกวันที่ 1 สิงหาคม 2549 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 6 ประจำวันที่ 1 มกราคม 2550 ครั้นวันที่ 2 เมษายน 2550 จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ต่อมาโจทก์นำรถยนต์ออกขายได้ราคา 353,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาโต้แย้งว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดค่าเสียหายในส่วนค่าขาดราคา 50,000 บาท และค่าติดตามรถยนต์ 1,000 บาท นั้น ยังเป็นค่าเสียหายที่ต่ำเกินไปและไม่เหมาะสม โดยโจทก์ขอค่าเสียหายทั้งสองส่วนเต็มจำนวน 274,686.99 บาท และ 1,550 บาท ตามฟ้อง เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 6 ประจำวันที่ 1 มกราคม 2550 โจทก์จึงให้พนักงานติดตามทวงถามและมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2550 จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาโดยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตามที่ระบุไว้ในข้อ 10.1 ว่า กรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระเงินค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน และผู้ให้เช่าซื้อบอกกล่าวเป็นหนังสือให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายในเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากผู้เช่าซื้อไม่ชำระให้ครบจำนวน ให้ถือว่าสัญญาสิ้นสุดลงทันที เมื่อโจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ตามข้อสัญญาดังกล่าว สัญญาเช่าซื้อจึงมิได้สิ้นสุดด้วยเหตุที่ระบุในสัญญาข้อ 10.1 การที่จำเลยที่ 1 ขอคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์ได้รับคืนไว้ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อต่อไป พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์รับมอบรถยนต์คืน การเลิกสัญญากรณีนี้ไม่ถือเป็นการเลิกด้วยเหตุที่มีการผิดสัญญาเช่าซื้อตามข้อ 10.1 ดังนั้น โจทก์จะอาศัยสัญญาเช่าซื้อข้อ 13 เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอันเป็นความรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่ ผลของการเลิกสัญญาต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 391 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การชดใช้คืนย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 คงมีเฉพาะการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้สอยรถยนต์ที่เช่าซื้อโดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายที่โจทก์ขาดราคาเช่าซื้อ ค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เฉพาะค่าขาดประโยชน์ 19,800 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย ยกคำขออื่นนอกจากนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share