แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยภายในกำหนดอายุความสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวจำเลยผู้กระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 และฟ้องจำเลยภายในกำหนดอายุความ 5 ปี นับแต่วันกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) แล้วก็ตาม เมื่อในชั้นไต่สวนมูลฟ้องไม่ได้ตัวจำเลยมาศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คลงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๓ สั่งจ่ายเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท โจทก์ได้รับเช็คไว้เพื่อเป็นการชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนดจึงนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีพอที่จะใช้เงิน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทลงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๒๓ จำนวนเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท นำมาแลกเงินสดไปจากโจทก์เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์นำไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คพิพาทปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๒๔ โดยให้เหตุผลว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย โจทก์ไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๔ และมาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๒๙ แล้วพิพากษายกฟ้องในวันเดียวกัน ปัญหามีว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้ว่าโจทก์จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยภายในกำหนดอายุความสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวจำเลยผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖ และโจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้ภายในอายุความห้าปีนับแต่วันกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ (๕) แล้วก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ วรรแรก บัญญัติไว้ชัดว่า “ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ ฯลฯ” ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่าต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาลแล้ว คดีจึงจะไม่ขาดอายุความ และเห็นว่าบทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ นี้เป็นบทบัญญัติทั่วไป ไม่ได้ใช้บังคับในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เท่านั้น ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์อย่างเช่นคดีนี้ก็ต้องถือหลักอย่างเดียวกัน การที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ต่อไปนั้น จะถือว่าระหว่างนั้นได้ตัวจำเลยมายังศาลและจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้วหาได้ไม่ และจะนำเอาบทบัญญัติในทางแพ่งเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงเมื่อฟ้องคดีมาใช้บังคับไม่ได้ ขณะที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๒๙ นั้นเป็นเวลาเกินห้าปี นับแต่วันจำเลยกระทำผิดตามฟ้องแล้วคดีของโจทก์ย่อมขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน