แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญายอมใช้เงินที่ยักยอกไป ไม่ใช่เพื่อมิให้ฟ้องคดีอาญาไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนทั้งเป็นสัญญาซึ่งทำขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ความแพ่งเนื่องจากความผิดอาญาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา51
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ทำการค้าเครื่องเหล็ก เครื่องจักรและอื่น ๆ โดยจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการอยู่ ณ บริษัทโจทก์สาขาจังหวัดนครราชสีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2496, 2497, 2498 มีหน้าที่รับดูแลรักษาสินค้าต่าง ๆ และทำการขายให้แก่ลูกค้า และมีหน้าที่รับและเก็บเงินราคาขาย ตลอดจนทวงถามให้ลูกค้าผู้ซื้อชำระเงินราคาสินค้าที่ซื้อไปและนำเงินนั้น ๆ ส่งเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัท ต่อมา พ.ศ. 2498 จำเลยได้ขายสินค้าอันเป็นเครื่องเหล็กเครื่องจักร รถยนต์ และสินค้าอื่น ๆ ไป จำเลยได้รับและเก็บเงินราคาสินค้านั้น ๆ ไว้จากผู้ซื้อ แต่จำเลยไม่นำเงินดังกล่าวส่งเจ้าหน้าที่การเงินตามระเบียบ โดยจำเลยยักยอกเอาเงินนั้นเป็นประโยชน์ตนเสียเป็นเงินรวม 194,950 บาท โจทก์ได้เร่งรัดทวงถามให้จำเลยนำเงินคืน จำเลยได้นำส่งเงินคืน 77,000 บาท คงค้างอยู่อีกเป็นเงิน 117,950 บาท ซึ่งจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2499 ให้ไว้เป็นหลักฐานต่อโจทก์ โดยกำหนดส่งคืนเงิน 117,950 บาท ให้แก่โจทก์ภายใน 1 เดือน ปรากฏตามสำเนาหนังสือหลักฐานสัญญาท้ายฟ้อง แต่เมื่อครบกำหนดแล้ว จำเลยไม่นำเงินดังกล่าวส่งคืนแก่โจทก์ ครั้นต่อมาระหว่างเดือนเมษายน 2499 ปรากฏหลักฐานขึ้นอีกว่า จำเลยได้ขายสินค้าต่าง ๆ ของบริษัทไป แล้วยักยอกเอาเงินราคาสินค้านั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย เป็นเงินรวม 90,869.50 บาทซึ่งจำเลยได้รับรองจำนวนเงินที่จำเลยยักยอกไป และจะผ่อนชำระให้เดือนละ 4,000 บาท ปรากฏตามหนังสือสัญญาลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2499 ท้ายฟ้องนี้ แต่นับแต่นั้นมาจำเลยไม่เคยชำระเงินให้โจทก์เลย โจทก์ได้ทวงถามหลายครั้ง จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี
จำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์จริงตามฟ้อง แต่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยนี้ เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงเป็นโมฆะเสียเปล่าตามกฎหมายกรณีจะเป็นประการใดก็ตาม สำหรับคดีอาญาที่โจทก์หาว่าจำเลยยักยอกนนั้น โจทก์มิได้แจ้งความให้เจ้าพนักงานว่ากล่าวตามกฎหมาย เพราะเป็นคดีอันยอมความกันได้ คดีอาญาของโจทก์จึงขาดอายุความไปด้วยโจทก์ จึงหมดสิทธิเรียกร้อง
จำเลยขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ในปัญหากฎหมายที่ว่าสัญญานี้เป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้ววินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องปรากฏว่า จำเลยเป็นผู้จัดการบริษัทโจทก์ ขายสินค้าได้แล้วยักยอกเอาเงินราคาสินค้าไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย จึงเป็นคดีอาญาส่วนตัวที่จะยอมความกันได้ สัญญานี้จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนข้อต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความก็เห็นว่า การที่จำเลยทำสัญญารับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์เป็นการประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลย ซึ่งเป็นการแยกคดีแพ่งออกจากคดีอาญา ฉะนั้น การนับอายุความจึงต้องนับตามอายุความในคดีแพ่งฟ้องโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ จึงพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 208,819 บาท 50 สตางค์ ให้แก่โจทก์และให้จำเลยใช้ค่าดอกเบี้ยแก่โจทก์ร้อยละ 8 ครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 117,950 บาท นับแต่วันที่ 17มีนาคม 2499 จนถึงวันชำระหนี้เสร็จ กับดอกเบี้ยในต้นเงิน 90,869.50 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระหนี้เสร็จ
จำเลยอุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามอุทธรณ์ของจำเลยก็รับว่า จำเลยได้ยักยอกเงินของโจทก์ ฉะนั้น การที่จำเลยทำสัญญารับรองจำนวนเงินที่ยักยอก และสัญญาจะใช้เงินที่ยักยอก ย่อมเป็นการกระทำในทางบรรเทาผลร้ายและความยุงยากที่จำเลยกระทำผิด จึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างไรเลย ข้อที่จำเลยอ้างว่าขาดอายุความก็เห็นว่า สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 หมายถึงสิทธิฟ้องทางแพ่งเนื่องจากกระทำความผิดอาญา และสิทธิที่เกิดจากการกระทำผิดทางอาญาก็ย่อมเป็นกรณีทำละเมิด ฉะนั้น อายุความตามมาตรา 51 นี้ จึงเป็นอายุความให้รับผิดทางละเมิด แต่คดีนี้ปรากฏว่าหลังจากจำเลยยักยอกเงินของโจทก์แล้ว จำเลยได้ทำสัญญารับรองจำนวนเงินที่จำเลยยักยอก และสัญญาจะใช้เงินนั้น จึงเป็นให้รับผิดตามสัญญา ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ พิพากษายืน
จำเลยฎีกาอย่างคนอนาถา ต่อมาคัดค้านว่าสัญญารายนี้เป็นโมฆะตามฟ้อง เพราะเท่ากับโจทก์จำเลยทำสัญญากันเพื่อมิให้ฟ้องร้องคดีอาญาแผ่นดินเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และฟ้องก็ขาดอายุความ เพราะสัญญาที่ทำขึ้นรายนี้มีมูลมาจากคดีอาญาเป็นการละเมิด
ศาลฎีกาประชุมปรึกษาเห็นว่า ตามสัญญาที่จำเลยทำให้ไว้กับโจทก์ในคดีนี้ ไม่ใช่เรื่องสัญญากันเพื่อไม่ให้ฟ้องร้องคดีอาญาแผ่นดินแต่อย่างใดเป็นแต่จำเลยทำสัญญารับรองจำนวนที่จำเลยยักยอกไปและสัญญาจะใช้คืนให้ภายในกำหนดเท่านั้น ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใดตรงกันข้ามกลับทำให้เกิดความสงบไม่ยุ่งยากและชอบด้วยศีลธรรมอันดีเสียอีก ส่วนเรื่องอายุความก็เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยตามสัญญา ซึ่งจำเลยทำให้ไว้กับโจทก์เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก หาใช่เป็นเรื่องฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 ไม่ ดังเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน ให้จำเลยเสียค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์