คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17766/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พฤติการณ์ที่จำเลยให้คำมั่นแก่ผู้เสียหายว่าจะจัดหาลูกจ้าง 60 คน ภายใน 1 เดือน เพื่อเป็นคนงานตัดอ้อยในไร่อ้อยของผู้เสียหายซึ่งอยู่ต่างท้องที่กับที่อยู่ของคนงาน จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการติดต่อประสานงานและบริหารจัดการเพื่อรวบรวมและรับสมัครคนงานภายในเวลาที่จำกัดและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งนอกจากจำเลยจะต้องผูกพันรับผิดชอบต่อผู้เสียหายแล้ว ยังต้องตระหนักถึงความเสียหายหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้สมัครทำงานอีกด้วย แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนในส่วนนี้ด้วยหรือไม่ก็ตาม รูปคดีน่าเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาจัดหางานให้แก่คนหางานโดยหวังผลประโยชน์ตอบแทนมิใช่การกระทำให้เปล่า การกระทำของจำเลยจึงเป็นการประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนให้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานทำงานในประเทศ จำเลยจึงมีความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 8, 73 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2537
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง, 73 จำคุก 1 ปี และปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ผู้เสียหายมีไร่อ้อยอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีต้องการจะได้คนงานตัดอ้อยจึงติดต่อพันตำรวจโทอภิชลซึ่งรู้จักคุ้นเคยกันให้หาคนงานให้ พันตำรวจโทอภิชลได้แนะนำจำเลยแก่ผู้เสียหายว่าสามารถจัดหาคนงานตัดอ้อยให้ผู้เสียหายได้ ผู้เสียหายจึงติดต่อจำเลยทางโทรศัพท์ จำเลยแจ้งว่าสามารถหาคนงานตัดอ้อยให้ผู้เสียหายได้จำนวน 60 คน ต่อมาผู้เสียหายโอนเงินจำนวน 60,000 บาท ผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาชะอำ เข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ถึงกำหนดผู้เสียหายเดินทางไปรับคนงาน ปรากฏว่าจำเลยจัดหาคนงานให้ไม่ได้ ผู้เสียหายขอเงินคืน แต่จำเลยเพิกเฉยยังไม่คืนเงินให้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ดังที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และมาตรา 4 บัญญัติว่า จัดหางาน หมายความว่า ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง โดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม และให้หมายรวมถึงการเรียกเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อจัดหางานให้คนหางาน ซึ่งลักษณะของการกระทำความผิดย่อมจะเป็นความผิดสำเร็จทันทีที่มีการกระทำอันเป็นการประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง โดยไม่คำนึงว่าผู้นั้นจะเป็นคนธรรมดาหรือนิติบุคคลและเคยประกอบธุรกิจจัดหางานมาก่อนหรือไม่ พฤติการณ์ที่จำเลยให้คำมั่นหรือสัญญาแก่ผู้เสียหายว่าจะจัดหาลูกจ้างตามจำนวนที่ตกลงกันให้ โดยเรียกและรับเงินค่าบริการเพื่อเป็นการตอบแทนล่วงหน้าเช่นนี้ ย่อมมิใช่ลักษณะการไหว้วานจากเพื่อนหรือผู้รู้จักกันตามวิสัยเป็นครั้งคราวดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย เมื่อพิจารณาถึงลักษณะของแรงงานที่ผู้เสียหายต้องการ คือ คนงานตัดอ้อยในไร่อ้อยของผู้เสียหาย อันมิใช่แรงงานธรรมดาทั่วไป ทั้งยังต้องจัดหาคนงานหรือลูกจ้างมากถึง 60 คน ภายในเวลาประมาณ 1 เดือน อันเป็นระยะเวลาค่อนข้างจำกัด และคนงานเหล่านั้นจะต้องเดินทางไปทำงานกับนายจ้างซึ่งอยู่ต่างถิ่นอีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนเพราะจะต้องมีการติดต่อประสานงานและบริหารจัดการเพื่อรวบรวมและรับสมัครคนงาน และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งนอกจากจำเลยจะต้องมีความผูกพันและรับผิดชอบต่อผู้เสียหายในการให้บริการดังกล่าวแล้ว ยังต้องตระหนักถึงความเสียหายหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ที่มาสมัครทำงานอีกด้วย แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนในส่วนนี้ด้วยหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น รูปคดีจึงเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาจะจัดหางานให้แก่คนหางานและจัดหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างหรือผู้เสียหาย โดยหวังผลประโยชน์ค่าตอบแทนการให้บริการดังกล่าวจากผู้เสียหายในเชิงธุรกิจทั่วไป มิใช่เป็นการกระทำให้เปล่าในลักษณะไหว้วานขานใช้จากเพื่อนหรือผู้รู้จักกันตามวิสัยเป็นครั้งคราวแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างตามบทนิยามดังกล่าวแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนให้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานทำงานในประเทศ จำเลยจึงมีความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานทำงานในประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ทางนำสืบรับของจำเลยมีข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงมีเหตุบรรเทาโทษและเห็นสมควรลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง, 73 จำคุก 1 ปี และปรับ 40,000 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่แล้ว คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 30,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

Share