คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายต้องเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อคอยดูแลลูกค้าของนายจ้างตามคำสั่งของนายจ้างซึ่งผู้ตายต้องทำงานทั้งวันตลอดระยะเวลาการเดินทางเฉพาะอย่างยิ่งในวันเดินทางที่เครื่องบินออกเดินทางเวลา23นาฬิกาโดยก่อนหน้านั้นผู้ตายต้องช่วยดูแลลูกค้าของนายจ้างเกี่ยวกับหนังสือเดินทางบัตรโดยสารเครื่องบินและกระเป๋าเดินทางที่สนามบินซึ่งระยะเวลาดังกล่าวหากผู้ตายไม่ต้องเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสย่อมเป็นเวลานอกเวลาทำงานและเป็นเวลาพักผ่อนของผู้ตายผู้ตายมีสุขภาพสมบูรณ์ดีและไม่มีโรคประจำตัวการที่ผู้ตายเข้าห้องน้ำเมื่อเวลา6นาฬิกาของวันเดินทางถัดมาและเป็นลมหมดสติไปเนื่องมาจากสาเหตุที่ผู้ตายเหนื่อยจากการที่ต้องทำงานและพักผ่อนไม่เพียงพอทั้งเมื่อผู้ตายเป็นลมหมดสติไปในขณะที่เครื่องบินยังบินอยู่นั้นย่อมต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะส่งตัวผู้ตายไปถึงโรงพยาบาลและแพทย์ได้ตรวจรักษาซึ่งถ้าได้ส่งตัวผู้ตายให้แพทย์ตรวจรักษาในทันทีหรือระยะเวลาอันสั้นหลังจากผู้ตายเป็นลมผู้ตายก็ไม่น่าถึงแก่ความตายพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้เป็นกรณีพิเศษไม่ใช่การทำงานตามเวลาปกติของลูกจ้างเพราะเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุที่ผู้ตายต้องเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสตามคำสั่งของนายจ้างซึ่งถ้าผู้ตายทำงานตามปกติอยู่ในประเทศไทยเหตุการณ์ดังกล่าวคงไม่เกิดขึ้นเห็นได้โดยชัดเจนว่าผู้ตายถึงแก่ความตายอันมีสาเหตุเนื่องจากการทำงานตามคำสั่งของนายจ้างจึงเป็นการประสบอันตรายในความหมายของคำว่า”ประสบอันตราย”ตามมาตรา5แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทนพ.ศ.2537

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางสาวนรัชพรรณ กิจวนิชประเสริฐ ผู้ตายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ เข้าทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทไทยผลิตภัณฑ์ยิบซั่ม จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ 2536 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเรียกเงินทดแทนต่อสำนักงานกองทุนเงินทดแทน แต่สำนักงานดังกล่าววินิจฉัยว่าผู้ตายมิได้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้แก่บริษัทนายจ้าง โจทก์ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อจำเลย จำเลยมีคำวินิจฉัยว่าผู้ตายมิได้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลย และพิพากษาว่าผู้ตายประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่บริษัทนายจ้าง ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์เดือนละ 5,566 บาท เป็นเวลา 8 ปีเป็นเงิน 534,412 บาท
จำเลยให้การว่า ระหว่างการเดินทางบนเครื่องบิน ผู้ตายเป็นลมหมดสติและเสียชีวิตในเวลาต่อมา อันเป็นการเสียชีวิตโดยธรรมชาติ มิใช่เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง หรือเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า กรณีของผู้ตายถือไม่ได้ว่าเป็นประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำว่า “ประสบอันตราย” ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 กฎหมายถือเอาผลที่ได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจของลูกจ้างในทุก ๆ ด้านหรือมีการกระทำอย่างใดที่ทำให้ลูกจ้างถึงแก่ความตายมาจากสาเหตุใด ๆเพราะเหตุที่ทำงานให้แก่นายจ้างต้องถือว่าเป็นกรณีประสบอันตรายในการทำงานให้นายจ้าง ย่อมมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามกฎหมายนั้นพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 5 ได้ระบุไว้ว่า”ประสบอันตราย” หมายความว่าการที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคำสั่งของนายจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า ในกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายนายจ้างจะต้องจ่ายเงินทดแทนใน 3 กรณี คือ กรณีที่ถึงแก่ความตายอันมีสาเหตุเนื่องจากการทำงาน ถึงแก่ความตายอันมีสาเหตุเนื่องจากการป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง และถึงแก่ความตายอันมีสาเหตุเนื่องจากทำตามคำสั่งของนายจ้างกรณีของผู้ตายย่อมเห็นได้ว่า ผู้ตายต้องเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อคอยดูแลลูกค้าของนายจ้างในระหว่างวันที่ 16 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2538 ตามคำสั่งของนายจ้างซึ่งผู้ตายต้องทำงานทั้งวันตลอดระยะเวลาการเดินทาง เฉพาะในวันเดินทางที่เครื่องบินออกเดินทางเวลา23 นาฬิกา โดยก่อนหน้านั้นผู้ตายต้องช่วยดูแลลูกค้าของนายจ้างเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง บัตรโดยสารเครื่องบิน และกระเป๋าเดินทางที่สนามบิน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวหากผู้ตายไม่ต้องเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสย่อมเป็นเวลานอกเวลาทำงานและเป็นเวลาพักผ่อนของผู้ตาย ต่อมาเมื่อเครื่องบินออกเดินทาง แม้จะเป็นเวลาพักผ่อนหลับนอนแต่ก็เป็นไปได้สำหรับบุคคลที่ไม่เคยเดินทางโดยเครื่องบินหรือแม้จะเคยเดินทางโดยเครื่องบินแต่เนื่องจากผิดจากสถานที่เคยนอนประจำก็อาจจะทำให้นอนไม่หลับ ได้ความว่าผู้ตายมีสุขภาพสมบูรณ์ดีและไม่มีโรคประจำตัว การที่ผู้ตายเข้าห้องน้ำเมื่อเวลา 6 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นและเป็นลมหมดสติไป น่าจะมาจากสาเหตุที่ผู้ตายเหนื่อยจากการที่ต้องทำงานและได้พักผ่อนไม่เพียงพอดังกล่าวข้างต้น ย่อมทำให้ร่างกายอ่อนเพลียอันเป็นเหตุให้เป็นลมได้ทั้งเมื่อผู้ตายเป็นลมหมดสติไปในขณะที่เครื่องบินยังบินอยู่นั้น ย่อมต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะส่งตัวผู้ตายไปถึงโรงพยาบาลและแพทย์ได้ตรวจรักษา ซึ่งถ้าได้ส่งตัวผู้ตายให้แพทย์ตรวจรักษาในทันทีหรือระยะเวลาอันสั้นหลังจากผู้ตายเป็นลม ผู้ตายก็ไม่น่าถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้เป็นกรณีพิเศษไม่ใช่การทำงานตามเวลาปกติของลูกจ้าง เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุที่ผู้ตายต้องเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสตามคำสั่งของนายจ้าง ซึ่งถ้าผู้ตายทำงานตามปกติอยู่ในประเทศไทยเหตุการณ์ดังกล่าวคงไม่เกิดขึ้น จึงเห็นได้โดยชัดเจนว่าผู้ตายถึงแก่ความตายอันมีสาเหตุเนื่องจากการทำงานตามคำสั่งของนายจ้างจึงเป็นการประสบอันตรายในความหมายของคำว่า “ประสบอันตราย” ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 โจทก์ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายจึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2538 และให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537

Share