คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 177/2528

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พินัยกรรมทำขึ้นในขณะเจ้ามรดกมีสติดี สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ แม้จะเป็นบุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถก็เพียงไม่สามารถจัดการงานบางประการของตนเองได้เท่านั้น การทำพินัยกรรมเป็นกิจการเฉพาะตัวที่จะต้องแสดงเจตนาด้วยตนเองและผู้พิทักษ์ก็ได้ให้ความยินยอมแล้ว พินัยกรรมจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ฟังว่าพินัยกรรมเป็นพินัยกรรมปลอมพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268วรรคแรก ประกอบด้วย มาตรา 266, 264 วรรคสอง จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7มีความผิดตามมาตรา 266 ประกอบด้วย มาตรา 264 วรรคสอง และจำเลยที่ 7ยังมีความผิดตามมาตรา 157 อีกด้วย แต่เป็นความผิดหลายบท คงลงโทษตามมาตรา 266 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 คนละ 2 ปี จำเลยที่ 7 ยังมีความผิดตามมาตรา 162(1) อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 1ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คงได้ความเบื้องต้นตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมผู้หนึ่งในฐานะเป็นผู้รับมรดกแทนลุงของเจ้ามรดกนางเติมศรี วีระไวทยะ มารดาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นพี่น้องร่วมบิดากับโจทก์ ส่วนนางสาวจงกลณี พนมวัน ณ อยุธยา เจ้ามรดกผู้ตาย เป็นบุตรนางต่วน น้องสาวของขุนนารถนิกร บิดาของโจทก์ ขณะเกิดเหตุคดีนี้ผู้ตายอยู่บ้านเดียวกับจำเลยที่ 1 ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ จะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นพินัยกรรมปลอม โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นในขณะที่อ้างว่าจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันทำพินัยกรรมปลอมขึ้น คงมีแต่ตนเองและนางประพัฒน์ศรี ณ ป้อมเพชรน้องสาวของโจทก์มาเบิกความสรุปได้ว่าขณะทำพินัยกรรม ผู้ตายไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ โดยเชื่อตามรายงานของแพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้ตายก่อนตายและโจทก์มีนายแพทย์ทรงศักดิ์ พงศาธร แพทย์ผู้แปลรายงานการตรวจรักษาผู้ตายซึ่งแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้ทำไว้ จากภาษาแพทย์มาเป็นภาษาธรรมดามาเบิกความประกอบรายงานการตรวจรักษาผู้ตายดังกล่าวดังนี้ รายงานของแพทย์ดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสำคัญที่จะชี้ว่าขณะทำพินัยกรรมผู้ตายสามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้หรือไม่ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 (ก)แผ่นที่ 1 ว่าผู้ตายได้เข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2521แพทย์ลงความเห็นว่าผู้ตายเป็นปัญญาอ่อนภายหลังมีการอักเสบของเนื้อสมอง ในวันเดียวกันนั้นแพทย์ได้จัดให้มีการทดสอบวัดระดับสติปัญญาและความเฉลียวฉลาด ได้ระดับสติปัญญา และความเฉลียวฉลาด (I.Q)จากการออกเสียง 81 จากการกระทำ 46 ระดับสเกลเต็มของสติปัญญาและความเฉลียวฉลาด (I.Q) ได้ 64 แพทย์หมายเหตุว่า ระดับสติปัญญาและความเฉลียวฉลาดของบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป จะได้ตั้งแต่ 100 ขึ้นไป แสดงว่าในวันที่ 7 มิถุนายน 2521 ผู้ตายยังพูดจาได้และเคลื่อนไหวร่างกายตามคำสั่งแพทย์ได้ แม้จะไม่ถึงระดับบุคคลธรรมดา แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่จะไม่เข้าใจสิ่งใดหรือพูดจาไม่รู้เรื่อง ในเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 3 แพทย์บันทึกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2522 ว่า หกล้มแล้วเดินไม่ได้มา 2 วัน ไม่ได้บ่นปวดที่ไหน แสดงว่าก่อนหกล้มยังสามารถเดินได้ และที่ว่าไม่ได้บ่นว่าปวดที่ไหน แสดงว่ายังพูดจาได้แต่ไม่ได้บ่นปวดเท่านั้น ถ้าพูดไม่ได้แพทย์ก็น่าจะบันทึกว่า พูดไม่ได้ เอกสารที่ต้องพิเคราะห์โดยละเอียดได้แก่เอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 5 ไม่ได้ลงวันที่แพทย์บันทึกไว้ว่า “15 วันก่อนอยู่ดี ๆ ก็ล้มลง รู้สึกตัว หลังจากนั้นก็มีแขน ขาข้างขวาอ่อนแรงลง ปัสสาวะราด ไม่ถ่ายอุจาระมา 3 วัน เป็นผู้ป่วยอยู่ในพวกสมองพิการ” การตรวจร่างกายแพทย์บันทึกว่า “ผอมแห้ง พูดไม่ได้ ไม่ซีดไม่เหลือง” เอกสารทั้ง 3 แผ่นนี้นายแพทย์ทรงศักดิ์ พงศาธร พยานโจทก์แปลมาจากเอกสาร จ.13 โดยเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 1 แปลจากเอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 1 การทดสอบวัดระดับสติปัญญาแปลมาจากเอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 2 เอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 3 แปลจากเอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 3 ส่วนเอกสาร จ.1(ก) แผ่นที่ 5 แปลมาจากเอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 5 แปลมาจากเอกสารหมาย จ.13 แผ่นที่ 5 ศาลฎีกาตรวจดูที่มาของเอกสารแผ่นที่ 5 นี้แล้ว ปรากฏว่าเป็นเอกสารด้านหลังของเอกสารหมาย จ.1(ข) ซึ่งด้านหน้าปรากฏว่าลงวันที่ “7 มิถุนายน 2521” และ “8 มิถุนายน 2521” ข้อความที่ว่า “15 วันก่อน อยู่ดี ๆ ก็หกล้ม ผอมแห้งพูดไม่ได้” นั้นขัดแย้งกับบันทึกของแพทย์ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2522 ที่ว่า”หกล้ม แล้วเดินไม่ได้มา 2 วัน ไม่ได้บ่นปวดที่ไหน” เพราะตามเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 5 แสดงว่าผู้ตายหกล้มก่อนวันที่ 8 มิถุนายน 2521 ถึง15 วัน และพูดไม่ได้ แต่ตามเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 3 แสดงว่าผู้ตายหกล้มในวันที่ 16 กรกฎาคม 2522 และยังพูดได้ ถ้าเอาเอกสารหมาย จ.1(ก)แผ่นที่ 5 ได้ทำขึ้นในเดือนมิถุนายน 2521 ก็เป็นเวลาก่อนวันที่ 18 กรกฎาคม2522 อันเป็นวันที่แพทย์บันทึกเอกสารที่เป็นที่มาของเอกสารหมาย จ.1(ก)แผ่นที่ 3 ถึง 1 ปี ฝ่ายจำเลยมีนายชัชวาล สุริรังษี ทนายความผู้รับมอบอำนาจให้เรียกร้องติดตามทวงถามเรียกคืนโฉนดเลขที่ 9371, 9334 ของผู้ตาย ร่วมกับนายบริบูรณ์ ณ ป้อมเพชร มาเบิกความประกอบหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 26มีนาคม 2522 หมาย ล.4 และ ล.5 ว่า ผู้ตายได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้พยานดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตายที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าต่อหน้านายแพทย์อรุณ เชาวนาศัย และเจ้าหน้าที่เขต ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 ว่าก่อนวันทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 23มีนาคม 2522 ขอให้หัวหน้าเขตพญาไทไปรับรองลายมือชื่อของผู้ตายในหนังสือมอบอำนาจด้วย ซึ่งเขตพญาไทก็ได้ส่งนายอนนต์วุฒิ รัตนมาลี เจ้าพนักงานปกครอง 5 ไปที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในวันทำหนังสือมอบอำนาจนายอนนต์วุฒิเบิกความว่าพยานและพันเอกนายแพทย์อรุณได้สอบถามผู้ตายเกี่ยวกับการทำหนังสือมอบอำนาจ เห็นว่าผู้ตายพูดจารู้เรื่องดี เมื่อทำใบมอบอำนาจแล้วพยานได้ให้ผู้ตายลงชื่อในใบมอบอำนาจ ซึ่งผู้ตายก็สามารถลงชื่อในเอกสารได้และพยานได้ทำบันทึกรับรองว่าผู้ตายได้ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.5 ล.6 ต่อหน้าพยานและพันเอกนายแพทย์อรุณจริง ปรากฏตามบันทึกด้านหลังเอกสารหมาย ล.5,ล.6 พันเอกนายแพทย์อรุณก็ทำบันทึกรับรองลายมือชื่อของผู้ตายและเบิกความรับรองว่าเป็นความจริงดังที่นายอนนต์วุฒิเบิกความ ดังนี้จึงแสดงว่าหลังจากวันที่ 8 มิถุนายน 2521 แล้วผู้ตายมีอาการดีขึ้นสามารถทำใบมอบอำนาจและลงชื่อในใบมอบอำนาจได้ เชื่อได้ว่าอาการป่วยของผู้ตายก่อนทำพินัยกรรมมีหนักมีเบาอยู่เป็นระยะ ๆ สุดแต่โรคแทรกซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวอย่างไรก็ดี ฝ่ายโจทก์ก็พยายามเสนอเอกสารต่อศาลโดยใช้วิธีสับเอกสารแผ่นที่ 5ซึ่งอยู่ด้านหลังของเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 1 ซึ่งทำในวันที่ 7, 8 มิถุนายน2521 ไว้หลังเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 3 ซึ่งทำเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2522เพื่อแสดงว่าหลังจากวันที่ 18 กรกฎาคม 2522 แล้วผู้ตายพูดไม่ได้ เพื่อจูงใจให้ศาลเชื่อว่าในวันที่ 26 กรกฎาคม 2522 อันเป็นวันที่มีการทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 นั้น ผู้ตายพูดไม่ได้ ดังนี้ เอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 5จึงเป็นพิรุธเชื่อฟังไม่ได้ว่าทำขึ้นตามความเป็นจริงยิ่งกว่านั้น โจทก์ยังอ้างเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 15 เข้ามาอีกฉบับหนึ่งเป็นรายงานแพทย์บันทึกเมื่อ 30 กรกฎาคม 2522 ว่า “15 วันก่อนล้มลง แล้วแขนขวาอ่อนแรง ปัสสาวะและอุจจาระ ไม่รู้ตัว” ทำให้ยิ่งสับสนหนักขึ้นว่าผู้ตายหกล้มเมื่อใดแน่ เพราะปรากฏวันหกล้มตามเอกสารของโจทก์ 3 ฉบับแตกต่างกันไป นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่าแพทย์ผู้บันทึกข้อความในเอกสารอันเป็นพิรุธนี้คือใครและโจทก์ก็ไม่ได้นำแพทย์ผู้บันทึกมาเบิกความประกอบเอกสารเพื่อให้ทนายจำเลยซักค้านคงมีแต่นายแพทย์ทรงศักดิ์ ผู้แปลเอกสารภาษาแพทย์มาเป็นภาษาธรรมดามาเบิกความเป็นพยานเท่านั้น ทั้งนายแพทย์ทรงศักดิ์ก็ไม่ใช่แพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้ตาย และไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคประสาท การที่พยานลงความเห็นว่าดูตามรายงานแพทย์แล้วเห็นว่าผู้ตายไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้คำเบิกความของนายแพทย์ทรงศักดิ์พยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้ยิ่งกว่าแพทย์ผู้เคยตรวจร่างกายและรักษาผู้ตายโดยตรง ตามคำฟ้องและคำเบิกความของโจทก์ปรากฏว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 ได้กระทำกันที่บ้านเลขที่ 36ซอย 23 ถนนลาดพร้าว แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ซึ่งบ้านนี้เป็นบ้านของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าหลังจากวันที่ 18 กรกฎาคม 2522ซึ่งแพทย์บันทึกว่าผู้ตาย “หกล้มแล้วเดินไม่ได้มา 2 วัน ไม่ได้บ่นปวดที่ไหน” แล้วผู้ตายก็ได้กลับไปรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลแล้วจะกลับไปทำพินัยกรรมที่บ้านจำเลยที่ 1 ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2522 ได้อย่างไร วันที่ 30 กรกฎาคม2522 หลังเกิดเหตุคดีนี้แล้วผู้ตายจึงได้กลับไปรักษาตัวในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1(ข) แผ่นที่ 5

ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า วันที่ 26 กรกฎาคม 2522 อันเป็นวันทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย จ.6 ผู้ตายยังมีสติดี พูดจารู้เรื่อง นายแพทย์วินิต พัวประดิษฐ์ พยานจำเลย ผู้ตรวจร่างกายผู้ตายก่อนทำพินัยกรรมเบิกความว่าขณะตรวจร่างกายผู้ตายนั้นผู้ตายนั่งอยู่กับพื้น พยานถามชื่อ ผู้ตายตอบเสียงค่อนข้างเบา ช้า ๆ ว่าชื่อ นางสาวจงกลณี พนมวัน ณ อยุธยา พยานถามต่อไปว่าเป็นอย่างไรบ้าง ผู้ตายตอบว่าสบายดี ถามว่าทานข้าวได้ไหม ก็ตอบว่า ทานได้พยานเห็นว่าคนไข้พูดรู้เรื่องจึงหยุดถามแล้วตรวจร่างกายโดยใช้หูฟัง สังเกตเห็นว่าผู้ตายขยับแขนขาได้ เมื่อตรวจแล้วจึงทำรายงานขึ้น 2 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่ 3 และ 4 ว่า “นางสาวจงกลณี พนมวัน ณ อยุธยา มีจิตใจและสติสัมปชัญญะเป็นปกติสมบูรณ์ดี” นางสาวกัลยาณีพยานในพินัยกรรมคนหนึ่งเบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 7 ถามผู้ตายว่า วันนี้รู้ไหมว่าจะทำอะไร ผู้ตายบอกว่าจะทำพินัยกรรม แพทย์ให้หายใจยาว ๆ ผู้ตายทำได้ตามที่บอกแสดงว่าผู้ตายพูดจารู้เรื่องดี จำเลยที่ 7 สอบถามเรื่องทรัพย์สินว่าจะยกให้ใคร ผู้ตายก็บอกว่ายกให้ “น้อย” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของจำเลยที่ 1 ถ้ารับไม่ได้ก็ยกให้ “แจ๋ว” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของจำเลยที่ 2 ถ้าจำเลยที่ 2 รับไม่ได้ก็ยกให้ “อู๊ด” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของจำเลยที่ 3ข้อนี้ก็แสดงว่าผู้ตายยังมีสติสัมปชัญญะดีเพราะจำชื่อเล่นของจำเลยที่ 1, 2 และ3 ได้ นางประยงค์ศรี ซื่อวาจา ผู้เขียนพินัยกรรมเบิกความว่า “ขณะที่ข้าฯ จับมือนางสาวจงกลณีพิมพ์หมึกในคราวแรกนั้น ข้าฯ พูดกับนางสาวจงกลณีว่ามือนิ่มจังนางสาวจงกลณีบอกข้าฯ ว่า ก็ไม่ได้ทำงานอะไร มือจึงนิ่ม” คำเบิกความประโยคนี้ของพยานถ้าพิจารณาเผิน ๆ ก็ไม่มีความสำคัญอันใด แต่ข้อความที่ผู้ตายตอบนางประยงค์ศรีดังกล่าวพิเคราะห์ดูให้ลึกซึ้งแล้วแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า ผู้ตายยังมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนคนปกติธรรมดา หาได้ตอบคำถามพอให้เสร็จ ๆ ไปเท่านั้นไม่ เกี่ยวกับการพิมพ์ลายนิ้วมือลงในพินัยกรรมที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันจับมือของเจ้ามรดกพิมพ์ลงในพินัยกรรมนั้น โจทก์ก็ไม่มีพยานรู้เห็นเหตุการณ์เป็นการคาดคะเนเอาเท่านั้น โดยข้อเท็จจริงจะเป็นไปได้อย่างไรว่ามือเล็ก ๆ ผอมบางของเจ้ามรดกมือเดียว จะต้องมีมือของจำเลยทั้งเจ็ดช่วยกันจับกดลงในพินัยกรรม ตรงกันข้ามพยานจำเลยซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุยืนยันว่าจำเลยที่ 6ผู้เขียนพินัยกรรมเพียงแต่จับนิ้วหัวแม่มือซ้ายของเจ้ามรดกกดลงบนแท่นหมึกพิมพ์เท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้หมึกพิมพ์ติดนิ้วหัวแม่มือมาก ๆ ส่วนตอนพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายลงในช่องผู้ทำพินัยกรรมนั้น จำเลยที่ 6 เพียงแต่ชี้ให้เจ้ามรดกพิมพ์เองแม้กระนั้นก็ต้องพิมพ์ถึง 2 ครั้ง เพราะการพิมพ์ครั้งแรกไม่ชัดเจนพอ ถ้าจำเลยทั้งเจ็ดช่วยกันจับนิ้วเจ้ามรดกพิมพ์ลงในพินัยกรรมแล้ว เพียงครั้งเดียวก็เพียงพอแล้วเนื่องจากมีแรงกดจากผู้อื่นช่วย

โดยสรุปศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นเหตุการณ์ขณะมีการทำพินัยกรรมมาเบิกความยืนยันพิสูจน์ความผิดของจำเลย คงอาศัยเพียงรายงานของแพทย์มาประกอบความเห็นของพยานและคาดหมายเอาว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะเอกสารหมาย จ.1(ก) แผ่นที่ 5มีพิรุธไม่น่าเชื่อว่าทำขึ้นตรงตามความเป็นจริง และโจทก์ใช้วิธีเสนอเอกสารต่อศาลโดยสับเอกสารซึ่งทำขึ้นก่อนวันที่ 18 กรกฎาคม 2522 มาไว้หลังเอกสาร ซึ่งทำในวันที่ 18 กรกฎาคม 2522 ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงว่า ระหว่างวันที่ 19 เดือนเดียวกัน จนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2522 อันเป็นวันทำพินัยกรรมผู้ตายมีอาการหนักไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ ฝ่ายจำเลยมีพยานซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์ในขณะทำพินัยกรรมมาเบิกความหลายปาก โดยเฉพาะจำเลยที่ 4 ที่ 5 พยานในพินัยกรรม จำเลยที่ 6 ผู้เขียนพินัยกรรม และจำเลยที่ 7ซึ่งมีตำแหน่งหัวหน้างานปกครองผู้สอบถามผู้ตายในการทำพินัยกรรมและบอกข้อความให้จำเลยที่ 6 เขียนในฐานะเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 ก็ล้วนแต่เป็นข้าราชการโดยจำเลยที่ 4 เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองผังเมืองกระทรวงมหาดไทยรู้เห็นและเป็นพยานในพินัยกรรมตามอัธยาศัยของเพื่อนบ้านจำเลยที่ 7 ก็เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รักษาการแทนหัวหน้าเขต ปฏิบัติหน้าที่ไปตามกฎหมาย ทุกคนไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือมีส่วนได้เสียในพินัยกรรมทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าพยานเหล่านี้ได้รับการจ้างวาน ใช้ให้กระทำผิด จึงไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่พยานเหล่านี้จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 โดยการร่วมมือกันทำพินัยกรรมปลอมขึ้น จำเลยที่ 1 เป็นหลานของผู้ตาย ซึ่งปรากฏตามคำสั่งศาลแพ่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7830/2521 ว่าเดิมทวดของจำเลยที่ 1เป็นผู้อุปการะผู้ตายมาก่อน เมื่อทวดของจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1กับมรดกก็รับภาระอุปการะเลี้ยงดูผู้ตายต่อมาอีกหลายปี จึงไม่เป็นการผิดวิสัยที่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยมีเหตุผลสอดคล้องฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ คดีฟังได้ว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 ทำขึ้นในขณะเจ้ามรดกมีสติดี สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ แม้จะเป็นบุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถ ก็เพียงไม่สามารถจัดการงานบางประการของตนเองได้เท่านั้น การทำพินัยกรรมเป็นกิจการเฉพาะตัวที่จะต้องแสดงเจตนาด้วยตนเองและผู้พิทักษ์ก็ได้ให้ความยินยอมแล้ว พินัยกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อฟังได้ว่าพินัยกรรมไม่ปลอมการกระทำของจำเลยทุกคนก็ไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้านี้มา ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งห้าฟังขึ้น”

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share