คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1758/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 จะได้กล่าวเท็จในหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรว่าตนเป็นผู้สั่งการให้จับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับภาษีศุลกากรที่มีการขอรับสินบนนำจับนั้นแต่เมื่อจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อความดังกล่าวต่ออธิบดีกรมศุลกากรการกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการกระทำในการปฏิบัติการตามหน้าที่จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162
เมื่อศาลอุทธรณ์ได้สั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 แล้วเพราะเหตุถึงแก่กรรมสิทธิของโจทก์ในการฟ้องจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นอันระงับไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1) คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดย่อมระงับไปในตัวและไม่มีผลบังคับต่อไปศาลฎีกาจึงไม่พิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วย
พยานที่เกิดจากขู่เข็ญจูงใจว่าจะให้พยานออกจากงานโดยรับบำนาญและไม่จับกุมมาดำเนินคดีรับฟังไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162 ศาลอุทธรณ์สั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ซึ่งถึงแก่กรรมระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และพิพากษายืนสำหรับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า”พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อถือส่วนโจทก์ไม่มีพยานคนใดยืนยันได้ว่าไม่มีผู้แจ้งความนำจับบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 2 กับนางอะไพ อินทาปัจ หมาย จ.24 และ จ.26 ซึ่งให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนของกรมตำรวจรับว่าไม่มีผู้แจ้งความนำจับ ตลอดจนบันทึกยืนยันคำให้การดังกล่าวต่อคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยของกระทรวงมหาดไทยและต่อพนักงานสอบสวนนั้น จำเลยที่ 2 กับนางอำไพ อินทาปัจ ก็เบิกความว่าให้การและยืนยันเช่นนั้นเพราะถูกคณะกรรมการและพนักงานสอบสวนขู่เข็ญจูงใจว่าจะให้จำเลยที่ 2 ออกจากราชการโดยได้รับบำนาญ และไม่จับกุมนางอำไพอินทาปัจ เป็นผู้ต้องหา ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นความจริง เห็นว่า คำให้การดังกล่าวเกิดจากการขู่เข็ญจูงใจ ต้องห้ามมิให้อ้างเป็นพยาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 จึงรับฟังไม่ได้ คดีฟังได้ว่าการจับกุมรายนี้มีผู้แจ้งความนำจับ และผู้แจ้งความนำจับคือนางอำไพ อินทาปัจ

มีปัญหาต่อไปว่าลายพิมพ์นิ้วมือในใบแจ้งความนำจับและใบมอบฉันทะให้รับสินบนนำจับแทนเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของนางอำไพ อินทาปัจหรือไม่ การจับกุมรายนี้เป็นผลสำเร็จเพราะการแจ้งความหรือไม่ และจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้จับกุมหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่าลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารดังกล่าวเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของนางอำไพ อินทาปัจ จริง และตามพฤติการณ์ในคดีเชื่อว่าการจับกุมรายนี้เป็นผลสำเร็จเพราะการแจ้งความนั้น ส่วนการที่จำเลยที่ 1อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้จับกุมในหนังสือหมาย จ.3 ที่มีไปถึงอธิบดีกรมศุลกากร ขอรับสินบนนำจับแทนผู้แจ้งความนั้น ตามหลักฐานในคดีปรากฏว่าจำเลยที่ 1 พึ่งทราบถึงเรื่องการจับกุมรายนี้เมื่อเช้าวันที่ 25 กันยายน 2514 อันเป็นเวลาภายหลังการจับกุมแล้วหลายชั่วโมง ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบถึงการกระทำความผิดรายนี้มาก่อน จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้สั่งการให้จับกุมแต่อย่างใด

ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมาแล้วนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 บันทึกในใบแจ้งความนำจับหมาย จ.3 และใบมอบฉันทะหมาย จ.5 รับรองว่าลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารนั้นเป็นลายพิมพ์นิ้วมือของผู้แจ้งความนำจับ และรับรองในใบแจ้งความนำจับหมาย จ.3 ว่า การจับกุมเป็นผลสำเร็จเพราะการแจ้งความดังกล่าว และการที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือหมาย จ.3 ถึงอธิบดีกรมศุลกากรรับรองว่า มีผู้แจ้งความนำจับ ตลอดจนการขอรับสินบนนำจับในฐานะผู้รับมอบฉันทะแทนผู้แจ้งความนำจับ จึงไม่ใช่ความเท็จ และมิใช่เป็นการหลอกลวงฉ้อโกงกรมศุลกากร การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินสินบนนำจับไปจากกรมศุลกากรจึงเป็นการชอบ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 กล่าวในหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร หมาย จ.3 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้จับกุมนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องทำเอกสารแจ้งข้อความดังกล่าวต่ออธิบดีกรมศุลกากร การที่จำเลยที่ 1 ทำเอกสารดังกล่าวขึ้นจึงมิใช่เป็นการกระทำในการปฏิบัติการตามหน้าที่ แม้จะไม่เป็นความจริงก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำความผิดตามฟ้องทุกข้อหาและไม่ต้องคืนเงินสินบนนำจับให้แก่กรมศุลกากร ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และให้คืนเงินแก่กรมศุลกากรนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น

อนึ่ง ตามที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำความผิดนั้นแม้เป็นเหตุในลักษณะคดี อันฟังไปถึงจำเลยที่ 2 ว่ามิได้กระทำความผิดด้วยก็ตาม แต่เห็นว่าศาลอุทธรณ์ได้สั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 แล้ว เพราะเหตุถึงแก่กรรม สิทธิของโจทก์ในการฟ้องจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นอันระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1) คำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดย่อมระงับไปในตัวและไม่มีผลบังคับต่อไป ศาลฎีกาจึงไม่พิพากษาตลอดไป ถึงจำเลยที่ 2 ด้วย

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์”

Share