คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1758-1759/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้บุกรุกเข้าไปในบริเวณอุทยานประวิติศาสตร์ศรีสัชนาลัยซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ของกรมศิลปากรโจทก์ที่ 2 และเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังโจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองขุดทำลายแนวกำแพงเมืองก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างทับแนวกำแพงดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารและสิ่งก่อสร้างออกจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ราชพัสดุ จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาโดยชอบและได้ครอบครองทำประโยชน์จนที่สิทธิครอบครองก่อนโจทก์ที่ 2 ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ขอให้ยกฟ้อง จึงเป็นกรณีที่พิพาทกันด้วยเรื่องความเป็นเจ้าของว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง ผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่อยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ทั้งสอง แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท ทำที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมและให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้หรือไม่ แต่การที่จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวจะต้องฟังข้อเท็จจริงให้ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นโบราณสถานอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่อยู่ในความครอบครองดูแลของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นที่ดินที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองอันเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีที่โจทก์ฟ้อง มิใช่นอกประเด็น
ที่ดินพิพาทส่วนที่จำเลยที่ 1 เข้าปลูกสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เมื่อโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นส่วนราชการที่มีอำนาจครอบครองดูแลตามกฎหมายไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 อยู่ในที่ดินพิพาท จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ให้รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างและบังคับให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้
ทางราชการได้สงวนที่ดินพิพาทไว้เพื่อประโยชน์ของทางราชการ และการที่อธิบดีของโจทก์ที่ 2 เคยมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างอาคารและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทแสดงว่าทางราชการได้หวงกันไว้ตลอดมา ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ทางราชการสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304(3) ต้องห้ามมิให้โอนเว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่ารับโอนมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและเข้าครอบครองที่ดินพิพาทก่อนโจทก์ที่ 2 ประกาศกำหนดให้เป็นเขตโบราณสถานก็ไม่ทำให้สภาพที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเปลี่ยนแปลงไป จำเลยที่ 2 ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้กับทางราชการได้ เมื่อที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 2 เข้าครอบครองเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและประกาศเป็นเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ย่อมอยู่ในความดูแลของโจทก์ที่ 2 และการขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุจึงเป็นทรัพย์สินของทางราชการที่อยู่ในความครอบครองดูแลของโจทก์ที่ 1 ด้วย โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ให้รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างและให้จำเลยที่ 2 กับบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้
คดีก่อนโจทก์ที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองอาศัยมูลละเมิดที่จำเลยทั้งสองทำลายกำแพงเมืองเสียหายอันเป็นกรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการทำให้เสียทรัพย์ คดีถึงที่สุดแล้ว แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองให้รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างและให้จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทโดยอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใช้สอยทรัพย์ที่พิพาท แม้จะฟ้องเรียกค่าเสียหายมาด้วยก็เป็นค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองเข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีอำนาจ เป็นกรณีอ้างว่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ดังนี้ประเด็นคดีแรกและคดีนี้ย่อมแตกต่างกัน ประเด็นที่วินิจฉัยคดีทั้งสองมิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์ทั้งสองไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสองฟ้องทั้งสองสำนวนทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทกระทรวง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้แทนนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่ปกครองดูแลรักษาและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินของหลวงในกระทรวงต่างๆ โดนขึ้นทะเบียนราชพัสดุไว้เพื่อดูแลรักษาแทนรัฐบาล โจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทกรม สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีอธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้แทนนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลบำรุงรักษาและคุ้มครองโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตลอดทั้งปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรวมทั้งกฎหมายและระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมทั้งที่ดินบริเวณกำแพงเมืองเชลียงศรีสัชนาลัย อาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 7 โจทก์ที่ 2 ได้กำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เป็นโบราณสถานตามประกาศของโจทก์ที่ 2 เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ประมาณ 28,217 ไร่ ลงวันที่ 24 มีนาคม 2531 ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วที่ดินโบราณสถานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเป็นทรัพย์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อยู่ในความครอบครองดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ของโจทก์ที่ 2 และอยู่ในความปกครองดูแลรักษาและเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 เมื่อระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2530 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2531 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 กับพวกได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และเมื่อระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2530 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2531 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 2 กับพวกได้ร่วมกันบุกรุกและก่อสร้างสิ่งก่อสร้างในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย วังสำโรง ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 กับพวกได้ร่วมกันขุดทำลายแนวกำแพงเมืองเชลียงศรีสัชนาลัย เป็นความยาว 20 เมตร ทำการก่อสร้างร้านอาหารขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 14 เมตร จำนวน 1 หลังและบริเวณโดยรอบของร้านอาหารดังกล่าวคิดเป็นเนื้อที่ 2 งานทับแนวกำแพงดังกล่าว และจำเลยที่ 1 กับพวกได้ครอบครองใช้ประโยชน์อาคารสิ่งปลูกสร้างและที่ดินดังกล่าวตลอดมา อันเป็นการร่วมกันบุกรุก ทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ 2 กับพวกได้ขุดทำลายแนวกำแพงเมืองเชลียงศรีสัชนาลัยยาว 100 เมตร แล้วก่อสร้างอาคารคอนกรีตทับแนวกำแพงและบริเวณกำแพงดังกล่าวจำนวน 9 หลัง ขุดเจาะร่องน้ำทำถนน รั้วคอนกรีต สวนหย่อมและน้ำตกจำลอง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ ในบริเวณโบราณสถานดังกล่าว และจำเลยที่ 2 กับพวกได้ครอบครองใช้ประโยชน์อาคารสิ่งปลูกสร้างและที่ดินดังกล่าวตลอดมา อันเป็นการ่วมบุกรุกทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถานอันมิชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 2 จึงแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง พนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดสวรรคโลกได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลเป็นคดีอาญา ศาลได้พิพากษาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2534 ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 32 วรรคแรก ให้จำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ 1 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 226-227/2534 ของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้วการกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกและจำเลยที่ 2 กับพวกดังกล่าวเป็นการระเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ครอบครอง มีหน้าที่ปกครองควบคุมคุ้มครองดูแลบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุได้รับความเสียหาย กล่าวคือ โจทก์ที่ 1 ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินโบราณสถานดังกล่าวได้ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2530 เป็นต้นมาถึงวันฟ้องเป็นเวลา 120 เดือน คิดเป็นเงินเดือนละ 350 บาท รวมเป็นเงิน 42,000 บาท และการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2530 เป็นต้นมาถึงวันฟ้องเป็นเวลา 119 เดือน คิดเป็นเงินเดือนละ 4,900 บาท รวมเป็นเงิน 583,100 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ควบคุม ดูแลรักษาและคุ้มครองโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้เต็มที่และโดยสะดวกตามอำนาจหน้าที่ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารร้านอาหารขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 14 เมตร จำนวน 1 หลัง ทำที่ดินบริเวณอาคารร้านอาหารดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเดิม และบังคับให้จำเลยที่ 1 กับพวกออกจากที่ดินดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมรื้อถอนอาคารร้านอาหาร ขอให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเองโดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงินทั้งสิ้น 42,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 อีกเดือนละ 350 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 และบริวารจะออกจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 กับขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รื้อถอนอาคารคอนกรีตจำนวน 9 หลัง ร่องน้ำ ถนน รั้วคอนกรีต สวนหย่อมและน้ำตกจำลอง ทำที่ดินบริเวณดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเดิม และบังคับให้จำเลยที่ 2 กับบริวารออกจากที่ดินดังกล่าว หากจำเลยที่ 2 ไม่ยอมรื้อถอนอาคารคอนกรีตจำนวน 9 หลัง ร่องน้ำ ถนน รั้วคอนกรีต สวนหย่อมและน้ำตกจำลอง ขอให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงินทั้งสิ้น 583,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 อีกเดือนละ 4,900 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 2 และบริวารจะออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นที่ราชพัสดุในอันที่โจทก์ที่ 1 จะขึ้นทะเบียนไว้เพื่อปกครองดูแลรักษาแทนรัฐได้ หากแต่จำเลยที่ 1 ได้ซื้อมาโดยชอบด้วยกฎหมายจากบุคคลภายนอกตั้งแต่ปี 2525 ก่อนที่โจทก์ที่ 2 จะได้ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ประกาศของโจทก์ที่ 2 มิได้หมายถึงการยกเลิกกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดิน หากแต่มีผลเพียงว่าผู้ครอบครองที่ดินบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สามารถก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างได้ แต่ต้องยื่นแบบและขออนุญาตโจทก์ที่ 2 ก่อน และที่ดินของจำเลยที่ 1 ก็มิได้มีโบราณสถานใดที่โจทก์ที่ 2 ได้ขึ้นทะเบียนไว้อันจะอยู่ในความปกครองดูแลรักษาของโจทก์ที่ 2 หรือเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ เนื่องจากเหตุคดีนี้เกิดประมาณระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2530 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2531 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เกินกว่าหนึ่งปีแล้วนับแต่วันเกิดเหตุ หรือวันที่โจทก์ทั้งสองควรทราบถึงการละเมิด คดีของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 408-409/2539 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ที่ 2 ในคดีนี้ได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เป็นจำเลย ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2539 ที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โดยจำเลยที่ 1 เคยนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดและขอออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ขั้นตอนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของเจ้าพนักงานที่ดิน จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2525 เนื้อที่ 3 งานเศษ สภาพขณะซื้อมาเป็นที่ราบ ชาวบ้านใช้ที่ดินปลูกพืชไร่ประเภทถั่ว ภายหลังซื้อที่ดินพิพาทแล้วจำเลยที่ 1 ได้ยึดถือที่ดินโดยเจตนายึดถือเพื่อตน จำเลยที่ 1 จึงได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ปรับปรุงสภาพที่ดินและปลูกสร้างอาคารลงบนที่ดินที่ซื้อมาโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 2 มาทักท้วงหรือห้ามปราม สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงตกเป็นส่วนควบของที่ดิน จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปลูกร้างอาคารอยู่บนแนวกำแพงเมืองเชลียงโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนร้านอาหารเพราะอาคารร้านอาหารตกเป็นส่วนควบของที่ดินตามกฎหมายและไม่เคยมีป้ายประกาศของโจทก์ที่ 2 มาปักกำหนดหรือแจ้งให้ประชาชนทราบว่าที่ดินจำเลยที่ 1 ไม่ได้บุกรุกที่ดินของเขตโบราณสถานซึ่งย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้บุกรุกที่ดินของเขตโบราณสถานตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความเสียหาย การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2531 ซึ่งเป็นหลังวันที่จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดิน ย่อมไม่ผูกพันหรือมีผลย้อนหลังไปในขณะที่จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดิน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ที่ดินของจำเลยที่ 2 มิใช่ที่ราชพัสดุโดยจำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมายจากบุคคลภายนอกตั้งแต่ปี 2529 ก่อนที่โจทก์ที่ 2 จะประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2531 ประกาศดังกล่าวมิได้หมายถึงการยกเลิกกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองคงมีผลแต่เพียงว่าผู้ที่ครอบครองที่ดินบริเวณรอบอุทยานประวัติศาสตร์สามารถทำการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างได้โดยยื่นแบบและขออนุญาตจากโจทก์ที่ 2 ก่อน ที่ดินของจำเลยที่ 2 ไม่มีโบราณสถานที่โจทก์ที่ 2 ขึ้นทะเบียนไว้ดังที่โจทก์ที่ 2 กล่าวอ้างโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ไม่เคยบุกรุกบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย วังสำโรง ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ซื้อมาจากนางเนืองหรือเนื่อง คำแสน และนางอำนวย คำแสน ตั้งแต่ปี 2529 คดีอาญาหมายเลขคดีแดงเลขที่ 226-227/2534 ของศาลชั้นต้น ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยทั้งสองเข้าครอบครองที่ดินโดยซื้อมาจากเจ้าของเดิมไม่ปรากฏในคำพิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ฟ้องโจทก์ที่ 2 เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขที่ 408-409/2539 ของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะปกครองดูแลรักษาที่ดินพิพาท เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารร้านค้าขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 14 เมตร จำนวน 1 หลัง ทำที่ดินบริเวณอาคารร้านค้าอาหารดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเดิมและให้จำเลยที่ 1 กับพวกออกจากที่ดินดังกล่าวและให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนอาคารคอนกรีตจำนวน 9 หลัง ร่องน้ำ ถนน รั้วคอนกรีตสวนหย่อมและน้ำตกจำลอง ทำที่ดินบริเวณดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเดิมและให้จำเลยที่ 2 กับบริวารออกจากที่ดินดังกล่าว คำขอนอกจากนี้ให้ยก กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท
โจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีนี้เป็นคดีปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และศาลชั้นต้นได้ตีราคาที่ดินพิพาทตามคำสั่งของศาลฎีกาแล้ว ได้ความว่าที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยที่ 1 มีราคา 51,450 บาท ที่ดินส่วนของจำเลยที่ 2 มีราคา 572,295 บาท และมูลคดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสองแยกต่างหากจากกัน ดังนี้ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่เกินสองแสนบาท คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยทั้งสองได้บุกรุกเข้าไปในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยซึ่งเป็นโบราณสถานอันป็นทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ของโจทก์ที่ 2 และเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองขุดทำลายกำแพงเมืองเชลียงศรีสัชนาลัยก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างทับแนวกำแพงดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารและสิ่งก่อสร้างออกจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ราชพัสดุ จำเลยทั้งสองได้ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยชอบและได้ครอบครองทำประโยชน์จนได้สิทธครอบครองก่อนโจทก์ที่ 2 ประกาศกำหนดเชตที่ดินโบราณสถาน ขอให้ยกฟ้อง จึงเป็นกรณีที่พิพาทกันด้วยเรื่องการเป็นเจ้าของแห่งที่ดินพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสองผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่อยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ทั้งสอง แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทได้หรือไม่ แต่การที่จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวจะต้องฟังข้อเท็จจริงให้ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นโบราณสถานอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่อยู่ในความครอบครองดูแลของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นที่ดินที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองอันเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีที่โจทก์ฟ้อง มิใช่นอกประเด็นดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา เช่นนี้ข้อเท็จจริงสำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่จำเลยที่ 1 เข้าปลูกสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เมื่อโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นส่วนราชการที่มีอำนาจครอบครองดูแลตามกฎหมายไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 อยู่ในที่ดินพิพาท จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ให้รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างและบังคับให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ครอบครองทำประโยชน์ก่อนโจทก์ที่ 2 จะประกาศให้เป็นที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และที่ดินพิพาทมิใช่ที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้น เห็นว่า จากข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองรับกันว่าพนักอัยการเคยฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีอาญาในข้อหาบุกรุกทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันเป็นโบราณสถานโดยมิชอบ ซึ่งศาลได้พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานทำลายโบราณสถานตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 32 วรรคแรก ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 226-227/2534 ของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน คดีถึงที่สุดแล้ว แม้คดีอาญาจะไม่มีประเด็นโดยตรงว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่จะนำมาใช้ยันจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ได้ แต่ในคดีดังกล่าวก็ฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำลายแนวกำแพงเมืองเชลียงศรีสัชนาลัยที่เป็นโบราณสถานแล้วเข้าปลูกสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างในแนวกำแพงเมืองดังกล่าว ทั้งโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 นำสืบรับกันว่าจำเลยที่ 2 เคยฟ้องโจทก์ที่ 2 เป็นคดีแพ่งตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 408-409/2539 ของศาลชั้นต้น จนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าประกาศของโจทก์ที่ 2 ในการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนสิ่งก่อสร้างชอบด้วยกฎหมายตามเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าบริเวณที่ดินพิพาทมีโบราณสถานอยู่จริง เช่นนี้ข้อเท็จจริงในคดีอาญาและคดีแพ่งดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 2 ที่เป็นคู่ความในคดีฟังได้ว่าที่ดินพิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และโจทก์ทั้งสองยังนำสืบด้วยว่าที่ดินพิพาทได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุแล้วตามเอกสารหมาย จ.10 จำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าอาคารสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 อยู่ในที่ดินราชพัสดุตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2541 ดังนี้ที่ดินพาทส่วนของจำเลยที่ 2 จึงเป็นที่ดินราชพัสดุอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่อยู่ในความครอบครองดูแลของโจทก์ที่ 1 ประกอบกับโจทก์ทั้งสองมีนายสด แดงเอียด ที่เคยเป็นหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเบิกความว่า ที่ดินที่จำเลยทั้งสองถือครองทับแนวกำแพงเมืองเชลียงซึ่งเป็นโบราณสถานและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกและโจทก์ที่ 2 จะเข้าไปบูรณะแนวกำแพงเมืองเชลียงและบ่อน้ำโบราณให้กลับสู่สภาพเดิม ย่อมรับฟังได้แล้วว่าทางราชการได้สงวนที่ดินพาทไว้เพื่อประโยชน์ทางราชการ และการที่อธิบดีของโจทก์ที่ 2 เคยมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างอาคารและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท แสดงว่าทางราชการได้หวงกันไว้ตลอดมา ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ทางราชการสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304 (3) ต้องห้ามมิให้โอนเว้นแต่อาศัยอำนาจ แห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่ารับโอนมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและเข้าครอบครองที่ดินพิพาทก่อนโจทก์ที่ 2 ประกาศกำหนดให้เป็นเขตโบราณสถานก็ไม่ทำให้สภาพที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเปลี่ยนแปลงไป จำเลยที่ 2 ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้กับทางราชการได้ เมื่อที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 2 เข้าครอบครองเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและประกาศเป็นเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ย่อมอยู่ในความดูแลของโจทก์ที่ 2 และการขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุจึงเป็นทรัพย์สินของทางราชการที่อยู่ในความครอบครองดูแลของโจทก์ที่ 1 ด้วยโจทก์ทั้งสองมีอำนาจขับไล่จำเลยที่ 2 ให้รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างและให้จำเลยที่ 2 กับบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้ คดีมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 408-409/2539 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีดังกล่าวโจทก์ที่ 2 เป็นโจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองอาศัยมูลละเมิดที่จำเลยทั้งสองทำลายกำแพงเมืองเชลียงศรีสัชนาลัยเสียหายอันเป็นกรณีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการทำให้เสียทรัพย์ คดีถึงที่สุดแล้ว แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองให้รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างและให้จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทโดยอาศัยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิใช้สอยทรัพย์ที่พิพาท แม้จะฟ้องเรียกค่าเสียหายมาด้วยก็เป็นค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองเข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีอำนาจ เป็นกรณีอ้างว่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ ดังนี้ประเด็นคดีแรกและคดีนี้ย่อมแตกต่างกัน ประเด็นที่วินิจฉัยคดีทั้งสองมิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์ทั้งสองไม่เป็นฟ้องซ้ำ……
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท นั้น เห็นว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งให้พิจารณารวมกันแต่จำเลยทั้งสองก็ต้องแยกกันรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในแต่ละสำนวนต่างหากจากกัน จึงสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในสำนวนแรกแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 1,800 บาท ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในสำนวนที่ 2 แทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท บาท

Share