คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1755/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 กับ ม. เป็นโจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 1 ม. และ ป. แต่ จ. ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์ที่ 1 และ ม. ได้ไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของ จ. โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าได้มาโดยการรับมรดกจากบิดามารดา เมื่อ จ. ถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ได้โอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองและให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท หากเพิกถอนไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งสองและเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของ จ. โดย ป. ยกให้ ต่อมา จ. ขายให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนเนื่องจากจำเลยที่ 2 ชำระราคาไม่ครบถ้วน หลังจาก จ. ถึงแก่ความตายจำเลยที่ 2 ได้ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของ จ. โดย ป. ยกให้ เมื่อ จ. ถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทตกได้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาท จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ คดีถึงที่สุดแล้วผลของคำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความคือโจทก์ที่ 1 และ ม. รวมทั้งโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของ ม. ในฐานะทายาทโดยธรรมมิให้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกับจำเลยทั้งสองอีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเป็นคดีนี้อีกก็เพื่อต้องการให้พิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาทกันอีกครั้งหนึ่ง ถือว่าเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้ำตามมาตรา 148 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 นางไมล์ ชะวูรัมย์ และนายเจียม ประกิจรมย์ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันโดยเป็นบุตรของนายปราง ประกิจรัมย์ กับนางโฮมหรือโอม ประกิจรัมย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 424 เนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ เมื่อนายปรางถึงแก่ความตายที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกตกได้แก่ทายาท ต่อมาปี 2515 โจทก์ที่ 1 กับนางไมล์มอบหมายให้นายเจียมนำที่ดินดังกล่าวไปขอออกโฉนดที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3534 ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชื่อนายเจียมแทนโจทก์ที่ 1 และนางไมล์ แต่เมื่อนายเจียมถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรและเป็นผู้จัดการมรดกของนายเจียมได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมิชอบ จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ที่ 1 และนางไมล์ และเมื่อนางไมล์ถึงแก่ความตายที่ดินส่วนของนางไมล์ย่อมตกได้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตร ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3534 ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ให้แก่โจทก์ที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 3 งาน และให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เนื้อที่ 6 ไร่ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การพ้นกำหนดระยะเวลา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 กับนางไมล์ ชะวูรัมย์ เคยฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับคดีนี้ ดคีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและให้ขับไล่โจทก์ที่ 1 และนางไมล์กับบริวารคือโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ออกจากที่ดินพิพาทตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2592/2540 ของศาลชั้นต้น ฟ้องโจทก์ทั้งสี่จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินแก่โจทก์ทั้งสี่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสี่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2592/2540 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2592/2540 ของศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 1 กับนางไมล์ ชะวูรัมย์เป็นโจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 1 นางไมล์ และนายปราง ประกิจรัมย์ แต่นายเจียม ประกิจรัมย์ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์ที่ 1 และนางไมล์ได้ไปขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทเป็นชื่อของนายเจียมโดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าได้ที่ดินพิพาทมาโดยการรับมรดกจากบิดามารดา เมื่อนายเจียมถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายเจียมได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองและให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท หากเพิกถอนไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งสองและเพิกถอนนิติกรรมการโอนการที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนายเจียมโดยนายปรางยกให้ ต่อมานายเจียมขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนเนื่องจากจำเลยที่ 2 ชำระราคาไม่ครบถ้วนหลังจากนายเจียมถึงแก่ความตายจำเลยที่ 2 ได้ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทห้ามเกี่ยวข้อง คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายเจียมโดยนายปรางยกให้ เมื่อนายเจียมถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทตกได้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาท จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความคือโจทก์ที่ 1 และนางไมล์รวมทั้งโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิของนางไมล์ในฐานะทายาทโดยธรรมมิให้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกับจำเลยทั้งสองอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเป็นคดีนี้อีกแม้จะเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงเป็นว่านายเจียมเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับโจทก์ที่ 1 และนางไมล์โดยได้รับมรดกจากบิดามารดาและต่อมานายเจียมไปขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทเป็นชื่อของนายเจียมตามที่โจทก์ที่ 1 และนายไมล์มอบให้ เมื่อนายเจียมถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 บุตรของนายเจียมได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมิชอบจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์ที่ 1 และนางไมล์ก็ตาม แต่จุดประสงค์ในการฟ้องก็เพื่อต้องการให้พิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาทกันอีกครั้งหนึ่ง เท่ากับเป็นการโต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ซึ่งศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ถือว่าเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์ทั้งสี่จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2592/2540 ของศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share