แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์แทนการขายทอดตลาดที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์จำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 ในระหว่างการไต่สวน จำเลยขอเลื่อนคดีหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายศาลชั้นต้นเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยส่อแสดงว่าจะประวิงการบังคับคดี จึงไม่อนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนต่อไปอีก และมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเท่ากับศาลชั้นต้นได้พิจารณาในเนื้อหาของคำร้องแล้วว่าไม่มีเหตุที่จะอนุญาตตามคำร้องของจำเลยคำสั่งของศาลชั้นต้นตามมาตรานี้จำเลยย่อมอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งหรือคำพิพากษาอย่างใดแล้ว คำสั่งหรือคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 วรรคสองซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542มาตรา 14
ศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 219163 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการประกอบกิจการและมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ชั่วคราว
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 ครั้นถึงวันนัดไต่สวนพยานจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2541 ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี โดยอ้างว่าทนายจำเลยที่ 2 ต้องเดินทางไปฌาปนกิจยายที่จังหวัดสงขลาศาลชั้นต้นเห็นว่า ศาลนัดไต่สวนคำร้องมาตั้งแต่วันที่ 17ธันวาคม 2540 จนกระทั่งบัดนี้ จำเลยที่ 2 ก็ยังมิได้นำพยานเข้าไต่สวนแต่อย่างใด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ส่อแสดงว่าจะประวิงการบังคับคดีจึงไม่อนุญาตให้เลื่อนการไต่สวน และมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไป
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์แทนการขายทอดตลาดที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์จำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 307 ในระหว่างการไต่สวนคำร้องดังกล่าว จำเลยที่ 2 ขอเลื่อนคดีหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายศาลชั้นต้นเห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2ส่อแสดงว่าจะประวิงการบังคับคดีจึงไม่อนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนต่อไปอีกและมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเท่ากับศาลชั้นต้นได้พิจารณาในเนื้อหาของคำร้องแล้วว่าไม่มีเหตุที่จะอนุญาตตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นตามมาตรานี้จำเลยที่ 2 ย่อมอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ และเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งหรือคำพิพากษาอย่างใดแล้ว คำสั่งหรือคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 วรรคสองซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542 มาตรา 14 จำเลยที่ 2ย่อมไม่อาจฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไปได้ ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 มาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและค่าทนายความในชั้นฎีกาให้เป็นพับ