แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยทั้งโจทก์และจำเลยต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาต่อกัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประพฤติผิดสัญญาอีกฝ่ายย่อมมีสิทธิงดเว้นหรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ เมื่อโจทก์ไม่เคยชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินให้แก่จำเลยนับแต่ทำสัญญาเป็นต้นมา การที่จำเลยยอมทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ไปดำเนินการรวมโฉนดและแบ่งแยกที่ดินนั้นถือว่าเป็นการผ่อนผันให้โจทก์ติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเบื้องต้น แต่ที่ไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 8 ฉบับ ไปด้วยก็สืบเนื่องจากโจทก์ผิดนัดชำระดอกเบี้ยแก่จำเลยตามสัญญา กรณีจะฟังว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหาได้ไม่
การที่จำเลยฟ้องโจทก์เพื่อให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง โจทก์จำเลยได้ตกลงขอให้ศาลจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า โจทก์ชำระเงินกู้ 14,000,000 บาท แก่จำเลย แต่แล้วโจทก์เพิกเฉยเป็นเหตุให้จำเลยขอศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินที่จำนองทั้ง 8 แปลง ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ให้เห็นว่า โจทก์เองเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญามาแต่แรก การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและประวิงคดีที่จำเลยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองให้ล่าช้าออกไปนั้นเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 107,566,355 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 107,566,355 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาข้อตกลงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ซื้อที่ดินทั้ง 8 แปลง จากเจ้าของเดิมแล้วในวันเดียวกันก็นำที่ดินดังกล่าวจดทะเบียนจำนองเป็นประกันเงินกู้ไว้แก่จำเลยในราคาที่ใกล้เคียงกับที่ซื้อที่ดินมา ที่ดินทั้ง 8 แปลง เนื้อที่ติดต่อกันรวมแล้วเนื้อที่ 147 ไร่เศษ นับว่าเป็นที่ดินแปลงใหญ่ โจทก์คงไม่ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ก่อให้เกิดรายได้แน่นอนการกู้เงินจำนวนมากในราคาที่ใกล้เคียงกับที่ดินซื้อมา ย่อมเป็นการลงทุนในเบื้องต้น โจทก์ต้องหาช่องทางพัฒนาที่ดินให้เกิดรายได้โดยเร็ว การที่โจทก์จัดทำแผนผังลักษณะแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อย ๆ แล้วเสนอขายพร้อมประชาสัมพันธ์ให้บุคคลผู้สนใจเข้าติดต่อรับจองเลือกซื้อที่ดินตามแปลงย่อยที่จัดแสดงไว้ มีผู้สนใจถึง 63 ราย นับว่าโจทก์มีความประสงค์แต่แรกที่จะรวมโฉนดและแบ่งแยกที่ดินทั้ง 8 แปลง เป็นแปลงย่อย ๆ เพื่อจัดสรรขายให้แก่ผู้สนใจจึงรีบดำเนินการประชาสัมพันธ์จัดทำรูปแบบแผนผังและปรับปรุงที่ดินให้อยู่ในสภาพที่ดูสวยงาม ทั้งนี้จำเลยผู้รับจำนองย่อมทราบดีเช่นกันว่า โจทก์ต้องการนำที่ดินทั้ง 8 แปลง ที่ตนเองรับจำนองนั้นไปจัดสรรแบ่งเป็นแปลงย่อยแล้วขายให้แก่บุคคลทั่วไป จำเลยจะปฏิเสธอ้างว่าไม่ทราบการดำเนินการหรือไม่มีส่วนรู้เห็นยินยอมหาได้ไม่ แต่ตามสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาจำนองมีข้อตกลงไว้ชัดเจนว่า โจทก์ยินยอมให้จำเลยเป็นฝ่ายยึดถือโฉนดที่ดินจำนองทั้ง 8 ฉบับ และโจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่จำเลยทุกเดือน การที่โจทก์เข้าทำการปรับปรุงสภาพที่ดินโดยจัดแบ่งเป็นแปลงย่อยชัดเจนเพื่อให้ผู้สนใจเข้าชมและเลือกซื้อรับจองนั้น ต้องใช้เวลาปรับปรุงและตกแต่งนานพอสมควร จำเลยทราบวัตถุประสงค์ของโจทก์จึงมิได้โต้แย้งคัดค้านพฤติการณ์รูปคดีชี้ให้เห็นว่า โจทก์กับจำเลยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับการมอบโฉนดที่ดินทั้ง 8 ฉบับ ไปให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดรวมโฉนดเป็นแปลงเดียวกันแล้วแบ่งแยกเป็นแปลงย่อย ๆ อันเป็นข้อกำหนดให้จำเลยต้องส่งมอบโฉนดที่ดินที่รับจำนองทั้ง 8 ฉบับ แก่โจทก์ไปดำเนินการ ขณะเดียวกันโจทก์เองในฐานะผู้จำนองย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองในเรื่องการชำระดอกเบี้ยและเงินกู้แก่จำเลย ข้อตกลงเช่นว่านี้เป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยทั้งโจทก์และจำเลยต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาต่อกัน ฉะนั้น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประพฤติผิดสัญญาอีกฝ่ายย่อมมีสิทธิงดเว้นหรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่นว่านี้ได้เช่นกัน ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เปิดโครงการจัดสรรที่ดินที่จำนองทั้ง 8 แปลง ให้แก่ผู้สนใจเข้าชมและรับจองโดยมีผู้เข้าทำสัญญาถึง63 ราย ชำระราคาบางส่วนทุกรายได้เงินเป็นจำนวนมาก แต่โจทก์ไม่เคยชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินให้แก่จำเลยนับแต่ทำสัญญาเป็นต้นมา การที่จำเลยยอมทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ไปดำเนินการรวมโฉนดและแบ่งแยกที่ดินนั้นถือว่าเป็นการผ่อนผันให้โจทก์ติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเบื้องต้น แต่ที่ไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 8 ฉบับ ไปด้วยนั้นก็สืบเนื่องจากโจทก์ผิดนัดชำระดอกเบี้ยแก่จำเลยตามสัญญานั้นเอง กรณีจะฟังว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหาได้ไม่โจทก์เองไม่ขวนขวายนำเงินดอกเบี้ยชำระแก่จำเลย เป็นเหตุให้จำเลยฟ้องโจทก์เพื่อให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง โจทก์จำเลยจึงได้ตกลงขอให้ศาลจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า โจทก์ชำระเงินกู้ 14,000,000 บาท แก่จำเลย แต่แล้วโจทก์เพิกเฉยเป็นเหตุให้จำเลยขอศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินที่จำนองทั้ง 8 แปลง ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ ให้เห็นว่า โจทก์เองเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญามาแต่แรก การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและประวิงคดีที่จำเลยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองให้ล่าช้าออกไปนั้นเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ