คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6558/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีความผิดอาญาซึ่งกระทำต่อนิติบุคคลนั้น ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลมีอำนาจร้องทุกข์แทนนิติบุคคลได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 และมาตรา 5 แต่ตาม ป.วิ.อ. ไม่ได้บัญญัติการมอบอำนาจให้ผู้แทนนิติบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาใช้เท่าที่พอจะใช้บังคับได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 15 และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 47 วรรคสาม บัญญัติเกี่ยวกับใบมอบอำนาจที่ได้ทำในต่างประเทศ ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศที่มีกงสุลสยามต้องให้กงสุลนั้นเป็นพยาน แต่ถ้าได้ทำในเมืองต่างประเทศที่ไม่มีกงสุลสยาม ต้องให้เจ้าพนักงานโนตารีปับลิกหรือแมยิสเตร็ดหรือบุคคลอื่น ซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสารเช่นว่านี้และต้องมีใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศแสดงว่าบุคคลที่เป็นพยานนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้ โดยไม่ปรากฏว่าผู้รับมอบอำนาจจะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น เมื่อหนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยได้ลงนามโดยมีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล และมีพยานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ลงลายมือชื่อไว้ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ผู้รับมอบอำนาจจากนิติบุคคลผู้เสียหาย ย่อมมีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้แจ้งความร้องทุกข์ได้
แม้ว่าภาพโปรแกรมไมโครซอฟท์มันนี่ ภาพโปรแกรมอโดเบ ไทป์เมเนเจอร์ โครงสร้างแฟ้มข้อมูลของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โครงสร้างแฟ้มข้อมูลเพื่อใช้ในทางติดตั้งสำเนาโปรแกรมลงบนสื่อบันทึกถาวรในเครื่องคอมพิวเตอร์ โครงสร้างแฟ้มข้อมูลของโปรแกรมคอมพิวเตอร์เมื่อติดตั้งบนสื่อบันทึกถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์เรียบร้อยแล้ว จะเป็นเอกสารที่ผู้เสียหายจัดทำขึ้นเอง และได้ทำขึ้นภายหลังจากที่มีการจับกุมจำเลยแล้วก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวไม่ใช่ของกลางในคดีอาญาหากแต่เป็นเอกสารที่ผู้เสียหายได้จัดทำขึ้นจากโปรแกรมของผู้เสียหายเพื่อพิสูจน์ว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวและแผ่นซีดีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อันเป็นวัตถุพยาน ซึ่งได้กระทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งมีอยู่แล้วเท่านั้น ดังนั้น เอกสารที่ผู้เสียหายทำขึ้นจึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้
ไมโครซอฟท์มันนี่ได้เริ่มจัดพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ.1991 แล้วพัฒนาเพิ่มเติมเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันมีไมโครซอฟท์มันนี่ 97, 98 แล้ว ซึ่งหลังจาก ค.ศ.1991 ได้มีโปรแกรมที่พัฒนาเพิ่มเติมเป็นการวางรากฐานส่วนใหญ่มาจากโปรแกรมแรก หรือแก้ไขเพิ่มเติมจากโครงสร้างโปรแกรมหลักให้แก่โปรแกรมปี 91 โปรแกรมที่จำเลยจำหน่ายเป็นโปรแกรมปี 95 แต่โปรแกรมที่โจทก์จัดพิมพ์เพื่อใช้เปรียบเทียบนั้นเป็นโปรแกรมปี 97 แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นงานสร้างสรรค์ และมีการพัฒนาจากรากฐานเดิมไปเรื่อย ๆ โดยอาศัยโครงสร้างโปรแกรมหลักอันเดิม การที่โจทก์ฟ้องว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ไมโครซอฟท์มันนี่ 95 แต่นำโปรแกรมปี 97 ซึ่งเป็นโปรแกรมที่พัฒนามาจากปี 95 มาแสดงต่อศาล เมื่อศาลได้ตรวจดูวัตถุพยานแล้วก็ปรากฏภาพโปรแกรมตรงกับเอกสารที่โจทก์จัดพิมพ์เปรียบเทียบ กรณีจึงมิใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง
ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) บัญญัติถึงกรณีผู้ที่กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ให้มีความหมายรวมถึงผู้ขาย มีไว้เพื่อขายเสนอขายไว้ด้วย เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ขายแผ่นซีดีของกลางให้แก่ผู้ซื้อ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อันจึงเป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537มาตรา 4, 5, 6, 8, 15, 30, 31, 61, 69, 75, 76และสั่งให้แผ่นซีดีของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และจ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31, 70 วรรคสอง ให้จำคุก 1 ปีปรับ 200,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29, 30 ให้แผ่นซีดีของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และจ่ายเงินค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเป็นประเด็นแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์อ้างว่า หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.7 นั้นทำขึ้นในต่างประเทศโดยไม่มีลายมือชื่อของนายประวิทย์ผู้รับมอบอำนาจปรากฏ เป็นการมอบอำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายประวิทย์ไม่มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้นายมนูญแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ การแจ้งความร้องทุกข์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ในกรณีความผิดอาญาซึ่งกระทำต่อนิติบุคคลนั้น ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลมีอำนาจร้องทุกข์แทนนิติบุคคลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 3 และมาตรา 5 แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติการมอบอำนาจให้ผู้แทนนิติบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้เท่าที่พอจะใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม บัญญัติเกี่ยวกับใบมอบอำนาจที่ได้ทำในต่างประเทศ ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศมีกงสุลสยามต้องให้กงสุลนั้นเป็นพยาน แต่ถ้าได้ทำในเมืองต่างประเทศที่ไม่มีกงสุลสยาม ต้องให้เจ้าพนักงานโนตารีปับลิกหรือแมยิสเตร็ดหรือบุคคลอื่น ซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสารเช่นว่านี้และต้องมีใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศ แสดงว่าบุคคลที่เป็นพยานนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้ โดยไม่ปรากฏว่าผู้รับมอบอำนาจจะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจแต่อย่างใดไม่ ดังนั้นเมื่อหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.7 ได้ลงนามโดยมีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลและมีพยานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ลงลายมือชื่อไว้ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายประวิทย์เป็นผู้รับมอบอำนาจจากนิติบุคคลผู้เสียหายโดยชอบย่อมมีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้นายมนูญแจ้งความร้องทุกข์ได้
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ต้องวินิจฉัยอีกว่า ภาพโปรแกรมไมโครซอฟท์มันนี่ ภาพโปรแกรม อโดเบ ไทป์เมเนเจอร์ โครงสร้างแฟ้มข้อมูลของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โครงสร้างแฟ้มข้อมูลเพื่อใช้ในทางติดตั้งสำเนาโปรแกรมลงบนสื่อบันทึกถาวรในเครื่องคอมพิวเตอร์ โครงสร้างแฟ้ม ข้อมูลของโปรแกรมคอมพิวเตอร์เมื่อติดตั้งบนสื่อบันทึกถาวรของเครื่องคอมพิวเตอร์เรียบร้อยแล้วตามเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.16 เป็นเอกสารที่นายประวิทย์จัดทำขึ้นเอง และได้ทำขึ้นภายหลังจากที่มีการจับกุมจำเลยแล้วเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่ของกลางในคดีอาญาตามที่ปรากฏในบัญชีของกลาง แต่เป็นเอกสารที่ผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหายได้จัดทำขึ้นจากโปรแกรมของผู้เสียหายเพื่อพิสูจน์ว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะเป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวและแผ่นซีดีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งได้กระทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่มีอยู่แล้ว ตามหลักฐานที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.10 เท่านั้น ดังนั้นเอกสารที่นายประวิทย์ทำขึ้นจึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า โจทก์บรรยายฟ้องตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 โดยระบุชื่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกละเมิดว่า ไมโครซอฟท์มันนี่ ฟอร์วินโดว์ส 95 แต่ในทางพิจารณาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่แสดงต่อศาลเป็นโปรแกรมปี 97 จึงเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า นายประวิทย์ พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านได้ความว่า ไมโครซอฟท์มันนี่ได้เริ่มจัดพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1991 แล้วพัฒนาเพิ่มเติมเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันมีไมโครซอฟท์มันนี่ 97, 98 แล้ว ซึ่งหลังจาก ค.ศ. 1991 ได้มีโปรแกรมที่พัฒนาเพิ่มเติมเป็นการวางรากฐานส่วนใหญ่มาจากโปรแกรมแรก หรือแก้ไขเพิ่มเติมจากโครงสร้างโปรแกรมหลักให้แก่โปรแกรมปี 91 โปรแกรมที่จำเลยจำหน่ายเป็นโปรแกรมปี 95 แต่โปรแกรมที่โจทก์จัดพิมพ์เพื่อใช้เปรียบเทียบนั้นเป็นโปรแกรมปี 97 จากคำให้การของพยานโจทก์แสดงให้เห็นว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นงานสร้างสรรค์และมีการพัฒนาจากรากฐานเดิมไปเรื่อย ๆ โดยอาศัยโครงสร้างโปรแกรมหลักอันเดิม การที่โจทก์ฟ้องว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ไมโครซอฟท์มันนี่ 95 แต่นำโปรแกรมปี 97 ซึ่งเป็นโปรแกรมที่พัฒนามาจากปี 95 มาแสดงต่อศาล เมื่อศาลฎีกาได้ตรวจดูวัตถุพยานหมาย จ.9 แล้วก็ปรากฏภาพโปรแกรมตรงกับเอกสารหมาย จ.10 และ จ.14 กรณีจึงมิใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องแต่อย่างใด
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยประเด็นสุดท้ายว่าจำเลยเป็นเพียงลูกจ้างขายสินค้าเท่านั้น มิได้มีส่วนรู้เห็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) บัญญัติถึงกรณีผู้ที่กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ให้มีความหมายรวมถึงผู้ขายมีไว้เพื่อขาย เสนอขายไว้ด้วย เมื่อปรากฏจากคำเบิกความของนางสาวดารกา พยานโจทก์ว่าพยานได้เป็นผู้เข้าไปขอซื้อแผ่นซีดีหมาย จ.9 จากจำเลยในร้านโอเอซีส ซอฟท์ ซึ่งจำเลยเป็นพนักงานขายของอยู่หน้าร้าน และจำเลยเป็นผู้ขายแผ่นซีดีของกลางให้แก่พยาน การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อันจึงเป็นความผิดตามกฎหมายแล้ว แต่สำหรับโทษปรับที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น เห็นว่าตามสภาพแห่งการกระทำความผิด จำเลยเป็นเพียงลูกจ้างและมีของกลางเพียงเล็กน้อย โทษที่ลงนั้นหนักเกินไป เห็นควรแก้โทษให้เหมาะสมแก่การกระทำความผิดของจำเลยด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยหนึ่งแสนบาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share