แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ขายติดต่อจำเลยที่ 2 ผ่านจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนประกอบกิจการในประเทศไทยของจำเลยที่ 2 ให้ขนส่งสินค้าไปยังเมือง Kotka ประเทศฟินแลนด์ โดยจำเลยที่ 1 ออกและลงชื่อในใบตราส่งฉบับแรกให้ ซึ่งใบตราส่งดังกล่าวระบุไว้ด้านขวาของหัวกระดาษว่า Combined Transport Bill of Lading อันเป็นใบตราส่งที่ใช้กับการขนส่งหลายรูปแบบ ระบุสถานที่รับสินค้าและสถานที่บรรทุกลงเรือคือ กรุงเทพมหานคร สถานที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือคือ เมืองโกเทนเบิร์ก ประเทศสวีเดน และสถานที่ส่งมอบสินค้าคือเมือง Kotka ประเทศฟินแลนด์ และได้ความว่าต้องขนส่งด้วยรถบรรทุกจากเมืองโกเทนเบิร์กเพื่อไปยังสถานที่ส่งมอบสินค้าดังกล่าว การขนส่งสินค้าดังกล่าวเป็นการขนส่งทางเรือและทางบกต่อเนื่องกันจนถึงปลายทางอันเป็นการทำสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตาม พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 7 และมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อสัญญาขนส่งสินค้าระหว่างผู้ขายกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ แม้ใบตราส่งฉบับหลัง จะเป็นใบตราส่งสำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเลก็เป็นเรื่องนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่มีผลกระทบถึงสัญญาขนส่งสินค้าระหว่างผู้ขายกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่อย่างใด
การจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบเป็นเพียงวิธีการควบคุมการประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบให้เป็นไป โดยมีประสิทธิภาพเท่านั้น การที่ไม่พบชื่อจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ขึ้นทะเบียนไว้ หาได้มีผลตามกฎหมายที่จะต้องถือว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลดังที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด คดีนี้จึงมีอายุความฟ้องร้อง 9 เดือน นับแต่วันที่ได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของตามนัย พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 38 วรรคแรก ประกอบมาตรา 37
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ใช้บริการของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำกับผู้ขาย และความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดจากการวางสินค้าไว้ในที่เปิดโล่งขณะที่เกิดฝนตกหนักในระหว่างการขนส่งช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนที่ผู้ขนส่งทางบกได้รับมอบสินค้าบรรทุกขึ้นรถที่เมืองโกเทนเบิร์ก เมื่อมีเพียงจำเลยที่ 3 เท่านั้นที่เป็นผู้ขนส่งในช่วงทางเรือจากกรุงเทพมหานครไปยังเมืองโกเทนเบิร์ก จึงฟังได้ว่าสินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 อย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมการที่จำเลยที่ 3 ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งยกอายุความ 9 เดือน ตาม พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 38 วรรคแรก ขึ้นต่อสู้ในคำให้การจะมีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้ร่วมคนอื่นด้วยหรือไม่นั้น เห็นว่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 ฝ่ายลูกหนี้จะต้องยกเรื่องอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้เมื่อถูกฝ่ายเจ้าหนี้ดำเนินคดีฟ้องร้องให้ชำระหนี้ ศาลจึงจะยกฟ้องในเหตุนี้ได้ แต่การยกอายุความขึ้นต่อสู้ของลูกหนี้นั้น แม้ตามปกติลูกหนี้ผู้นั้นซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีจะต้องยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ด้วยตนเองจึงจะถือว่ามีผลตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่ในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล เมื่อลูกหนี้หลายคนถูกฟ้องร้องให้รับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในลักษณะที่ลูกหนี้หลายคนเป็นลูกหนี้ร่วมและเป็นจำเลยร่วมกันนั้น ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) บัญญัติว่าในกรณีที่ลูกหนี้ร่วมหลายคนซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีถูกฟ้องเป็นจำเลยร่วมให้ชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ การที่ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งยกอายุความขึ้นต่อสู้จะมีผลเท่ากับว่าลูกหนี้ร่วมคนอื่นยกอายุความขึ้นต่อสู้ด้วย และเป็นกรณีที่ถือได้ว่าลูกหนี้ร่วมคนอื่นยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/29 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว การที่จำเลยที่ 3 ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงมีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมยกอายุความขึ้นต่อสู้ด้วย แม้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะขาดนัดยื่นคำให้การก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์จำนวน 327,180 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ 9 เดือน ตามมาตรา 38 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า ใน การขนส่งสินค้าพิพาทนั้น บริษัทโปรเพ็น จำกัด ผู้ขายได้ติดต่อจำเลยที่ 2 ผ่านจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนประกอบกิจการในประเทศไทยของจำเลยที่ 2 ให้ส่งสินค้าไปยังเมือง Kotka ประเทศฟินแลนด์ โดยจำเลยที่ 1 ได้ออกและลงชื่อในใบตราส่งให้ ซึ่งใบตราส่งดังกล่าวเป็นแบบพิมพ์ที่ระบุไว้ที่ด้านขวาของหัวกระดาษว่า Combined Transport Bill of Lading อันเป็นใบตราส่งที่ใช้กับการขนส่งหลายรูปแบบ โดยมีการระบุไว้ในใบตราส่งฉบับนี้ด้วยว่า สถานที่รับสินค้าและสถานที่บรรทุกลงเรือคือ กรุงเทพมหานคร สถานที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือคือ เมืองโกเทนเบิร์ก ประเทศสวีเดน และสถานที่ส่งมอบสินค้าคือเมือง Kotka ประเทศฟินแลนด์ และได้ความว่าจะต้องมีการขนส่งด้วยรถบรรทุกจากเมืองโกเทนเบิร์กเพื่อไปที่สถานที่ส่งมอบสินค้าดังกล่าว โดยต้องขนส่งผ่านเมือง Turku, Vantaa และ Valko จนถึงเมือง Kotka ดังกล่าว นอกจากนี้สัญญาประกันภัย Commercial Invoice และ Packing List ก็ระบุเมือง Kotka เป็นสถานที่ปลายทางสำหรับการขนส่งในความรับผิดชอบของจำเลยทั้งสี่ และได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ในการขนส่งทางเรือ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเรือของตนเอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงติดต่อให้จำเลยที่ 3 ในฐานะตัวแทนประกอบกิจการในประเทศไทยของจำเลยที่ 4 ให้ขนส่งสินค้าพิพาทให้ ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ออกใบตราส่งให้โดยจำเลยที่ 3 ได้ลงชื่อไว้ในใบตราส่ง ดังนี้ ตามพระราชบัญญติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 ให้ความหมายการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบไว้ว่า หมายความว่า การรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไป ภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว โดยขนส่งจากสถานที่ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่ส่งมอบของในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งตามมาตรา 7 บัญญัติว่า สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบคือ สัญญาซึ่งผู้ตราส่งตกลงให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องดำเนินการหรือจัดให้มีการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและผู้ตราส่งตกลงที่จะชำระค่าระวางให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง และตามมาตรา 10 วรรคแรก บัญญัติว่า ในการทำสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องจะต้องออกใบตราส่งต่อเนื่องให้แก่ผู้ตราส่งเมื่อได้รับมอบของ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติดังกล่าวข้างต้นฟังได้ว่า บริษัทโปรเพ็น จำกัด ผู้ขายได้ตกลงกับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ขนส่งสินค้าพิพาทไปยังเมือง Kotka ประเทศฟินแลนด์ โดยการขนส่งสินค้าดังกล่าวเป็นการขนส่งทางเรือและทางบกต่อเนื่องกันจนถึงปลายทางอันเป็นการทำสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 แล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าใบตราส่งสินค้าของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ใช่ใบตราส่งสำหรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบแต่อย่างใด แต่เป็นใบตราส่งสำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเล จึงต้องอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 นั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาขนส่งสินค้าระหว่างผู้ขายกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว แม้ใบตราส่งจะเป็นใบตราส่งสำหรับการขนส่งสินค้าทางทะเล ก็เป็นเรื่องนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่มีผลกระทบถึงสัญญาขนส่งสินค้าระหว่างผู้ขายกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่อย่างใด ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. 2548 มีการบังคับให้ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจดทะเบียนด้วย แต่ไม่พบชื่อจำเลยทั้งสี่ขึ้นทะเบียนไว้เป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลนั้น เห็นว่า การจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องเป็นเพียงวิธีการควบคุมการประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพเท่านั้น การที่ไม่พบชื่อจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ขึ้นทะเบียนไว้ว่าเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง หาได้มีผลตามกฎหมายที่จะต้องถือว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลดังที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด คดีนี้จึงมีอายุความฟ้องร้อง 9 เดือน นับแต่วันที่ได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของตามนัยแห่งมาตรา 38 วรรคแรก ประกอบมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า คดีนี้จำเลยที่ 3 เท่านั้นที่ยกอายุความขึ้นต่อสู้ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ด้วย หากศาลฟังว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ 9 เดือน ตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 ก็ย่อมมีผลเฉพาะจำเลยที่ 3 เท่านั้น การที่ศาลวินิจฉัยว่ากรณีมีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย จึงเป็นการไม่ชอบนั้น พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ใช้บริการของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำกับ บริษัทโปรเพ็น จำกัด ผู้ขาย และความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดจากการวางสินค้าไว้ในที่เปิดโล่งขณะที่เกิดฝนตกหนักในระหว่างการขนส่งช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนที่ผู้ขนส่งทางบกได้รับมอบสินค้าบรรทุกขึ้นรถที่เมืองโกเทนเบิร์ก ประเทศสวีเดน เมื่อมีเพียงจำเลยที่ 3 เท่านั้นที่เป็นผู้ขนส่งในช่วงทางเรือจากกรุงเทพมหานครไปยังเมืองโกเทนเบิร์ก ประเทศสวีเดน จึงฟังได้ว่าสินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 อย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 301 ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม การที่จำเลยที่ 3 ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งยกอายุความ 9 เดือน ตามพระราชบัญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 38 วรรคแรก ขึ้นต่อสู้ในคำให้การจะมีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้ร่วมคนอื่นด้วยหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29 บัญญัติว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ บทบัญญัตินี้แสดงว่า ฝ่ายลูกหนี้จะต้องยกเรื่องอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้เมื่อถูกฝ่ายเจ้าหนี้ดำเนินคดีฟ้องร้องให้ชำระหนี้ ศาลจึงจะยกขึ้นฟ้องในเหตุนี้ได้ แต่การยกอายุความขึ้นต่อสู้ของลูกหนี้นั้น แม้ตามปกติลูกหนี้ผู้นั้นจะต้องยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ด้วยตนเองจึงจะถือว่ามีผลตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่ในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล เมื่อลูกหนี้หลายคนถูกฟ้องร้องให้รับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในลักษณะที่ลูกหนี้หลายคนเป็นลูกหนี้ร่วมและเป็นจำเลยร่วมกันนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) บัญญัติว่า “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปอาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ดั่งนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้ (1) บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้น ให้ถือว่าได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ …” ตามบทกฎหมายนี้หมายความว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ร่วมหลายคนซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยร่วมให้ชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ การที่ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งยกอายุความขึ้นต่อสู้จะมีผลเท่ากับว่าลูกหนี้ร่วมคนอื่นยกอายุความขึ้นต่อสู้ด้วย และเป็นกรณีที่ถือได้ว่าลูกหนี้ร่วมคนอื่นยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว การที่จำเลยที่ 3 ลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงมีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมยกอายุความขึ้นต่อสู้ด้วย แม้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะขาดนัดยื่นคำให้การก็ตาม คดีย่อมมีประเด็นว่าฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดอายุความ 9 เดือน ตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 38 วรรคแรก หรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าคดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดอายุความ 9 เดือน ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ