คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13665/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและเป็นผู้สืบสันดานของ ร. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 โจทก์ทั้งสองย่อมเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของ ร. เมื่อจำเลยไม่โต้เถียงว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ร. เพียงแต่ต่อสู้ว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท เนื่องจากโจทก์ทั้งสองได้รับทรัพย์มรดกอื่นของ ร. ไปแล้ว อันเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้เป็นทายาทของ ร. ต่างตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกด้วยการเข้าครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัด ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ภาระการพิสูจน์ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับทรัพย์มรดกอื่นของ ร. จนเป็นที่พอใจของโจทก์ทั้งสองย่อมตกอยู่แก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 721 ตำบลวังไชย อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และโฉนดที่ดินเลขที่ 21726 ตำบลวังไชย อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ให้กลับมาเป็นทรัพย์มรดกของนายรัง เพิกถอนพินัยกรรมที่นายคำตันยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย เพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายคำตัน เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายคำตันกับจำเลยเอง ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยเข้ารบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองกับนายสุพจน์และนายคำตันเป็นบุตรของนายรังกับนางทัน ซึ่งอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่นายรังอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรทุกคน โจทก์ทั้งสองจึงเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและเป็นผู้สืบสันดานของนายรังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 โจทก์ทั้งสองย่อมเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของนายรัง เมื่อจำเลยไม่โต้เถียงว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนางรัง เพียงแต่ต่อสู้ว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท เนื่องจากโจทก์ทั้งสองได้รับทรัพย์มรดกอื่นของนายรังไปแล้ว อันเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้เป็นทายาทของนายรังต่างตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกด้วยการเข้าครอบครองทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัด ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท…” ภาระการพิสูจน์ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับทรัพย์มรดกอื่นของนายรังจนเป็นที่พอใจของโจทก์ทั้งสองแล้วย่อมตกอยู่แก่จำเลย หาใช่ตกอยู่กับโจทก์ทั้งสองตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งให้โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายนำพยานเข้าสืบก่อนก็ตาม เมื่อไม่เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบในการดำเนินคดี ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยคดีไปอย่างที่จำเลยมีภาระการพิสูจน์ ข้อเท็จจริงได้ความจากจำเลยว่านายรังปู่ของจำเลยซึ่งเป็นบิดาของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตายตั้งแต่จำเลยยังไม่เกิด ดังนั้น ที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสองต่างได้รับทรัพย์มรดกของนายรังไปแล้ว โดยโจทก์ที่ 1 ได้โคและกระบือ ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้ที่ดินทางด้านทิศใต้ที่ดินของนายจันทร์เรือง ซึ่งเป็นน้องชายของโจทก์ทั้งสองล้วนแต่ได้รับการบอกเล่ามาจากนายคำตันบิดาของจำเลยทั้งสิ้นแต่เมื่อพิเคราะห์ว่าหลังจากที่นายรังถึงแก่ความตายแล้วบุตรของนายรังหลายคนต่างรังวัดแบ่งแยกที่ดินของนายรังแล้วเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด ดังจะเห็นได้ว่านายสุพจน์ ได้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 722 ตำบลวังไชย อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 45 ตารางวา นายมานิจ ได้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 720 ตำบลวังไชย อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา ส่วนนายคำตันบิดาของจำเลยได้ที่ดินพิพาทอันเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 721 ตำบลวังไชย อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เนื้อที่ 50 ไร่ ทั้งยังปรากฏว่าทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่นายสุพจน์กับนายมานิจตั้งแต่ปี 2516 และออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่นายคำตันเมื่อปี 2518 แม้นายคำตันจะได้ที่ดินมีเนื้อที่มากกว่าทายาทอื่นของนายรังก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองกับทายาทอื่นของนายรังต่างไม่โต้แย้งคัดค้าน ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อนายคำตันจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด รวมสองครั้ง คือเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2525 และวันที่ 26 สิงหาคม 2528 เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ โจทก์ทั้งสองก็ไม่ท้วงติงแต่ประการใด พฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสองผิดวิสัยของผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่ปล่อยให้นายคำตันจำนองที่ดินพิพาทได้ตามอำเภอใจ นอกจากนี้ที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองกับนายสุพจน์และจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาท ก็ปรากฏว่าเมื่อปี 2537 นายสุพจน์กับนางชารีภริยาของนายสุพจน์เคยยื่นฟ้องจำเลยกับนางบัวลม ภริยาอีกคนหนึ่งของนายรังขอให้โอนที่ดินพิพาทให้แก่นายสุพจน์กับนางชารี โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2529 นายคำตันตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่นายสุพจน์กับนางชารีในราคาสองแสนบาท โดยนายสุพจน์ไม่ได้อ้างเลยว่าตนเองกับโจทก์ทั้งสองและนายคำตันมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาท ตรงกันข้ามนายสุพจน์กลับบรรยายฟ้องว่าจำเลยกับนางบัวลมมีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่นายสุพจน์กับนางชารี เนื่องจากนายสุพจน์กับนางชารีชำระราคาที่ดินให้แก่นายคำตันครบถ้วนแล้ว ใจความในคำฟ้องคดีดังกล่าวจึงขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้อย่างเห็นได้ชัด ใช่แต่เท่านั้นข้อเท็จจริงยังปรากฏจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2542 ว่า นางบัวลม กับนายสมพงษ์ ต่างทำสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ส่วนของตนในที่ดินพิพาทให้แก่นางสาวดวงตาวัน ในราคารายละห้าแสนบาท โจทก์ที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสองฉบับซึ่งขัดแย้งกับข้ออ้างของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้อยู่ในตัว เพราะหากที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองกับนายสุพจน์และจำเลยจริง เหตุใดโจทก์ที่ 1 จึงลงลายมือชื่อเป็นพยานยินยอมให้นางบัวลมกับนายสมพงษ์ขายที่ดินพิพาทได้ พฤติการณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างนางบัวลมและนายสมพงษ์กับนางสาวดวงตาวันบ่งชี้ให้เชื่อว่าบุตรทั้งสิบสองคนของนายรังได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นแล้ว โดยโจทก์ทั้งสองไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายรัง แต่เป็นที่ดินที่นายรังยกให้แก่นายคำตันในขณะที่นายรังยังมีชีวิตอยู่เป็นการวินิจฉัยเกินเลยไปจากประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การ ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง และมาตรา 246 ศาลฎีกาไม่จำต้องถือตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองกับนายสุพจน์และจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาท แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมแบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองขอให้พิพากษาให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของโจทก์ทั้งสองอันเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่โจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะเอาที่ดินพิพาททั้งแปลง คงต้องการเฉพาะส่วนแบ่งของตนคนละหนึ่งในสี่ส่วนเท่านั้น เมื่อที่ดินพิพาทมีราคา 2,339,390 บาท ทุนทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองจึงมีมูลค่าคนละ 584,847.50 บาท โจทก์ทั้งสองต้องเสียค่าขึ้นศาลคนละ 11,696.95 บาท แต่โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์รวมกันมาเป็นเงิน 46,988 บาท และเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีการวมกันมาเป็นเงิน 46,788 บาท โจทก์ทั้งสองจึงเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์เกินมา 23,594.10 บาท และเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเกินมา 23,394.10 บาท ต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่โจทก์ทั้งสองเสียเกินมาในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้แก่โจทก์ทั้งสอง
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ 23,549.10 บาท และในชั้นฎีกา 23,394.10 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share