คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1752/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉล ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 113 นั้น อายุความต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ซึ่งบัญญัติว่า “การเรียกร้องขอเพิกถอนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน ฯลฯ” ผู้ร้องรู้ถึงต้นเหตุเมื่อใดนั้น ต้องถือเอาคดีที่มีการขอให้เพิกถอนเป็นหลัก คือคดีนี้นั่นเอง โดยผู้ร้องสอบสวนลูกหนี้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2514 เป็นระยะเวลาเริ่มต้นแห่งอายุความ และยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2515 จึงไม่ขาดอายุความ
ลูกหนี้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ ว.โดยไม่สุจริต และเป็นทางให้เจ้าหนี้อื่นต้องเสียเปรียบ ต่อมา ว.นำทรัพย์สินดังกล่าวไปจำนองเป็นประกันหนี้ต่อธนาคารให้ ข. ดังนี้ ศาลชอบที่จะสั่งเพิกถอนการโอนระหว่างลูกหนี้และ ว.ได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 113 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 แต่ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องขอให้เรียกเงินจาก ข. ตามจำนวนที่ ว.จำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้เข้ามาในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้ล้มละลายนั้น เห็นว่ากรณีไม่กระทบกระเทือนถึงธนาคารที่ได้สิทธิจำนองไปโดยสุจริต จึงไม่มีเหตุที่จะเรียกร้องได้ เพราะเป็นเรื่องเกินขอบเขตของการเพิกถอนการฉ้อฉล อีกทั้งจะกลายเป็นว่าผู้ร้องได้เข้าสวมสิทธิบังคับจำเลยแทนธนาคารเจ้าหนี้โดยมิชอบ ทั้งราคาทรัพย์จำนองก็ท่วมหนี้จำนอง การเพิกถอนการโอนเป็นประโยชน์ทางทรัพย์สินแก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์อยู่แล้ว

ย่อยาว

คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ และพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๑๔
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายสุพรจำเลยผู้ล้มละลายร้องและแก้ไขคำร้องว่า ได้เข้าจัดการทรัพย์ของจำเลยเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๔ ทราบว่านายสุรพลจำเลยร่วมกับนางสาววรรณวิมล พนารมย์ ทำการฉ้อฉลเจ้าหนี้ โดยเพทุบายโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๗๙ พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างราคาประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาทของนายสุรพลจำเลยให้แก่นางสาววรรณวิมลเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อให้เจ้าหนี้เสียเปรียบและไม่ได้รับชำระหนี้ แล้วนางสาววรรณวิมลได้นำที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจำนองเป็นประกันหนี้นายซุดคุงหรือนิ้ม แซ่ลิ้ม ต่อธนาคารเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท เป็นการก่อหนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทำให้ทรัพย์ตกอยู่ในภาระจำนอง เสื่อมค่า และทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างระหว่างนายสุรพลจำเลยกับนางสาววรรณวิมล และให้เรียกเงินจากนายซุดคุงหรือนิ้มจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท เข้ามาในกองทรัพย์สินของจำเลย
นางสาววรรณวิมลและนายซุดคุงหรือนิ้มยื่นคำแก้ว่า นางสาววรรณวิมลรับโอนที่ดินไว้โดยสุจริต จดทะเบียนซื้อขาย ณ หอทะเบียนที่ดิน และชำระเงินครบถ้วน การจำนองที่ดินเป็นการประกันหนี้ของนายซุดคุงบิดา ซึ่งธนาคารเร่งรัดเอาหลักประกัน ผู้ร้องยื่นคำร้องซ้ำกับคำร้องอื่นและการโอนทรัพย์สินรายนี้ กระทำก่อนโจทก์ฟ้องคดีล้มละลาย ๓ ปี ผู้ร้องจะขอเพิกถอนการโอนไม่ได้ และคดีของผู้ร้องขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีของผู้ร้องขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๐ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น พิพากษายกคำร้อง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความ แต่การโอนที่ดินระหว่างนายสุรพลจำเลยและนางสาววรรณวิมลกระทำโดยสุจริต พิพากษายืนในผลแห่งคดี
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องฎีกา
ในปัญหาที่ว่า คดีของผู้ร้องขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๐ หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องร้องขอให้เพิกถอนการโอนนั้น เป็นการร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๓ ดังนั้นอายุความก็ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๐ ซึ่งบัญญัติว่า “การเรียกร้องขอเพิกถอนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน ผู้ร้องรู้ถึงต้นเหตุเมื่อใดนั้น ต้องถือเอาคดีที่มีการขอให้เพิกถอนเป็นหลัก คือคดีนี้นั่นเอง ผู้ร้องสอบสวนลูกหนี้เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๔ นับว่าเป็นระยะเวลาเริ่มต้นแห่งอายุความ ฉะนั้น คำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๑๕ จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนปัญหาที่ว่า การโอนทรัพย์สินของนายสุรพลจำเลยให้นางสาววรรณวิมลผู้คัดค้านเป็นการฉ้อฉลหรือไม่ วินิจฉัยว่า ไม่น่าเชื่อว่าจะชำระเงินกันจริงจัง การชำระราคาหาได้กระทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ดินไม่ ทั้งราคาซื้อขายที่ปรากฏในสัญญาก็ต่ำกว่าราคาแท้จริง น่าจะเป็นช่องทางให้ผู้ซื้อผู้ขายคบคิดกันลวงผู้อื่นก็ได้ ประกอบกับนายสุรพลจำเลยดำเนินกิจการตั้งโรงงานอัดปอขาดทุน พอถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ มีหนี้สินมาก ถึงกับต้องเอาโรงงานอัดปอตีใช้หนี้ธนาคารและเป็นหนี้ธนาคารอันอีก ๓๐๐,๐๐๐ บาท พฤติการณ์เช่นนี้จะเป็นที่รู้อยู่แก่ใจของนางสาววรรณวิมล เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่กระทบกระเทือนถึงฐานะของครอบครัวซึ่งตนเกี่ยวข้องอยู่เป็นอันมาก การโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๗๙ พร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว กระทำโดยไม่สุจริต ทั้ง ๆ ที่ต่างฝ่ายควรรู้เท่าถึงความจริงว่า จะเป็นทางให้เจ้าหนี้อื่นของนายสุรพลจำเลยต้องเสียเปรียบ เหตุนี้ ศาลชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนการโอนเสียได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๓ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๐
สำหรับข้อที่ผู้ร้องขอเรียกเงินจากนายซุดคุงจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท เข้ามาในกองทรัพย์สินของนายสุรพลจำเลยนั้น วินิจฉัยว่า นางสาววรรณวิมลได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๗๙ ไปจำนองเป็นประกันหนี้ให้นายซุดคุง กรณีดังนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงธนาคารที่ได้สิทธิจำนองไปโดยสุจริต ไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะเรียกร้องให้นายซุดคุงใช้เงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาทได้ เพราะเป็นเรื่องเกินขอบเขตของการเพิกถอนการฉ้อฉล อีกทั้งจะกลายเป็นว่าผู้ร้องได้เข้าสวมสิทธิบังคับเอาชำระหนี้แทนธนาคารเจ้าหนี้โดยมิชอบ อนึ่ง ราคาทรัพย์จำนองก็ท่วมหนี้จำนอง การเพิกถอนการโอน ย่อมเป็นประโยชน์ทางทรัพย์สินแก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์อยู่แล้ว
พิพากษาแก้ ให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๗๙ รวมทั้งสิ่งปลูกสร้าง คำขอนอกจากนี้ให้ยก.

Share