คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6246/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องโดยเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่งสิทธิของโจทก์ผู้รับประกันภัยจึงมีเท่ากับสิทธิของผู้เอาประกันที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลยทั้งสาม ตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องฟ้องจำเลยทั้งสามภายในกำหนด 1 ปี ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ก็ต้องฟ้องจำเลยทั้งสามภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวด้วย โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในมูลความแห่งคดีอันเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ แต่จำเลยที่ 2และที่ 3 ผู้เป็นคู่ความร่วมกันได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้การดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1) และแม้จำเลยที่ 1และที่ 2 มิได้อุทธรณ์ แต่เมื่อคดีของโจทก์ขาดอายุความศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ด้วย ตามมาตรา 245(1),247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4ว-3366 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนางภาวนา อาโน ในวงเงิน 540,000 บาทมีผลคุ้มครองนับตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2536 ถึงวันที่ 22 มีนาคม2537 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์โดยสาร และเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารหมายคันเกิดเหตุ และเป็นนายจ้างหรือตัวการผู้ออกคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างหรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ประกอบการขนส่งของรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุและจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 ยังรวมกันเป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการใช้รถยนต์โดยสารคันดังกล่าววิ่งรับจ้างบรรทุกคนโดยสารในเส้นทางที่จำเลยที่ 3 ได้รับสัมปทานวิ่งรบขนส่งผู้โดยสารจากรัฐบาลเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2536 เวลา 19.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุด้วยความประมาทเลินเล่อโดยขับมาด้วยความเร็วสูง ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน จึงพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย ทำให้โจทก์ต้องเสียค่าซ่อมเป็นเงิน 121,807 บาท โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยทั้งสาม โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระแล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 124,090 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 121,807 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 117,107 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 กันยายน 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดฐานละเมิด ซึ่งหากผู้เอาประกันภัยไว้แก่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเอง ก็ต้องฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่เอาประกันภัยรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880วรรคหนึ่ง สิทธิของโจทก์ผู้รับประกันภัยจึงมีเท่ากับสิทธิของผู้เอาประกันที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลยทั้งสาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 วรรคหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องฟ้องจำเลยทั้งสามภายในกำหนด 1 ปี ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวแล้ว โจทก์ก็ต้องฟ้องจำเลยทั้งสามภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์จากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกไพโรจน์ปัญจะประทีป พนักงานสอบสวนคดีอาญาว่า เหตุละเมิดรถยนต์ชนกันคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2536 วันนั้นพยานได้เปรียบเทียบปรับคนขับรถซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายหนึ่งในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย คู่กรณีได้เจรจาค่าเสียหายกันด้วย และแจ้งให้พยานทราบว่าตกลงกันได้ แสดงว่าผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันเกิดเหตุแล้ว ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ และเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดในมูลความแห่งคดีอันเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นคู่ความร่วมกันได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้การดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 1 ด้วย ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1) และแม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้อุทธรณ์ แต่เมื่อคดีของโจทก์ขาดอายุความ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1), 247
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share