คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์มี ป. มาเบิกความประกอบเอกสารซึ่งเป็นบิลส่งของชั่วคราวแสดงหลักฐานการรับมอบปุ๋ยของกลาง และตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 มีข้อความว่าจำเลยที่ 2 ได้ตรวจใบส่งของชั่วคราวแล้วรับว่าเป็นใบส่งของชั่วคราวของจำเลยที่ 1ส่งของให้กับ ว. จริง และยอมรับตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า พันตำรวจโท ฉ. ได้สอบคำให้การของจำเลยที่ 2ไว้ด้วย แม้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นพยานบอกเล่าแต่จำเลยที่ 2 ก็มิได้ปฏิเสธว่าลายมือชื่อที่ลงไว้ในช่องผู้ต้องหานั้นมิใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์แล้วก็รับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองได้ แม้จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 ก็มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมี มีปริมาณธาตุอาหารรับรองต่ำกว่าร้อยละสิบจากเกณฑ์ต่ำสุดตามที่ขึ้นทะเบียนไว้และที่ระบุในฉลาก อันเป็นปุ๋ยเคมีปลอมและจำเลยทั้งสองร่วมกันขายปุ๋ยเคมีดังกล่าวให้แก่ลูกค้าหลายรายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 มาตรา 30, 32, 62,63, 71, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 มาตรา 30 (ที่ถูก 30(1)), 62,63 วรรคหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานผลิตปุ๋ยเคมีปลอมให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน100,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้จำคุก 5 ปี ฐานขายปุ๋ยปลอมให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้จำคุก 3 ปีรวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 140,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 8 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยของกลางนั้นหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำมาพิจารณาวินิจฉัยลงโทษจำเลยทั้งสองต่างเป็นเพียงพยานบอกเล่านั้น เห็นว่า โจทก์มีนายประดิษฐ์มาเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเป็นบิลส่งของชั่วคราวแสดงหลักฐานการรับมอบปุ๋ยของกลาง และตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย จ.14 แผ่นที่ 2 มีข้อความว่าจำเลยที่ 2ได้ตรวจดูใบส่งของชั่วคราว เลขที่ 1428 (เอกสารหมาย จ.3)แล้วรับว่าเป็นใบส่งของชั่วคราวของบริษัทจำเลยที่ 1 ส่งของให้กับนายวิเชียรจริง และยอมรับตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2534 ว่า พันตำรวจโทเฉลิมได้สอบคำให้การของจำเลยที่ 2 ไว้ด้วย ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การยอมรับดังกล่าวมิใช่เป็นการยอมรับว่าเอกสารหมายจ.14 เป็นบันทึกที่ถูกต้องแท้จริงนั้น แม้เอกสารหมาย จ.14เป็นพยานบอกเล่าแต่จำเลยที่ 2 ก็มิได้ปฏิเสธว่าลายมือชื่อที่ลงไว้ในช่องผู้ต้องหานั้นมิใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับคำเบิกความของนายประดิษฐ์แล้วเชื่อว่า นายประดิษฐ์ไปรับปุ๋ยของกลางมาจากบริษัทจำเลยที่ 1 จริง ที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างในฎีกาว่าเรื่องนี้นายประดิษฐ์เบิกความแต่เพียงว่าไปรับปุ๋ยที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และสถานที่ที่รับปุ๋ยก็ไม่มีป้ายหรือหลักฐานอย่างใดที่แสดงว่าเป็นที่ตั้งหรือเป็นโรงงานของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่านายประดิษฐ์ เบิกความตอบคำถามค้านว่าเห็นป้ายชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ติดไว้ที่บริเวณปากทางแยกเข้าสถานที่ที่ไปรับปุ๋ย ป้ายชื่อติดห่างจากที่รับปุ๋ยประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ พยานโจทก์ปากนี้ไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 2 มาก่อน น่าเชื่อว่าเบิกความตามจริง การที่นายประดิษฐ์เบิกความว่า สถานที่รับปุ๋ยไม่มีป้ายชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ไม่ทำให้น่าสงสัยว่าจะเป็นคนละแห่งกับที่ตั้งของบริษัทจำเลยที่ 1หรือโรงงานผลิตปุ๋ยของจำเลยที่ 1 เมื่อมีผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ดังกล่าวจัดการให้ผู้ซื้อได้รับปุ๋ยตามจำนวนที่สั่งซื้อและออกเอกสารหมาย จ.3 ให้นายประดิษฐ์รับมอบไปและฟังได้ว่าเอกสารหมาย จ.3 ดังกล่าวเป็นของบริษัทจำเลยที่ 1 จริง ประกอบกับเอกสารหมาย จ.10 ที่พันตำรวจโทโกวิทย์ ศิลปสมบูรณ์ สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภออู่ทองส่งตัวจำเลยที่ 2 ให้กับสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองกี่ ก็ปรากฏข้อความว่าจำเลยที่ 2ต้องหาว่าขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2532 ซึ่งเป็นเวลาหลังเกิดเหตุคดีนี้แล้วเชื่อว่าในวันที่ 24 มิถุนายน 2532 บริษัทจำเลยที่ 1 ยังเปิดดำเนินกิจการอยู่จำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีแต่จำเลยที่ 2 เบิกความว่าไม่ได้ขายปุ๋ยให้กับผู้ซื้อที่จังหวัดบุรีรัมย์เป็นข้อนำสืบที่กล่าวอ้างขึ้นลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือ เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ดำเนินกิจการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นตามความหมายในพระราชบัญญัติปุ๋ยพ.ศ. 2518 มาตรา 71 จำเลยที่ 2 อ้างแต่เพียงว่ามอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินกิจการแทนเพราะตัวจำเลยที่ 2 รับราชการอยู่จังหวัดนครนายกนั้น ยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด และพิพากษาลงโทษมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share